ภาพน้ำท่วมย่านดอนเมือง 23 ตค.54 (ตอนที่ 1)
(บันทึกภาพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตค.54)
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตค. หลังออกจากปากเกร็ดก็ตั้งใจจะไปแถวๆรังสิต ซึ่งได้ยินข่าวว่าน้ำกำลังท่วมเขตดอนเมือง โดยเฉพาะแถวๆอนุสรณ์สถานธูปะเตมีย์ ที่อยู่ห่างจากคลองรังสิตไม่มากนัก ทำให้การจราจรติดขัดมาตั้งแต่เมื่อวาน
ี่เมื่อพื้นที่ใกล้คลองรังสิตถูกน้ำท่วม ก็น่าจะเป็นสิ่งบอกเหตุว่า มวลน้ำกำลังจะแผ่อาณาจักรเข้ามายังกรุงเทพแล้ว และจะลามไปถึงแยกหลักสี่ บางเขน รัชโยธิน รวมไปถึงแยกลาดพร้าวในที่สุด
วันนั้นหลังดูระดับน้ำที่ปากเกร็ดแล้วก็ให้ที่บ้านขับรถกลับเอง ส่วนผมกระโดดขึ้นรถเมล์เพื่อไปดูน้ำท่วมกันต่อที่รังสิต
แต่กระเป๋ารถเมล์คันที่นั่งบอกว่ารถจะไปไม่ถึงรังสิต อาจแค่ลำลูกกา เนื่องจากน้ำกำลังขึ้นและยังไม่ทราบว่าจะไปได้หรือไม่ หรือไปแค่ไหนก็แค่นั้น ขณะนั่งรถคนขับชี้ให้ดูน้ำข้างถนนว่า ขามายังแห้ง แต่ตอนนี้เริ่มเอ่อล้นเข้ามาบนผิวจราจรแล้ว
เมื่อไปถึงแถวหมู่บ้านแอนเน็กซ์ (น่าจะเป็นย่านสายไหม) รถหลายคันยูเทิร์นกลับรวมทั้งรถสองแถวคันที่นั่งมา เนื่องจากถนนข้างหน้าเห็นน้ำเจิ่งนอง แต่มีบางคันยอมเสี่ยง
ลงจากรถก็ต้องเดินต่อไปยังรังสิตที่ยังอยู่อีกไกล และจะต้องผ่านลำลูกกาที่เห็นสะพานข้ามทางแยกอยู่ข้างหน้า
เดินไปถ่ายรูป เดี๋ยวก็คงถึงรังสิต
แต่กว่าจะไปถึงรังสิตก็ต้องผ่านลำลูกกาและอนุสรณ์สถานเสียก่อน ส่วนแยกลำลูกกาขณะนี้ทราบว่าปิดการจราจรไปเรียบร้อยแล้ว ถึงไม่ปิดก็ไม่มีใครกล้าผ่าน
รถหลายคันที่มาจากทางลำลูกกาเพื่อมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพที่เห็นในภาพนี้ น่าจะเป็นชุดสุดท้าย ขณะเดินถ่ายภาพอยู่นั้นระดับน้ำก็กำลังสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ คนขับรถหลายคันเปิดกระจกถามว่า ข้างหน้าไปได้หรือไม่ ก็ตอบวายังไปได้ แต่ซอยต่างๆที่แยกจากถนนใหญ่คงไปไม่ได้แล้ว
ระหว่างนั้นรถบางคันเครื่องดับกลางถนน เจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณนั้นต้องรีบแก้ไข หรือต้องรีบเคลื่อนย้าย เพราะหากจอดทิ้งไว้นานๆน้ำอาจท่วมรถทั้งคัน เชื่อว่าหลายคนที่กำลังขับตามๆกันมาคงหายใจไม่ทั่วท้องว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และจะปลอดภัยหรือไม่
ขณะนั้นมีความรู้สึกว่าวิกฤติเรื่องน้ำกำลังมาเยือนย่านดอนเมืองในบริเวณลำลูกกาและสายไหม ช่วงเช้ารถยังพอเลี่ยงมาใช้เลนที่อยู่ชิดเกาะกลางถนน แต่ช่วงบ่ายนี้เริ่มมีปัญหา รถเล็กเริ่มหายไปจากถนน
เมื่อรถไม่สามารถไปถึงรังสิตได้ แต่ความตั้งใจยังมีอยู่ จึงเดินเลาะเกาะกลางถนนไปเรื่อยๆ กระทั่งมาถึงสะพานลอยข้ามแยก ตั้งใจว่าจะเดินบนสะพานซึ่งขณะนี้กลายเป็นที่จอดรถแต่อากาศร้อนมาก จึงหลบมาเดินข้างล่างแทน ระหว่างนั้นเห็นฝรั่งต่างชาติกลุ่มหนึ่งเป็นแก็งค์มอเตอร์ไซด์คันเล็ก เหมือนชวนกันมาดูน้ำท่วมกรุงเทพ นึกในใจว่าพวกนี้ช่างอยากรู้อยากเห็นกันจริงๆ อาจกลับไปเล่าให้เพื่อนฟังก็ได้ว่า โชคดีที่มาเที่ยวกรุงเทพในยามเกิดวิกฤติ
เมื่อลงมาเดินข้างล่างของสะพานข้ามแยกมีความรู้สึกว่าแถวนี้ค่อนข้างเงียบ ร้านค้าสองข้างทางปิดสนิท และคงจะปิดไปตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แม้แต่ผู้คนที่เดินตามฟุตบาทกรู้สึกว่าน้อยลงทุกขณะ แถวนี้ดูวังเวงพิกลทั้งที่แดดเปรี้ยง บรรยากาศแบบนี้คิดว่าคนแถวนี้คงไม่เคยเห็นมาก่อน
เดินผ่านมาถึงจุดกึ่งกลางของสะพานเห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังหารถไปรังสิต นึกดีใจที่มีเพื่อนร่วมเดินทางไปรังสิตด้วยกัน แต่คงต้องใช้วิธีโบกรถ
โชคดีที่มีรถโฟร์วิลคันหนึ่งจอดสอบถามเส้นทาง และเส้นทางที่ว่าจะต้องไปยูเทิร์นใต้ทางข้ามไปวิภาวดีหรือจุดตัดระหว่าง ถนนวิภาวดีกับพหลโยธินที่เห็นข้างหน้าโน้น จึงขออาศัยไปลงตรงหัวโค้ง จากจุดนั้นก็คงไม่ไกลจากรังสิต หรืออาจโบกรถต่อเป็นทอดๆ
ขณะอยู่บนท้ายกระบะรถโฟร์วิล เห็นน้ำเจิ่งนองไปหมด โดยเฉพาะถนนหน้าอนุสรณ์สถานดูจะลึกมากกว่าที่อื่นๆ ถนนที่นี่ไม่ต่างกับลำคลอง นึกแล้วก็น่ากลัวเหมือนกันว่าขณะนี้กรุงเทพถูกโอบล้อมไปด้วยน้ำ ไม่ต่างกับถูกข้าศึกล้อมเมือง
จากข่าวเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพที่ต่อเนื่องมาหลายวัน คนต่างจังหวัดอาจนึกสมน้ำหน้าคนเมืองกรุงว่า โดนซะบ้าง จะได้รู้สึก หรืออีกทีก็อาจคิดว่า " ดีแล้ว จะได้เสมอภาคกัน "
ความจริงน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่ไช่เป็นสิ่งเลวร้ายเสียทั้งหมด อย่างน้อยๆก็อาจทำให้คนเมืองหลวงมีสติขึ้นมาบ้าง อนาคตก็คงต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ ไม่ไช่ปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วมาแก้ไข
อุทกภัยปี 2554 ครั้งนี้ก็อาจทำให้หลายๆคนรู้จักกับคำว่า " การบริหารจัดการเรื่องน้ำ " รวมทั้งการจัดระบบของเขื่อน ประตูระบายน้ำ รวมไปถึงแม่น้ำคูคลองทั่วประเทศ คงมีการศึกษากันอย่างจริงจัง เพื่อให้การ่ปล่อยน้ำและกักเก็บน้ำมีการจัดการอย่างมีระบบ ไม่มีผลกระทบรุนแรงเหมือนที่กำลังเป็นอยู่
ระบบการไหลของน้ำไม่น่าจะต่างกับระบบการจราจร ที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการควบคุมสัณญาณทุกจุดทางแยก เพื่อให้ระบบการจราจรลื่นไหลไม่ติดขัด หรือหากติดขัดระบบคอมพิวเตอร์ก็มีวิธีแก้ไขด้วยตัวเอง
การจัดการเรื่องน้ำก็น่าจะมีระบบการจัดการที่ไม่แตกต่างกัน
เพียงแต่ว่าเรามีผู้รู้ และมีการนำระบบที่ทันสมัยมาใช้หรือไม่ เพราะจากฟังการให้สัมภาษณ์ของผู้ควบคุมประตูระบายน้ำ ที่เป็นประตูหลักแล้ว รู้สึกว่ายังบริหารจัดการแบบเดิมๆ โดยฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา และดำเนินการจากการสังเกตด้วยสายตา
เรื่องน้ำ คงไม่ไช่เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว
น้ำจากฟ้ามีกรมอุตนิยมวิทยาดูแล น้ำจากทะเลมีกรมอุทกศาสตร์ของกองทัพเรือ น้ำจากเขื่อนมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับผิดชอบ ประตูระบายน้ำเป็นของกรมชลประทาน หรือคันกั้นน้ำที่อยู่ในเขตเมือง ก็มีแต่ละจังหวัดรับผิดชอบ ส่วนประตูระบายน้ำใน กทม.ก็อยู่ในการดูแลของสำนักการระบายน้ำ สังกัดกรุงเทพมหานคร จะเห็นว่ามีมากมายหลายหน่วยงานที่พอจะนึกได้ในขณะนี้
หากเราให้หน่วยงานต่างๆเหล่านี้เชื่อมข้อมูลเข้าหากัน
ก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เรียกว่าทำเป็นขบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำที่มาจากฟ้าจนไปถึงทะเลซึ่งเป็นปลายทาง หากขบวนการตรงนี้มีการจัดการที่ดี ก็จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเบาบางไปได้
ขณะเดียวกันก็จะรู้ขีดจำกัดของคนเองว่าจะรับมือได้แค่ไหน อนาคตจะหาทางแก้ไขอย่างไร
แน่นอนว่าต้องใช้งบประมาณมากมาย แต่ในทางกลับกันความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เราก็สูญเสียไปไม่น้อย หรือใครคิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่ต้องจัดการกับปัญหาอย่างเป็นระบบที่ถูกต้อง
เรื่องการบริหารจัดการเรื่องน้ำที่เป็นระบบอาจเป็นความรู้ใหม่สำหรับคนไทย แต่คิดว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และเคยเกิดปัญหาเช่นเดียวกับเรา น่าจะไปไกลกว่าเรามาก และการจัดการที่ดีก็หนีไม่พ้นที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการประมวลผล
ข้อดีจากอุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้ อย่างน้อยก็อาจทำให้หลายคนฉุกคิดในเรื่องการทำลายป่า การบุกรุกป่า ซึ่งระยะหลังๆนี้ มีการรุกคืบผืนป่ากันอย่างบ้าคลั่ง ทั้งวังน้ำเขียว และแก่งกระจาน แทบจะหมดป่าอยู่แล้ว
การบุกรุกป่า อาจไม่ไช่สาเหตุโดยตรงของปัญหาครั้งนี้ แต่อาจช่วยทางด้านจิตสำนึก มันมีปัจจับอื่นๆอีกมากมายที่ต้องพิจารณา เช่นคนไทยไม่เข้าใจธรรมชาติ ไม่เข้าใจการแบ่งพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัย เรียกว่ามั่ว ไม่มีระบบ ไม่ศึกษาภูมิประเทศ นึกอยากจะทำอะไรตรงไหนก็ทำ
ตัวอย่างเช่นเราเอาที่นาซึ่งเป็นพื้นที่น้ำหลากและเป็นพื้นที่เพาะปลูกไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม ทำให้นิคมฯไปขวางทางน้ำ ผลก็เลยเป็นแบบที่เห็น พนังกั้นน้ำที่คิดว่าต้านไหวเอาอยู่ ที่สุดแล้วธรรมชาติก็เอาคืนหมด พังพินาศทุกแห่ง
ขณะนี้ผมเดินทางมาอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นจุดวิกฤติของดอนเมือง มีความรู้สึกที่แตกต่างจากการดูข่าวทางโทรทัศน์ เพราะบรรยากาศของจริงนี้มันน่าตื่นเต้นมากกว่าหลายเท่า รู้สึกได้ว่าศึกเรื่องน้ำครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก และนึกไม่ออกว่าจะจบลงอย่างไร ทุกอย่างชงักงันไปหมด
ถนนวิภาวดีที่เคยคึกคัก มีรถวิ่งกันให้ควักตลอด 24 ชั่วโมง แต่ขณะนี้มีแต่ความว่างเปล่า เงียบเหงาเดียวดาย ขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยความน่ากลัวว่าระดับน้ำจะสูงไปอีกแค่ไหน และชาวบ้านย่านนี้ที่มีหลายหมื่นครอบครัวจะอยู่กันอย่างไร โดยเฉพาะในย่านลำลูกกา ชุมชนขนาดใหญ่ที่มีบ้านจัดสรรมากมายอยู่ข้างในนั้น
ระดับน้ำที่เห็นอยู่นั้นก็กำลังเอ่อขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และจากนี้ไปก็อาจถึงเอวหรือหน้าอก
ถนนพหลโยธินรวมทั้งถนนวิภาวดี เวลานี้เหมือนเป็นคลองประปาที่ตรงดิ่ง กระแสน้ำกำลังผ่านถนนและกำลังมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพ ส่วนปลายทางของน้ำจะไปบรรจบกันที่แยกลาดพร้าวหรือไม่ก็คงตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าบริเวณนั้นเป็นที่ต่ำ
ในอดีตมีน้ำท่วมขังมาแล้วหลายครั้ง และน้ำยังลามมาถึงถนนหน้าห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวทางฝั่งพหลโยธิน หลายคนก็คงเคยถอดรองเท้าลุยน้ำมาแล้ว (รวมทั้งผมด้วย)
ข่าวจากโทรทัศน์คืนวันที่ 23 ตค.54 ได้ยินแล้วใจห่อเหี่ยว สถานการณ์ดูเหมือนจะเลวร้ายลงทุกขณะ ชนิดที่รัฐบาลและ ศปภ.เตรียมยกธงขาว ซึ่งหมายถึงยอมแพ้
และเป็นการยอมแพ้แบบเสียหายยับเยิน แรงกาย แรงใจ รวมทั้งงบประมาณที่ทุ่มจนสุดตัวเพื่อสร้างและเสริมพนังกั้นน้ำตามจุดต่างๆ รวมทั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมอีกหลายแห่ง จะเห็นว่าไม่มีจุดไหนเลยที่จะเอาชนะมวลน้ำมหาศาลครั้งนี้ได้
ไม่เขื่อนพังก็น้ำล้นกำแพงเป็นเช่นนี้มาตลอด ทั้งหมดที่ทำไปไม่ต่างกับคำว่า ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
วิกฤติการณ์ครั้งนี้คงไม่ต้องโทษใคร และไม่ต้องหาใครมาเป็นแพะ ต่อให้รัฐบาลเทวดาก็คงแก้ไม่ได้ เพราะเมืองไทยเราขาดการวางแผนรับมือมวลน้ำมหาศาลมาก่อน และขาดความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง และที่สำคัญเราขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ อาจเป็นความรู้ระดับสูงที่เรายังขาดบุคคลากรที่รู้เรื่องอย่างแท้จริง รวมทั้งยังขาดเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย
ไม่ต่างกับข้าศึกมีปืนเป็นอาวุธ แต่เรายังมีแค่หอกดาบไปต่อสู้ ที่สุดก็ได้แผลเหวะหวะปางตายแบบที่เห็น
สำหรับภาพน้ำท่วมดอนเมืองชุดแรกขอแค่นี้ก่อน ส่วนภาพชุดที่ 2 จะพานั่งเรือยางของทหารอากาศ ไปถึงคลองสอง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าคลองโชคชัย
พบกันในตอนที่ 2 ครับ
โฟโต้ออนทัวร์
26 ตุลาคม 2554 |