น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมนวนครปี 2554 ตอนที่ 1
(บันทึกภาพเมื่อวันที่ 17 ตค.54)
เมื่อวานนี้(จันทร์ที่ 17 ตค.54) หลังจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)ประกาศเตือนภัยให้อพยพผู้คนในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เขตคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากพนังกั้นน้ำพังได้ทะลายลงมา
ซึ่งเมื่อเย็นวานนี้( 16 ตค.54) เห็นนายทหารจากกองทัพบก และหลายต่อหลายคนออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจว่าควบคุมได้ ซึ่งงานนี้ถือว่าเป็นภารกิจของทหาร หรือเป็นพระเอกของงาน ขณะเดียวกันยังมีข่าวว่าได้ระดมทหารจากหน่วยต่างๆมาเสริมกำลังกันอย่างพร้อมสรรพ เป็นการสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น
เป็นอันว่าผู้คนในนวนครนอนหลับด้วยความสบายใจ
ที่ไหนได้พอถึงช่วงเที่ยงของวันรุ่งขึ้น มีข่าวด่วนแพร่สะพัดไปทุกสื่อว่า นวนครพังแล้ว แย่แล้ว พร้อมมีคำสั่งจาก ศปภ.ให้อพยพผู้คนโดยด่วน ระหว่างนั้นก็ระบุสถานที่อพยพให้ไปยัง ม.ธรรมศาสตร์ และวัดพระธรรมกาย พร้อมกับแจ้งว่าจะมีรถเมล์ ขสมก.พาไปส่งยังศูนย์อพยพ
ช่วงบ่ายๆจึงต้องออกไปนวนคร ไปให้เห็นกับตาว่าที่นั่นมันเป็นอย่างไรบ้าง เพราะน้ำท่วมคราวนี้ถือว่าเป็นศึกใหญ่หลวงนัก และกำลังประชิดกรุงเทพเข้ามาทุกขณะ จึงแนะนำว่าคนมีกล้องหรือชอบถ่ายภาพ น่าจะออกไปลุยน้ำบันทึกภาพเหตุการณ์ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งน้ำท่วมคราวนี้ถือเป็นครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยเลยทีเดียว
อีกอย่างหนึ่งการเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จะทำให้ทราบความจริงว่าแตกต่างจากข่าวที่ได้ยินได้ฟังกันแค่ไหน
ต้องเข้าใจว่าการรายงานข่าวของสื่อทุกแขนง มักจะจับประเด็นเด็ดมารายงาน พร้อมกับนำเสนอภาพและข่าวที่เห็นว่า เจ๋งสุด เด็ดสุด เพื่อรายงานต่อประชาชน ทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคข่าว ถูกชักนำให้เข้าใจแต่ด้านเดียว ซึ่งเป็นด้านที่รุนแรง โอกาสที่จะเข้าใจผิดจึงเป็นไปได้สูง
แน่นอนว่าทุกสื่อจะเหมือนๆกันหมด คือเสนอข่าวที่ทำให้ดูตื่นเต้น น่ากลัว
ข่าวจึงไม่ต่างกับสินค้าชนิดหนึ่งที่ถูกโปรโมทให้ผู้คนอยากซื้อ อยากเสพ และอยากบริโภคกันทุกวันๆ การรายงานข่าวทุกวันนี้จึงเป็นการผสมผสานปนเปในเรื่องของธุรกิจ กับวิชาชีพสื่อสารมวลชน ดูๆแล้วก็ไม่ต่างกับการขายสินค้าทั่วๆไป มีการแข่งขันกันสูงในอาชีพเดียวกัน ทุกค่ายจึงงัดกลยุทธมาใช้ทุกวิถีทาง เพื่อสร้างความโดดเด่นในการทำเสนอ ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านๆมาเรามักเห็นการแย่งชิงข่าว หรือแย่งชิงบุคคลในข่าวกันอย่างน่าเกลียด
เช่นเด็กญี่ปุ่นที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพิจิตร ถือรูปพ่อตนเองให้นักท่องเที่ยวดู เพื่อให้ช่วยตามหาพ่อซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น จากข่าวนี้ก็ถูกสื่อมวลชนและสื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามะรุมมะตุ้มจนโด่งดังไปทั้วประเทศ โทรทัศน์บางช่องเดินทางไปทำข่าวกันถึงพิจิตร ส่งรถถ่ายทอดสดที่มีจานดาวเทียมไปถึงที่ ไม่ต่างกับข่าวดังหรือข่าวบุคคลสำคัญของประเทศ แต่ทึ่สุดก็ทราบความจริงว่า พ่อของเด็กซึ่งเป็นหนุ่มเสเพลชาวญี่ปุ่นมาไข่ทิ้งไว้ที่เมืองไทย ไม่รู้เรื่องอีโหน่อีเหน่เรื่องลูกเรื่องเต้าอะไรเลย และไม่ได้เป็นเด็กพลัดหลงตามที่หลายคนเข้าใจ
พูดตรงๆก็คือชาวญี่ปุ่นรายนี้ซื้อบริการทางเพศกับหญิงไทย
การเดินทางของหนุ่มเสเพลชาวญี่ปุ่นที่จะมาเมืองไทย ทุกสิ่อต่างมุ่งหน้าไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ต่างกับเฝ้าคอยดาราดังระดับโลก เมื่อพ่อหนุ่มคนนี้มาถึงก็ถูกรุมถ่าย รุมสัมภาษณ์กันชนิดที่เจ้าตัวตกอกตกใจว่า เกิดอะไรกันนี้ พร้อมกับกล่าวสั้นๆว่า " ขอให้เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างพ่อกับลูก " จากนั้นก็พาลูกชายหนีนักข่าวออกไป
จบข่าว
ในทางกลับกัน น่าจะตามหาแม่ซึ่งเป็นคนไทยมากกว่าจะตามหาพ่อซึ่งอยู่ไกลถึงญี่ปุ่น เพราะแม่เด็กพอคลอดแล้วก็ทิ้งให้คนอื่นเลี้ยง และทราบมาว่าชาวญี่ปุ่นรายนี้ไม่ได้นำลูกกลับไปญี่ปุ่นแต่อย่างใด คงส่งเงินทองมาให้ป้าที่ดูแลเลี้ยงดูเท่านั้นเอง
เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายๆครั้ง เราก็เห็นๆกันอยู่ บางครั้งข่าวเล็กๆ แต่ถูกปลุกปั้นเสริมแต่งขึ้นจนดูน่ากลัว และทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิด
ยกตัวอย่างการกักตุนอาหาร การรีบกลับบ้านในวันที่นายปอดปะศพเตือนภัย และการแย่งที่จอดรถ
ผ่านมาถึงวันนี้กรุงเทพก็ยังเป็นปกติสุข ชาวบ้านยังดูละครน้ำเน่า และยังติดตามดูอีเม้ย ในเรื่องรอยไหมด้วยความสบายใจ โดยไม่ต้องมากังวลกับข่าวน้ำท่วมที่อาจทำให้เครียด
การตื่นข่าวสังเกตง่ายๆว่าในช่วงนี้หลายคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง คงถูกถามไถ่จากบรรดาญาติๆ หรือคนรู้จัก บางคนบอกว่ารับโทรศัพท์กันไม่หวาดไหว คนโน้นโทรมา คนนี้โทรมาสอบถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งๆที่ตามข่าวนั้นมันเดือดร้อนเฉพาะจุด มันไม่ได้หมายถึงทั้งอำเภอ หรือทั้งจังหวัด
แต่ข่าวจั่วหัวว่าอยู่เขตอำเภอโน้น จังหวัดนี้ ชาวบ้านเลยเข้าใจผิดว่าจังหวัดนี้แย่แน่เลย
วันก่อนไปถ่ายภาพเกาะเกร็ดที่ถูกน้ำท่วม
ปรากฏคนที่นั่นไม่เห็นมีใครวิตกทุกข์ร้อน เค้ารู้กันว่าทุกปีก็ต้องเป็นแบบนี้ พอถึงเดือนตุลาคมของทุกปีก็จะเตรียมตัวกัน โดยยกของขึ้นไปที่สูง ซึ่งเป็นเรื่องปกติๆของคนที่นั้น
แต่ข่าวที่ออกไปเหมือนกับมันน่ากลัวไปหมด ราวกับว่าคนเกาะเกร็ดจะจมน้ำ ทั้งๆที่เค้าอยู่กับน้ำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รู้ดีว่าช่วงนี้อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเค้า
หรือการออกข่าวอพยพผู้คนที่นวนคร ก็ทำเอาหลายคนตื่นตระหนก
แถลงการณ์ของ ศปภ.ที่ออกอากาศในรายการโทรทัศน์โครงการเฉพาะกิจ หรือทีวีพูล ที่ออกอากาศพร้อมๆกันทุกช่อง ทำให้คนที่ห่างไกลจากเหตุการณ์พลอยตื่นเต้นไปกับข่าวด้วย
แต่ถ้ามันเป็นประกาศของคณะปฏิวัติ ก็คงไม่ว่ากัน เพราะมันมีผลกับคนทั้งประเทศ และทุกคนต้องรับฟัง โดยเฉพาะคำว่า
"โปรดฟังอีกครั้ง"
การประกาศอพยพผู้คนในพื้นที่เล็กๆ แต่ออกข่าวใหญ่โตไปทั้งประเทศ ใครๆก็ตกใจ สุขภาพจิตห่อเหี่ยวกันไปหมด ทุกสื่อก็โหมกระหน่ำกันอย่างเมามัน พาดหัวว่า "ข่าวด่วนจาก ศปภ." หรือ "นวนครแตกแล้ว" โทรศัพท์มือถือก็รับข้อความข่าวด่วนกันให้ว่อน
ทางฝ่ายทหารที่ดูแลพื้นที่ก็ทำหน้าที่กันอย่างจริงจัง เข้มแข็งเกินเหตุ นำรถไปประกาศให้ผู้คนในนวนครอพยพออกจากพื้นที่ให้หมด ห้ามอยู่ในอาคารโดยเด็ดขาด แม้แต่คนเจ้าหน้าที่ประจำโรงงานต่างๆ ก็ต้องอพยพออกจากโรงงาน แต่จะอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่มีเรือเท่านั้น
ผลก็คือโกลาหลกันทั้งนวนคร ไม่ต่างกับภาวะสงคราม หรือไม่ต่างกับผึ้งแตกรัง รถทหาร - ตำรวจ รถสองแถว รวมทั้งมอเตอร์ไซด์รับจ้างวิ่งกันให้ว่อน ญาติพี่น้องต่างก็โทรหากันด้วยความเป็นห่วง บอกให้กลับบ้านต่างจังหวัดกันด่วน
ผู้คนในนวนครก็กลัวน้ำจะท่วมและเกรงว่าจะออกไปไม่ทัน เมื่อวานนี้เราจึงเห็นความโกลาหล ไม่ต่างกับการอพยพของชาวบ้านที่ อ.กันทรลักษ์ เมื่อเดือนกุมพาพันธ์ 54 หลังเขมรยิงปืนใหญ่ถล่มเข้ามาในหมู่บ้านของไทย
ภาพข่าวน้ำท่วม รวมทั้งการอพยพที่นวนคร สื่อมวลชนก็นำเสนอกันเหมือนอาหารอันโอชะ ภาพมันจึงปรากฏไปทั้งข่าวในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งที่ความจริงแล้ว น้ำค่อยๆท่วม ค่อยๆมา ทำนบมันไม่ได้พังทะลายจนน้ำไหลท่วมกันทั้งเมืองนวนครในพริบตา จนต้องตื่นตะหนก เหมือนที่หลายคนเข้าใจ
เมื่อวานที่ไปถ่ายภาพก็เห็นมากับตาว่าพื้นที่น้ำท่วมนั้นมันแค่ประมาณ 10 % ของนวนครเท่านั้นเอง ส่วนที่เหลือมันยังแห้ง มันยังปกติ ทั้งๆที่พนังกั้นน้ำมันพังไปหลายชั่วโมงแล้ว
นวนครยังไม่จบนะครับ ตอนที่ 1 ขอแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน
โฟโต้ออนทัวร์
18 ตุลาคม 2554
|