ทำไมญี่ปุ่นยอมรับภาพอนาจารเด็กในรูปแบบของการ์ตูน "มังงะ"

ทำไมญี่ปุ่นยอมรับภาพอนาจารเด็กในรูปแบบของการ์ตูนมังงะ?
แม้ญี่ปุ่นจะออกกฎหมายห้ามการครอบครองภาพและสื่อลามกอนาจารที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไปเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ภาพเด็กโป๊เปลือยในรูปแบบของการ์ตูนมังงะและภาพยนตร์แอนิเมชั่นกลับไม่รวมอยู่ในข่ายนี้ด้วย และยังพบเห็นได้ทั่วไป ทำให้น่าสงสัยว่า เหตุใดภาพอนาจารของเด็กในประเภทนี้จึงไม่ถูกห้ามครอบครองไปด้วย
โจนาธาน เฟล็ทเชอร์ ผู้สื่อข่าวของบีบีซี ได้ไปที่งานซันไชน์ ครีเอชั่น ซึ่งแสดงและจำหน่ายผลงานสร้างสรรค์การ์ตูนมังงะที่มีแฟนการ์ตูนมากมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายพากันไปชม โดยมีพื้นที่ส่วนหนึ่งแสดงผลงานภาพการ์ตูนเด็กหญิงที่สื่อไปในทางเพศ เช่น
มีภาพเด็กหญิงในวัยก่อนวัยรุ่นหรือวัยรุ่นตอนต้นเปลือยอกและการดำเนินเรื่องของการ์ตูนก็ให้ตัวละครเด็กเหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งถ้าเป็นในประเทศอย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย หรือแคนาดา การ์ตูนเหล่านี้จะต้องเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือตกเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมอย่างแน่นอน
ฮิเดะ หนึ่งในผู้จัดงานบอกกับบีบีซีว่า ทุกคนรู้ว่าการล่วงละเมิดทางเพศเด็กนั้นเป็นเรื่องไม่ดี แต่การมีอารมณ์และจินตนาการในทางนี้ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม โดยการ์ตูนและแอนิเมชั่นแนวเด็กหญิงที่ยั่วยวนทางเพศ หรือที่เรียกกันว่าโลลิค่อนนั้นเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง
ซึ่งผลงานในแนวนี้อาจรวมไปถึงเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการข่มขืน การสมสู่ในสายเลือดเดียวกันและรสนิยมทางเพศต้องห้ามอื่นๆได้ด้วย
เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว รัฐสภาญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายห้ามครอบครองภาพและสื่อลามกอนาจารที่มีเด็กและเยาวชนอยู่ หลังจากที่ห้ามการผลิตและจำหน่ายสื่อลามกเกี่ยวกับเด็กไปก่อนหน้าครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2542
แต่ทั้งหมดนี้คือการห้ามสื่อลามกที่ใช้เด็กแสดงจริง ไม่ใช่ภาพการ์ตูนมังงะแนวโลลิค่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการ์ตูนมังงะและแอนิเมชั่นขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งทำรายได้กว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้ทางการญี่ปุ่นสั่งห้ามการผลิตและครอบครองการ์ตูนโลลิค่อน แต่รัฐสภาญี่ปุ่นมีมติไม่เห็นชอบกับเรื่องดังกล่าว ทำให้บรรดาผู้รณรงค์เพื่อสิทธิเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้รณรงค์ในต่างประเทศตำหนิอย่างมาก
แต่การ์ตูนโลลิค่อนก็เป็นสื่อบันเทิงกระแสหลักที่มีผู้ติดตามหลายล้านคน โดยถือกันว่าเป็นเพียงความชื่นชอบหรืองานอดิเรกอย่างหนึ่งเท่านั้น และไม่มีเด็กคนใดถูกล่วงละเมิดหรือเป็นอันตรายจากการผลิตและเสพสื่อมังงะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจินตนาการแบบโลลิค่อนจะไม่ทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศเด็กขึ้นจริงหรือไม่ โดยมีผู้หญิงญี่ปุ่นบางกลุ่มแสดงความเห็นว่า การ์ตูนโลลิค่อนนั้นวิตถารและน่าขยะแขยง ตอบสนองเพียงจินตนาการของผู้ชายที่ไม่อาจยอมรับหญิงเข้มแข็งซึ่งเป็นผู้ใหญ่และมีชีวิตอิสระ
นอกจากนี้ ยังคงมีสถานที่ที่ลักลอบจำหน่ายสื่อลามกอนาจารเด็กอยู่ในย่านที่ผู้นิยมสื่อแนวโลลิค่อนชอบไป เช่น ย่านอะกิฮาบาร่า โดยเป็นสื่อที่ใช้เด็กแสดงแบบจริง แต่เลี่ยงกฎหมายโดยปิดบังอวัยวะเพศของเด็กไว้
ในอีกมุมหนึ่ง ดัง คาเนะมิทสึ ผู้แปลการ์ตูนมังงะและผู้รณรงค์เพื่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นบอกกับบีบีซีว่า การวิพากษ์วิจารณ์การ์ตูนโลลิค่อนนั้นสามารถทำได้ แต่การใช้อำนาจเข้าควบคุมรสนิยมของผู้คนด้วยเหตุผลที่ว่าเขาอาจจะกระทำผิดได้ทั้งที่ยังไม่ได้กระทำ
สิ่งนั้นคือการจำกัดเสรีภาพทางความคิด โดยส่วนตัวของเขาแล้วไม่ชอบการ์ตูนโลลิค่อนแต่เขาไม่มีสิทธิ์จะไปว่ากล่าวใคร หากไม่ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น
ที่มา:
บีบีซีไทย - BBC Thai
8 มกราคม 2558
(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
ประวัติ
คำว่า "มังงะ"ถูกใช้อย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกหลังจากจิตรกรอุคิโยเอะชื่อโฮคุไซตีพิมพ์หนังสือชื่อโฮคุไซมังงะในคริสต์ศตวรรษที่ 19
คำว่า มังงะ แปลตรงตัวว่า "ภาพตามอารมณ์"
ถูกใช้อย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกหลังจากจิตรกรอุคิโยเอะชื่อโฮคุไซตีพิมพ์หนังสือชื่อโฮคุไซมังงะในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ดีนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเห็นว่ามังงะอาจมีประวัติยาวนานกว่านั้น
โดยมีหลักฐานคือภาพจิกะ (แปลตรงตัวว่า "ภาพตลก") ซึ่งเป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 12 มีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับมังงะในปัจจุบัน อาทิ การเน้นเนื้อเรื่อง และการใช้เส้นที่เรียบง่ายแต่สละสลวย เป็นต้น
มังงะพัฒนามาจากการผสมผสานศิลปะการวาดภาพแบบอุคิโยเอะกับจิตรกรรมตะวันตก ความพยายามของญี่ปุ่นที่จะพัฒนาตัวเองให้ทันกับมหาอำนาจตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผลักดันให้ญี่ปุ่นนำเข้าวัฒนธรรมตะวันตกหลายๆ รูปแบบ รวมทั้งการจ้างศิลปินตะวันตกมาสอนศิลปินญี่ปุ่นเกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐานทางศิลปะ เช่น เส้น รูปทรง และสี
ซึ่งการวาดภาพแบบอุคิโยเอะไม่ให้ความสำคัญเนื่องจากคิดว่าความรู้สึกโดยรวมของภาพสำคัญกว่า อย่างไรก็ดี มังงะที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นถูกสหรัฐอเมริกาบังคับให้เปิดเสรีภาพแก่สื่อมวลชน
ในศตวรรษที่ 21 คำว่ามังงะเปลี่ยนความหมายเดิมมาหมายถึงหนังสือการ์ตูน อย่างไรก็ดีคนญี่ปุ่นมักใช้คำนี้เรียกหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็ก ส่วนหนังสือการ์ตูนทั่วไปใช้คำว่า (คอมิกส์) ซึ่งเป็นคำทับศัพท์ของ comics ในภาษาอังกฤษ ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ มังงะ (manga) ถูกใช้เรียกหนังสือการ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยการใช้คำว่ามังงะยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
มังงะมีความสำคัญวัฒนธรรมญี่ปุ่นและได้รับการยอมรับจากคนญี่ปุ่นว่าเป็นวิจิตรศิลป์และวรรณกรรมรูปแบบหนึ่ง มังงะในปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษนิยมทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศอย่างกว้างขวางว่ามีความรุนแรงและเนื้อหาทางเพศปะปนอยู่มาก
อย่างไรก็ดี ประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่มีกฎหมายจัดระเบียบมังงะ เว้นแต่กฎหมายคลุมเครือฉบับหนึ่งที่กล่าวทำนองว่า "ห้ามผู้ใดจัดจำหน่ายสื่อที่ขัดต่อความดีงามของสังคมจนเกินไป" เท่านั้น นักวาดการ์ตูนในญี่ปุ่นจีงมีเสรีภาพที่จะเขียนมังงะที่มีเนื้อหาทุกแนวสำหรับผู้อ่านทุกกลุ่ม
ลักษณะเฉพาะตัวของมังงะ
วิธีอ่านมังงะแบบญี่ปุ่น
รูปในมังงะส่วนใหญ่จะเน้นเส้นมากกว่ารูปทรงและการให้แสงเงา การจัดช่องภาพจะไม่ตายตัวเหมือนการ์ตูนสี่ช่องหรือการ์ตูนช่องในหนังสือพิมพ์ การอ่านมังงะจะอ่านจากขวาไปซ้ายตามวิธีเขียนหนังสือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น
เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวละครในมังงะมักจะดูเหมือนคนตะวันตกหรือไม่ก็มีนัยน์ตาขนาดใหญ่ ความใหญ่ของตากลายมาเป็นลักษณะเด่นของมังงะและอะนิเมะตั้งแต่ยุคปี 1960
เมื่อ โอซามุ เทซุกะ ผู้เขียนเรื่องแอสโตรบอยซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของมังงะในปัจจุบัน เริ่มวาดตาของตัวละครแบบนั้น โดยเอาแบบมาจากตัวการ์ตูนของดิสนีย์ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่านักเขียนการ์ตูนทุกคนจะวาดตัวละครให้มีตาใหญ่เสมอไป
มังงะนั้นจะถูกแยกจาก comicอย่างเด่นชัดเพราะเป็นการเขียนเทคนิกการถ่ายทำภาพยนตร์ ( cinematic style ) โดยผู้เขียนจะทำการเขียนภาพระยะไกลระใกล้ระยะประชิด เปลี่ยนมุมมองและตัดต่อเนื้อหาเรื่องราวอย่างฉับไวโดยใช้เส้น speed เพิ่มความเร็ว