ภาพพระตำหนักภูพิงค์ ในตอนที่ 2 เป็นภาพที่ต่อเนื่องจากตอนที่ 1 การลำดับภาพก็เป็นไปตามที่เดินไปถ่ายไป ไม่มีการจัดหมวดหมู่ตามประเภทของดอกไม้ เพราะในพระตำหนักฯปลูกดอกไม้ กันหลากหลายชนิด บางชนิดก็ไม่เคยเห็นมาก่อน และบางสถานที่ก็อาจมีดอกไม้ที่คล้ายๆกัน ภาพแต่ละชุดก็อาจซ้ำๆกันไปบ้าง
ในชุดนี้จะเห็น ตำหนักของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เป็นตำหนักสไตล์ยุโรป สร้างด้วยไม้ปีกทาสี ต่างกับตำหนักประทับของในหลวงและพระราชินีที่เป็นทรงไทยแบบภาคกลาง ใครมาเห็นก็อาจบอกว่าอาจดูคล้ายตำหนักฯที่เคยเห็นในวัดทางภาคกลาง
ตำหนักของฟ้าหญิงองค์เล็ก ตั้งอยู่บนเนิน ขนาดไม่ใหญ่โตนัก มีบันใดเดินลงมาด้านล่างได้ รอบๆบริเวณก็ปลูกดอกไม้สวยงาม ใครเดินมาถึงบริเวณนี้ก็จะเห็นเจ้าหน้าที่ในชุดสีกากี อยู่ประจำในบริเวณนี้ด้วย คงทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย และคอยอธิบายให้กับนักท่องเที่ยวด้วย
ดอกไม้ที่โดดเด่น ใกล้กับตำหนักของฟ้าหญิงองค์เล็กฯ น่าจะเป็นดอกกุหลาบสีม่วงที่สวยแปลกตา และยังมีกุหลาบดอกโตๆอีกหลายต้นที่อยู่ในแปลง แต่เข้าไปไม่ได้ คงกลัวว่าจะมีคนไปจับต้องจนกุหลาบเสียหาย
แต่จะว่าไปแล้ว ในบริเวณพระตำหนักภูพิงค์ มีส่วนที่เป็นเขตหวงห้ามน้อยมาก แทบจะเรียกได้ว่า สามารถเดินชม และถ่ายภาพกันได้อย่างอิสระ ต่างกับเมื่อหลายปีก่อน หรือสมัยที่พระองค์เสด็จมาประทับอยู่บ่อยๆ
วันนี้เป็นวันที่มีแสงแดดจัด แต่ในเขตพระตำหนักกลับไม่ร้อนจนเกินไป เรียกว่ากำลังพอดี ส่วนในตัวเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ด้านล่างคงร้อนกว่านี้หลายองศา
สำหรับตอนที่ 3 หรือตอนต่อไปจะเห็นตำหนักประทับของในหลวงและพระราชินี ที่มีลักษณะเป็นตึกทรงไทย มีจั่วและหลังคาสลับสีแบบวัดทางภาคกลาง
ในอดีต การเสด็จมาประทับของทั้งสองพระองค์แต่ละครั้ง ก็จะมีเจ้าหน้าที่ติดตามหรือข้าราชบริพารกันหลายคน ซึ่งจะต้องคอยปรนนิบัติรับใช้ในระหว่างเสด็จมาประทับที่เชียงใหม่ อาคารต่างๆที่เห็นจึงเป็นที่อยู่ที่อาศัยของคณะที่ติดตามเสด็จด้วย
ภายในพระตำหนักเข้าใจว่าประกอบไปด้วยห้องสำคัญๆต่างๆมากมาย เช่นห้องทรงงาน ห้องรับรองแขก หรือห้องต้อนรับอาคันตุกะ คล้ายๆกับพระตำหนักสวนจิตรฯในปัจจุบัน
หากจำกันได้ ในอดีตเราคงเห็นข่าวในพระราชสำนักว่า พระตำหนักภูพิงค์ที่เชียงใหม่แห่งนี้ ใช้เป็นที่เข้าเฝ้าของบุคคล หรือคณะบุคคลต่างๆเป็นประจำ พระตำหนักฯจึงต้องมีสถานที่เพื่อรองรับการมาเยือนกันหลายคณะ ไม่ต่างกับที่เห็นข่าวจากโทรทัศน์ในทุกวันนี้
สมัยที่ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมราษฏรในพื้นที่ภาคเหนือเมื่อหลายปีก่อน ในหลวงท่านทรงใช้พระตำหนักแห่งนี้เป็นที่พระทับ และทรงงานมานานหลายปี ทุกๆเช้าท่านก็จะเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ ออกไปยังสถานที่ต่างๆของภาคเหนือ และเสด็จกลับมาในเวลาดึกดื่นเป็นประจำทุกวัน
การเสด็จออกของทั้งสองพระองค์เมื่อก่อนนั้น มีทั้งการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฏรในถิ่นธุรกันดาร รวมทั้งเสด็จเยี่ยมทหารและตำรวจตระเวณชายแดนในแนวหน้า ที่ทำหน้าที่ป้องกันการุกรานของขบวนการคอมมิวนิสต์
และเป็นที่กล่าวขานกันว่า ท่านจะเสด็จไปในทุกพื้นที่ แม้เจ้าหน้าที่จะทัดทานว่าไม่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นพื้นที่อันตราย แต่พระองค์ก็ไม่ได้ย่อท้อ
หลังจากที่ประเทศสงบจากภัยคอมมิวนิสต์ พระองค์ก็ต้องทำงานหนักเพื่อฟื้นฟูอาชีพของชาวเขา ให้หันมาปลูกพืชผักเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น ต่อมาโครงการนี้ได้พัฒนากระทั่งกลายมาเป็นโครงการหลวง ที่ประกอบไปด้วยบุคลากรและนักวิจัยทางการเกษตรมากมาย ซึ่งเป็นต้นแบบของการทำการเษตรที่ปลอดสารเคมี
พืชผักผลไม้รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวง จึงได้รับความเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ไม่น่าเชื่อว่าโครงการที่ทรงให้ความช่วยเหลือชาวเขาที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ได้กลายมาเป็นโครงการที่ใหญ่โต จนเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจระดับชาติได้อย่างภาคภูมิใจ ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จนี้ได้สร้างชีวิตใหม่ให้กับประชาชนคนไทย โดยเฉพาะชาวไทยภูเขาอย่างเหลือคณานับ
คำว่า ป้อหลวง ในภาษาถิ่นเหนือ หรือคำว่าพ่อหลวงนั้น จึงมีความหมายที่ลึกซึ้งเกินกว่าที่ใครๆจะเข้าใจได้
พบกันใหม่ในตอนที่ 3 เพื่อชมดอกไม้กันต่อครับ
โฟโต้ออนทัวร์
19 พฤษภาคม 2554
ต้องการนำภาพ หรือ บทความ จากโฟโต้ออนทัวร์ไปใช้งาน < คลิก >
|