วัดนาปราบ ต.นายาง อ.สบปราบ ลำปาง
(เดินทาง มีนาคม 2554)
เมื่อเดือนที่แล้ว (มค.55) มีโอกาสไปเที่ยวพม่าในทริปเมืองย่างกุ้ง -หงสาวดี -พระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งเป็นทริปยอดนิยมของคนไทย และโปรแกรมทั้งหมดก็เป็นการทัวร์วัดตลอดทั้งรายการ ทำให้เห็นว่าคนพม่ายังนิยมเข้าวัดทำบุญกันอย่างล้นหลาม และความหมายของคำว่าวัดในพม่า นอกจากจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ควรแก่การกราบไหว้บูชาแล้ว ก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปในตัว เราจะเห็นเด็กนักเรียน คนหนุ่มคนสาว รวมไปถึงผู้สูงอายุต่างก็มา่วัดด้วยกันทั้งนั้น
ความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของคนพม่าได้หยั่งลึกมาเป็นเวลานานตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เจดีย์และวัดต่างๆจึงได้รับการทำนุบำรุงจากประชาชนมาทุกยุคทุกสมัย วัดในพม่าจึงเป็นสถานที่สะอาดสวยงาม แตกต่างจากชุมชนที่อยู่รอบวัดซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ถนนหนทางมีแต่ฝุ่นสีแดงๆ แต่เมื่อเข้าในเขตวัดแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ พื้นลานวัดปูลาดด้วยหินอ่อนหรือแผ่นกระเบื้องตลอดทั่วทั้งวัด เจดีย์ทุกแห่งจะเป็นสีทองเหลืองอร่าม บรรดาวิหาร ศาลา หรือสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ตกแต่งลวดลายอย่างวิจิตรด้วยทองคำ ทองเปลว หรือทาสีทองทั้งหลัง
ทั้งหมดนี้สร้างด้วยเงินบริจาคแต่เพียงอย่างเดียว วัดจึงได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านเรื่องทุนทรัพย์อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นที่น่าแปลกใจว่าชาวบ้านมีฐานะยากจนแต่ก็บริจาคเงินเพื่อทำบุญกันอย่างเต็มอกเต็มใจ
การสนับสนุนเกื้อกูลวัดในพม่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นการบริจาคเงินโดยใส่ไว้ในตู้รับบริจาค คนไทยแปลกใจที่เห็นเงินเต็มตู้ทุกวัด วัดในของพม่าจะไม่มีการถวายสังฆทานเหมือนบ้านเรา ไม่มีวัตถุมงคลวางขาย มีแค่ดอกไม้ธุปเทียน ที่ต่างกับไทยอย่างชัดเจนก็คือ ชาวพม่าจะไม่ห้อยพระเครื่อง ไม่นิยมวัตถุบูชา
ที่สังเกตได้ชัดก็คือว่า ชาวพม่าให้ความสำคัญกับสถานที่เช่นเจดีย์ มากกว่าจะให้ความสำคัญกับพระสงฆ์เช่นเจ้าอาวาส หรือพระเกจิเหมือนบ้านเรา คนที่มาวัดก็จะมาสักการะพระธาตุเจดีย์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจะเห็นว่าวัดพม่ามีการบูรณะและเสริมสร้างให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นเวลานับร้อยนับพันปี
พลังศรัทธาอันแรงกล้าของชาวพม่าที่มีต่อพระพุทธศาสนาหรือต่อสถานที่ตนเองเคารพบูชาเป็นสิ่งที่คนไทนเราอาจเข้าใจยาก และเข้าไม่ถึงว่าทำไมจึงศรัทธากันมากมายขนาดนั้น และยิ่งไปเห็นชาวพม่าเดินทางไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวนหรือหินศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาแล้วก็อาจแปลกใจมากยิ่งขึ้น
การเดินทางสู่พระธาตุอินทร์แขวนก็แสนลำบาก แต่ชาวพม่าก็พากันหลังไหลมาทำบุญกันตลอดทั้งวัน จนทางวัดต้องเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง กลางค่ำกลางคืนดึกดื่นแค่ไหน ก็จะเห็นผู้คนเดินทางกันมาอย่างไม่ขาดสาย คนที่มาก็จะเตรียมสัมภาระเพื่อจะได้นอนค้างกันที่วัด วันธรรมดาผู้คนอาจมีเป็นหลักพัน แต่ถ้าเป็นวันหยุดจะเป็นหลักหมื่น ทั้งลูกเล็กเด็กแดง กลุ่มวัยรุ่น รวมทั้งผู้แก่ผู้เฒ่า เดินขึ้นเขากันแบบลืมวัย
เรื่องศรัทธาของชาวพม่าคงเกริ่นนำแต่เพียงเท่านี้ก่อน
ใครสนใจเรื่องพม่าคงต้องรอกันหน่อย เพราะมีภาพจากพม่ามาฝากกันทุกซอกทุกมุม อย่างน้อยๆก็เป็นหลักฐานว่า พม่าในปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง เพราะจากนี้ไปพม่าก็จะเข้าสู่ถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซี่ยน ขณะนี้มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้าออกพม่ากันเป็นว่าเล่น จากเมื่อก่อนที่เป็นประเทศปิดและปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทหาร
การที่พม่าเปิดประเทศสู่โลกเสรีแบบทุนนิยมมากขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
โรงแรมที่พักที่คนไทยคุ้นเคย และเคยมีคนไทยเป็นลูกค้าหลัก ขณะนี้ก็ต้องบอกว่าพม่าเริ่มไม่ง้อคนไทยแล้ว เพราะชาติยุโรปและอเมริกา ยอมจ่ายค่าห้องพักแพงๆ ชนิดไม่มีส่วนลด ทัวร์ไทยที่เคยคิดในราคาพิเศษในเรื่องราคาห้องพัก ต่อไปก็อาจจะไม่พิเศษ ยิ่งโรงแรมมีจำกัดก็ทำให้ธุรกิจโรงแรมเล่นตัวมากขึ้น ค่าเดินทางไปพม่าจากนี้ไปก็อาจจะแพงขึ้น และกว่าจะให้เข้าที่เข้าทางก็ต้องรอนักลงทุนจากต่างชาติเข้าไปสร้างโรงแรมที่พักกันขนานใหญ่ เช่นเดียวกับประเทศเวียดนามในยุคเปิดประเทศ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
วันนี้เขียนเรื่องความศรัทธาของชาวพม่า ที่คนไทยเห็นแล้วก็คาดไม่ถึง ทำให้หวนกลับมานึกถึงประเทศไทยว่าคนไทยเคยศรัทธา เคยให้ความสำคัญกับวัดวาอาราม แต่ปัจจุบันเริ่มลดน้อยถอยลงเป็นอันมาก ก่อนนี้ชาวบ้านเคยผูกพันธ์กับวัด ครั้นเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโต อาชีพเกษตรกรรมที่ชาวบ้านเคยอยู่กับไร่กับนาก็เปลี่ยนมาสู่ภาคอุตสาหกรรม กลายเป็นลูกจ้างโรงงาน หรือต้องเดินทางไปหางานทำในที่อื่นๆ และทิ้งถิ่นที่อาศัย
วัด กับ ชุมชน จึงค่อยๆห่างเหินกันไป และคำว่าลงแขกหรือร่วมมือกันทำงานเหมือนเช่นอดีตก็ไม่ค่อยจะได้เห็นอีกเช่นกัน การทำไร่ทำนาในปัจจุบันจึงต้องใช้เงินทุนเพื่อเป็นค่าจ้างแรงงานหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ คำว่าช่วยกันทำหรือการลงแขกน่าจะเหลือเพียงแต่ตำนาน
ปัจจุปันการร่วมมือร่วมใจของคนในสังคมคนเมืองค่อนข้างหายาก แม้กระทั้งการเข้ามาช่วยเหลือกิจการงานวัด ก็คงไม่เหมือนเมื่อก่อน ทุกอย่างจึงต้องใช้เงินเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นชนบทที่อยู่ห่างไกลอาจยังจะพอพบเห็นได้บ้าง
เมื่อต้นปีที่แล้ว หรือเมื่อเดือนมีนาคม ปี 54 มีโอกาสไปทำบุญที่วัดในชนบทแห่งหนึ่งของอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง
อำเภอสบปราบเป็นอำเภอที่เล็กมาก หากใครเคยไปเที่ยวภาคเหนือก็คงพอจะรู้จัก เพราะอยู่ห่างจากอำเภอเถินไปไม่มากนัก ถ้าไล่เรียงจากจังหวัดตากสู่ลำปาง ก็จะผ่านอำเภอสำคัญๆดังนี้ อ.บ้านตาก อ.เถิน อ.สบปราบ อ.เกาะคา ลำปาง
อำเภอเถินหลายคนคงเคยแวะโดยเฉพาะผู้ที่ขับรถไปเอง เพราะเป็นสถานที่ต้องพักเข้าห้องน้ำ เติมน้ำมัน ซื้อของฝาก ทานอาหาร ถือว่าเป็นจุดแวะยอดนิยมสำหรับผู้เดินทางในเส้นทางสายนี้ ส่วนอำเภอสบปราบดูจะค่อนข้างเงียบเหงา ขับรถผ่านไปไม่รู้ต่อกี่ครั้งก็ยังหาตัวอำเภอไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน
ที่จำได้รู้สึกว่าปั้มน้ำมันก็ไม่มี ถึงมีก็คงเป็นปั้มเล็กๆ ตัวอำเภอหรืออาคารร้านค้าที่เป็นชุมชนเหมือนเช่นที่อื่นๆแทบจะมองไม่เห็น ทุกวันนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า ศุนย์กลางของอำเภอสบปราบนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ ผ่านไปกี่ครั้งก็เห็นแต่บ้านเป็นหลังๆ มีสถานที่ราชการอยู่แห่งหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าเป็นโรงพักหรือที่ว่าการอำเภอสบปราบ
แต่ถ้าใครรู้จักด่านตำรวจทางหลวงด่านใหญ่ที่รถทุกคันจะต้องชะลอในเส้นทางขาล่องหรือจากลำปางสู่จังหวัดตาก ก็ต้องบอกว่าตรงด่านหรือตรงจุดสกัดนั่นแหละคือเขตอำเภอสบปราบ ด่านนี้ตั้งมาเป็นเวลานานทีเดียว จนน่าจะเรียกว่าเป็นด่านถาวร เพื่อตรวจค้นยาเสพติด
ผมมีโอกาสไปทำบุญที่วัดนาปราบ จากญาติที่รู้จักกับเจ้าอาวาส จึงชวนกันไปทำบุญ วัดนี้อยู่ห่างจากถนนใหญ่ (ถนนพหลโยธิน) ราว 3 กม. สังเกตได้ไม่ยากเพราะมีป้ายบอกทางเอาไว้เป็นระยะๆ พ้นจากทางแยกเข้าไปไม่ไกลนักก็จะเป็นป่าละเมาะ ระหว่างทางแทบจะไม่เห็นบ้านคน จากนั้นก็ขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำวัง พอลงสะพานไปไม่ไกลจะเจอทางแยกซ้ายมือ มีป้ายบอกทางไปหมู่บ้านนายาง ก่อนถึงหมู่บ้านจะผ่านทุ่งนาที่รกร้าง เห็นวัวควายเล็มหญ้าตามทุ่ง บริเวณนี้ดูเป็นชนบทมาก
จากนั้นก็ขึ้นเนินเขาเตี้ยๆเพื่อเข้าเขตชุมชน แต่ก่อนจะเข้าหมู่บ้านก็ต้องผ่านคอกวัว จากเลยจุดนี้ไปอีกไม่เกิน 2 กิโลเมตรก็ถึงวัดนาปราบ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่โดดเดี่ยวหรือปลายสุดของหมู่บ้านตำบลนายาง
เมื่อขับรถมาถึงวัด มีตวามรู้สึกว่าที่นี่น่าจะมีการจัดงานอะไรสักอย่าง เห็นผู้คนราว 60-70 คน อยู่ภายในวัด มีมอเตอร์ไซด์จอดเรียงรายราว 50 คัน ยังนึกในใจว่าโชคดีที่มีโอกาสเห็นงานวัดแบบชนบท
จอดรถแล้วก็ตามญาติเข้าไปหาหลวงพ่อเพื่อจะถวายปัจจัยและสิ่งของ หลวงพ่อท่านนี้ชื่อ พระครูโสณจริยานุวัตร เป็นทั้งเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะอำเภอสบปราบด้วย
นั่งเสวนากับหลวงพ่ออยู่หลายเรื่อง พร้อมเล่าที่มาของ คำว่า "สบปราบ" ว่าเป็นจุดที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน ได้แก่แม่น้ำวัง และห้วยแม่ปราบ จึงตั้งชื่อว่า อำเภอสบปราบ ตั้งแต่นั้นมา
ท่านบอกว่าตำบลนายางนี้เป็นท้องถิ่นชนบท (ท่านใช้คำว่าบ้านนอก) ตอนท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอสบปราบ มีความตั้งใจที่จะให้ชุมชนนี้งดกินเหล้าในวัด ซึ่งก่อนนั้นเมื่อมีการจัดงานก็มักมีเหล้าเข้ามาเกี่ยวข้องทุกครั้ง ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือด้วยดี แต่ถ้าเป็นงานศพหรืองานที่จัดตามบ้านนั้น บางครั้งก็ไม่ได้ความร่วมมือ
ท่านบอกว่าขณะนี้ทางวัดกำลังปรับขยายพื้นที่เพื่อสร้างวิหารอีกหลังหนึ่ง เนื่องจากหลังเก่านี้คับแคบ และขณะนี้ชาวบ้านกำลังทุบกำแพงที่อยู่ด้านข้างนี้ออกไปเพื่อสร้างวิหาร
สรุปว่าที่เห็นผู้คนมากมายและรถมอเตอร์ไซด์จอดเรียงรายอีกเป็นจำนวนมากก่อนที่จะเลี้ยวรถเข้ามาในวัดนั้น ก็คือชาวบ้านที่มาร่วมแรงร่วมใจกันรื้อกำแพงเก่าเพื่อสร้างวิหาร หลวงพ่อบอกว่าไม่มีเงินจ้างผู้รับเหมา ซึ่งขอรับบริจาควัสดุก่อสร้าง ส่วนแรงงานก็มาจากชาวบ้านล้วนๆที่ผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยงาน
หลวงพ่อบอกว่า ชาวบ้านคนไหนถนัดในเรื่องใดก็จะมาเป็นอาสาสมัครรับทำงานนั้นๆ เช่นงานปููน งานไม้ หรืองานสีี ส่วนชาวบ้านที่ไม่มีความรู้เรื่องการก่อสร้างก็จะมาช่วยทำงานอย่างอื่นตามที่มีการร้องขอหรือบอกกล่าว เรียกว่าทุกคนมาช่วยทำงานกันตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่ต่างกับการจ้างงานของผู้รับเหมาที่กำหนดเวลาการทำงาน
ภาพที่เห็นนี้สร้างความแปลกใจเป็นอันมาก และต้องบอกว่าชาวบ้านทุกครัวเรือนมีส่วนช่วยกิจการงานวัดด้วยกันทั้งนั้น ทั้งการบริจาคเงิน และลงแรงทำงานอย่างไม่เกี่ยงงานว่าสภาพงานจะเป็นอย่างไร หากจะบอกว่าชาวบ้านอาสาที่จะมาเป็นคนงานก่อสร้างหรือเป็น Laber ก็คงไม่ผิดหนัก เพราะต้องขลุกอยู่กับซากอิฐ หิน ดิน ทราย และฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจนต้องปิดหน้าปิดตา
เดินถ่ายภาพไปเรื่อยๆก็พบว่าอิฐมอญเก่าๆจากการทุบกำแพง ชาวบ้านยังช่วยกันกระเทาะเศษปูน นำอิฐที่มีสภาพดีไปกองรวมกัน จะได้ใช้งานต่อไปในอนาคตได้ เรียกว่าทำกันอย่างประหยัด เพื่อให้เกิดคุณค่ามากที่สุด
หลังจากที่ออกจากวัดเพื่อเดินทางกลับ ตั้งใจว่าจะถ่ายภาพคอกวัวที่ปากทางเข้าหมู่บ้านตามที่หมายตาไว้แต่แรก เพราะภาพแบบนี้กำลังจะหมดไปจากชนบทไทย หลังถ่ายไปได้สักพักก็เห็นแม่อุ้ยเดินผ่านมา บอกว่าคอกวัวนี้เป็นของแก และกำลังจะเดินไปไร่ที่อยู่ด้านใน แกบอกว่าเมื่อตะกี้ก็เห็นผมที่วัด
แสดงว่าแม่อุ้ยหรือคุณยายวัยเจ็ดสิบกว่าปีผู้นี้ คงช่วยงานวัดมาเป็นเวลาหลายชั่วโมง หรืออาจตั้งแต่เช้า เสร็จจากงานที่วัดก็กลับมาดูไร่ของตนเอง และวันถัดไปก็คงจะเป็นเช่นนี้จนกว่าการสร้างวิหารหลังใหม่จะเสร็จสิ้น
นี่คือวิถีชีวิตและสภาพสังคมของชาวบ้านตำบลนายาง เขตอำเภอสบปราบ ที่หลวงพ่อบอกว่ายังเป็นบ้านนอก แต่คำว่าบ้านนอกที่อยู่ห่างไกล กลับได้พบกับพลังศรัทธาอันน่าชื่นชมของชาวบ้านที่มีต่อวัด และต่อเจ้าอาวาสวัดนาปราบ อย่างประเมินค่ามิได้ รู้สึกได้เลยว่าหลวงพ่อหรือพระครูโสภณ ท่านเป็นศุนย์รวมจิตใจของชุมชนนี้อย่างแท้จริง เหมือนกับสังคมไทยในอดีตที่วัดและชาวบ้านมีความผูกพันธ์ซึงกันและกัน
้ปัจจุบันสังคมกรุงเทพกำลังโหยหาผู้คนที่มีจิตอาสา อย่างน้อยๆก็เริ่มก่อตัวในคราวเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือน พฤศจิกายน ธันวาคม ปลายปี 2554 ชาวบ้านตำบลนายางอาจไม่รู้จักคำว่า จิตอาสา ว่าเป็นเช่นไร แต่ความสำนึกความศรัทธาที่มีชุมชน และต่อศาสนสถานที่ตนเคารพบูชา ประกอบกับมีผู้นำศาสนาที่ดี ความศรัทธาของชาวบ้านจึงมารวมตัวกันอยู่ที่วัด ซึ่งเป็นวัดที่ตนเองมีโอกาสร่วมก่อสร้าง นี่คือจิตอาสาที่สมบูรณ์แบบและเป็นรากเหง้าของสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต
แน่นอนว่าหากวิหารหลังใหม่เป็นรูปเป็นร่างหรือสร้างเสร็จ ความภาคภูมิใจคงเกิดขึ้นกับชาวบ้านที่นี่ทุกๆคน เและป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่มาจากใจล้วนๆ หรือมาจากหยาดเหงื่อแรงงาน สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติบูชา ที่ลงมือทำด้วยตนเองโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ และคงได้อานิสสงฆ์จากการปฏิบัติบูชา มากกว่าคำว่า อามิสบูชา หรือการบริจาคเงินและสิ่งของ การพบเห็นชาวบ้านมาช่วยงานวัดกันสัก 10 -20 คน ก็คงเป็นเรื่องปกติ แต่ที่นี่มากันเกือบทั้งหมู่บ้าน และผลัดเผลี่ยนกันมาช่วยงานวัดโดยไม่เกี่ยงงอน
ชนบทไทยอาจมีอีกหลายแห่งที่เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ แต่สังคมภายนอกก็อาจรับรู้เรื่องราวได้น้อยมาก
สรุปว่าศรัทธาชาวบ้านที่ได้แสดงพลังออกมาได้แบบนี้ น่าจะมีองค์ประกอบหลักๆอยู่ 3 ส่วน
1 มีพระดี แน่นอนว่าเจ้าอาวาสวัดนาปราบคงเป็นผู้ที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน
2 ชาวบ้านต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างวัดสร้างวิหาร ซึ่งจะเห็นว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัดวาอารามต่างๆที่เกิดขึ้นมาจากศรัทธาชาวบ้านของชุมชนนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยกันดูแลทำนุบำรุงไม่ไห้กลายเป็นวัดร้าง
3 ชาวบ้านมีสังคมที่ดี ชนบทที่อยู่ห่างไกล หรือบ้านนอกเราจะพบเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ คำว่าชนบท หรือบ้านนอก จึงเป็นสิ่งที่ดีงามเสมอ หากสังคมภายนอกไม่เข้ามาเบียดเบียนมากจนเกินไป
ศรัทธาของชาวพม่าที่มีต่อพุทธศาสนา หรือสถานที่เคารพบูชาตามที่กล่าวแต่ต้นนั้น สาเหตุหนึ่งก็เนื่องจากประเทศ่ยังไม่เจริญนัก หรือว่ายังเป็นบ้านนอก ความศรัทธาจึงแรงกล้ามากกว่าสังคมที่เจริญแล้ว สำหรับประเทศไทยที่มีความเจริญ(ทางวัตถุ) มากกว่าพม่าหลายเท่า การพบเห็นพลังศรัทธาดังเช่นชาวบ้านตำบลนายางนี้จึงอาจเป็นของแปลกสำหรับบ้านเรา
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งดีๆงาม พลังศรัทธาอันบริสุทธิ์ที่มีมากกว่าคำว่าจิตอาสา หากเราพยายามค้นหาก็คงจะพบเห็นได้มากมาย และเมื่อพบแล้วก็ลองย้อนกลับมามองตนเองว่าตัวเรานั้นห่างเหินไปกับคำว่า ศรัทธา หรือ "จิตอาสา" ไปมากน้อยแค่ไหน
ศรัทธา หรือ จิตอาสา เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดละเลิก ในความเป็นตัวตน เพราะเป็นการทำงานด้วยใจล้วนๆ ไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ผลจากการกระทำก็คือความสุขใจ ส่วนผู้ถูกกระทำก็จะได้รับประโยชน์
โฟโต้ออนทัวร์
5 กุมพาพันธ์ 2555
ข้อมูลวัดนาปราบ
เจ้าอาวาส - พระครูโสภณจริยานุวัตร เจ้าคณะอำเภอสบปราบ อายุ 72 ปี (ปี54)
ที่อยู่ - เลขที่ 54 หมู่ที่ 3 ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง 52170
โทรศัพท์ 054-214042 โทรศัพท์มือมือ 081-9806968
พระครูโสภณจริยานุวัตร

- เจ้าอาวาสวัดนาปราบ
- เจ้าคณะอำเภอสบปราบ
- ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดนาปราบ
- พระวิทยากรอบรมคุณธรรมจริยธรรมกิจกรรมเข้าค่ายพุทธบุตร
- พระวิทยากรอบรมการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ
- พระวิทยากรบรรยายธรรมทางสถานีวิทยุชุมชนอำเภอสบปราบ
- พระวิทยากรสอนภาษาล้านนา
- พ.ศ. 2540 ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร ประเภทส่งเสริมกิจการคณะสงฆ์ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
แผนที่วัดนาปราบ- คลิกที่ภาพเพื่อขยาย
 
|