นกนางนวลบางปู จ.สมุทรปราการ
(เดินทาง มีค.60)
มาบางปูไม่เคยเบื่อ..หลายคนอาจมีความรู้สึกแบบนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่นกนางนวลอพยพหนีความหนาวมาจากแคว้นไทรบีเรียประเทศจีน ที่อยู่ห่างจากประเทศไทยนับเป็นระยะทางหมื่นๆกิโลเมตร เหตุที่อพยพก็เพราะทะเลที่อาศัยนั้น ได้กลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้ขาดแคลนอาหาร จึงต้องอพยพหนีตายเพื่อความอยู่รอด ไม่ต่างกับการอพยพของฝูงสัตว์ในป่าอัฟริกา ที่อพยพจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยระยะทางที่ไกลมาก
จำนวนนกนางนวลหลายๆสายพันธ์มารวมตัวกันที่บางปูจะมีให้เห็นในช่วงสั้นๆ คือช่วงฤดูหนาวไปจนถึงต้นฤดูร้อน ประมาณ เดือน พย. – เมย. ของทุกปี แต่เรื่องเวลาอาจไม่แน่นอนเสมอไป ทั้งจำนวนนกในแต่ละปีก็มีจำนวนไม่เท่ากัน บางปีก็มากจนตื่นตา บางปีก็น้อยจนเป็นที่ผิดสังเกต
ถึงนกจะมีน้อยหรือมีมาก ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค หากมาเที่ยวเพื่อการพักผ่อน ชมพระอาทิตย์ในบรรยากาศที่แสนจะโรแมนตก บนสะพานสุขตาที่ทอดยาวไปจนถึงภัตตาคาร สมัยคุณปู่คุณย่า ก็ยังมาใช้สถานที่แห่งนี้เติมเต็มความรักให้แก่กันและกัน
เมื่อก่อนการเดินทางจากกรุงเทพมาบางปูค่อนข้างสะดวก รถรามีไม่มากนัก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ความเจริญมันคืบคลานเข้ามาในย่านบางปู และบางพลี ชนิดที่ตามอัพเดตไม่ทัน ย่านบางพลีก็มีนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมากมาย ถนนก็พาดผ่าน มีทั้งทางด่วนและทางปกติ
การเดินทางมาครั้งนี้ก็ใช้แผนที่ Google บนมือถือ แต่ก็ไม่วางใจเพราะระบบพาอ้อมไปไกลมาก กลัวจะพาเราไปถึงชลบุรี ยิ่งขับรถก็ดูจะยิ่งเครียด มันพาไปผิดทางรึเปล่า แต่ก็ต้องเชื่อ เพราะระบบได้เลือกเส้นทางที่ดีที่สุดให้กับเรา
ก่อนหน้านี้จากเคยใช้เวลาเดินทางไม่นานนัก นึกอยากจะมาก็มาเลย ไม่ต้องตัดสินใจมาก เพราะแป๊บเดียวถึง แต่มาวันนี้ใช้เวลามากขึ้น รถติดมากขึ้น ใครที่ไม่ไม่ค่อยมาบ่อยนัก หากคิดจะมาควรเผื่อเวลาไว้ด้วย
เช่นขับรถมาเองก็อาจเผื่อเวลาถึง 2 ชม. หรือมากกว่านั้น ส่วนใครที่มาด้วยรถประจำทาง สะดวกที่สุดก็คือนั่ง BTS มุ่งหน้ามาลงที่สถานีแบริ่ง แต่ปัจจุบันกำลังสร้างส่วนต่อขยายไปถึงสมุทรปราการ และอ้อมตัวเมืองสมุทรปราการไปจนเกือบจะถึงเมืองโบราณ ในเส้นทางเดียวกับสถานตากอากาศบางปู
สำหรับผู้ที่อยากทราบเทคนิคการถ่ายภาพนก ดูได้จากข้างล่างนี้นะครับ แต่ถ้าจะให้สวยงามตามที่ต้องการก็ต้องขยันถ่ายให้มากๆ มาบ่อยๆ หรือพักค้างแรมกันในย่านนี้เลย เนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกลจากกรุงเทพ และเสียเวลาเดินทางค่อนข้างนาน
โฟโต้ออนทัวร์
24 มีค.60
คำแนะนำการถ่ายภาพนกนางนวล
1 ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือตลอดทั้งวัน แต่ที่นิยมจะเป็นช่วง 4 โมงเย็น เป็นต้นไป
2 แนะนำให้ใช้โหมด S (Shutter) เนื่องจากจำเป็นต้องควบคุมด้วยความเร็วชัตเตอร์(ภาพเคลื่อนไหว) และควรใช้ Speed ที่ 1/500 , 1/1000
3 การวัดแสงควรเลือกแบบเฉลี่ย(Average) ถ้าภาพออกมามืดไปหรือสว่างไปก็ให้ไปปรับที่ Under/Over แทน ปรับ Under ขนนกสีขาวจึงจะออกมาพอดี ช่วงแรกๆต้องตรวจสอบภาพนกก่อนว่า พอดีและมีรายละเอียดหรือไม่ หากพื้นภาพแสงพอดี แต่นกขาวเวอร์ ก็ถือว่ายังใช้ไม่ได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่ตัวนก แสงจะต้องพอดี หรืออาจให้ Under นิดๆ แล้วไปปรับทีคอมพ์

4 ควรปรับโหมดการถ่ายภาพเป็นแบบต่อเนื่อง(Continue) หรือ CL/ CH หรือ Continue - Low / Continue-High
แต่ถ้าระบบนี้ไม่มี จะถ่ายแบบ Singgle หรือทีละภาพก็ได้ แต่ต้องรู้จังหวะการหน่วงของกล้องด้วย คือกล้องจะทำงานช้าเล็กน้อย
5 การโฟกัสควรเลือกแบบ AF (Auto Focus) ส่วนใหญ่กล้องในปัจจุบันสามารถโฟกัสได้เร็ว และทันอยู่แล้ว การปรับเป็น Manual โอกาสพลาดถึง 90% และการถ่ายภาพนก ความคมชัดต้อง 100% หรือเกือบ 100% จึงจะถือว่าใช้ได้ ภาพไม่ชัดถือว่าสอบไม่ผ่าน ต้องลบทิ้ง เพราะเปลืองพื้นที่เก็บไฟล์ภาพ
6 การถ่าย Raw file แบบต่อเนื่อง(Continue) กล้องบางรุ่นอาจค้าง(ไฟกระพริบ)เนื่องจากประมวลผลไม่ทัน จึงควรเลือกเป็นไฟล์ Fine/ Jepeg แทน
7 ฟิลเตอร์อื่นๆ เพื่อผลของภาพจำเป็นหรือไม่ ก็แล้วแต่สะดวก แต่ถ้าต้องการให้พื้นน้ำและท้องฟ้าออกสีเข้มๆ เช่นภาพข้างล่างนี้และอีกหลายๆภาพ เป็นการใช้ฟิลเตอร์ PL (Polarize) แต่ควรใช้กรณีที่จำเป็น เช่นต้องการฟ้าเข้ม หรือน้ำเข้มเพื่อต้องการเห็นน้ำกระเด็นชัดเจน หากใช้พร่ำเพื่อจะมีข้อเสีย
7.1 สูญเสีย F-Stop (เกือบ 2 Stop)
7.2 พื้นที่ความคมชัดของภาพแคบลง (Depth of field) เนื่องจากระบบกล้องจะต้องปรับชดเชยแสงให้กว้างขึ้น
7.3 ภาพจะอมเหลือง (White Balance เพี้ยน) ถ้าปรับ under มากไป หรือ ถ่ายเพลินจนไม่รู้ว่าสภาพแสงได้เปลี่ยนไป(ค่ำแล้ว)

ตัวอย่างภาพที่ใช้ PL- Polarizing Filter (Shutter 1/1000)
8 ISO ควรตั้งเท่าใด ตอบแบบกลางๆว่าควรตั้ง 200 – 1000 แล้วแต่สภาพแสง หรือให้สัมพันธ์กับชัตเตอร์ที่ใช้ หากตั้งต่ำไปเช่น 100 หรือ 200 กล้องก็จะต้องปรับรูรับแสงให้กว้างมาก ภาพอาจสูญเสียช่วงความคมชัด(Depth of field) ในทางตรงกันข้าม หากตั้ง ISO สูงมากๆและถ่ายในสภาพที่มีแสงน้อย Noise ก็จะตามมา
เรื่อง ISO จึงควรปรับให้เหมาะสม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกล้องแต่ละรุ่นด้วย กล้องรุ่นเก่าอาจมี Noise รบกวนจนน่ารำคาญ ส่วนกล้องรุ่นใหม่ๆจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เว้นแต่สภาพแสงน้อยมาก และจำเป็นต้องใช้ชัตเตอร์สูงๆ Noise ก็คงมาเยี่ยมเยียนบ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดา
9 หากต้องการถ่ายภาพนกที่จิกเหยื่อในน้ำ จนน้ำแตกกระจาย ต้องหาข้อมูลน้ำขึ้นน้ำลง โดยเลือกช่วงน้ำขึ้น หากมาในช่วงน้ำลง พื้นภาพจะเป็นดินโคลนที่ไม่สวยนัก
10 เพื่อให้ได้ภาพที่ถูกใจ จำเป็นต้องมาหลายครั้งในแต่ละปี ฝึกจนชำนาญ อย่าให้มีอะไรที่ยังคลางแคลงใจ โดยเฉพาะภาพพระอาทิตย์ตกที่บรรยากาศจะไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน บางวันมีเมฆบัง บางวันฟ้าหลัว
11 การถ่ายภาพนกนางนวล ก็ไม่ต่างกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวทั่วไป คือถ่ายไม่ทัน และโฟกัสยาก ดังนั้นการถ่ายบ่อยๆเพื่อหาประสบการณ์ให้มากจึงเป็นสิ่งจำเป็น
12 กล้อง Mirrorless สามารถ่ายภาพแบบฉับไวได้เช่นกัน ถึงแม้จะมีข้อจำกัดบ้าง แต่ก็ไม่มีปัญหา เช่นภาพจากกล้อง Olympus OM-D E-M10
 
13 สุดท้าย... สนามฝึกถ่ายภาพ Action ที่ดี ก็คือการถ่ายภาพนกที่บางปู หมั่นซ้อมทุกปี แล้วจะเห็นว่า แต่ละปีจะได้ภาพที่ไม่ซ้ำกัน
|