ภาพชุดลำปาง 59 ตอนที่1
ทำบุญตักบาตรปีใหม่ 2559 ที่วัดจอมปิง
วัดจอมปิง เป็นหนึ่งใน 3 วัดที่สำคัญของอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งได้แก่ “วัดไหล่หิน” วัดเก่าแก่ที่สร้างเมื่อครั้งที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (พ.ศ. 2101 – 2317) หรือในสมัยที่กองทัพของพระเจ้าบุเรงนองวางแผนเข้ามาตีล้านนาเพื่อสมทบกำลังและเสบียง ก่อนจะยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา จนเสียกรุง(ครั้งที่1)แก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2112
ต่อมาได้แก่ “วัดพระธาตุลำปางหลวง“ ซึ่งเป็นวัดประจำจังหวัดลำปาง เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และเป็นวัดที่มีพระธาตุเจดีย์สูงที่สุดของภาคเหนือ
ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวัดลำปางหลวงก็คือเป็นวัดเอก หรือวัดหลวงของดินแดนล้านนา ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สำคัญได้แก่ “ซุ้มประตูโขง “ ที่วัดทางภาคเหนือจำนวนไม่น้อยนำไปเป็นต้นแบบเพื่อสร้างซุ้มประตูให้กับวัดของตน
วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดที่โดดเด่นสวยงาม สร้างบนเนินดิน และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อย
สมัยที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า และใช้บริเวณวัดเป็นกองบัญชาการหรือเป็นที่ตั้งทัพ หลังจากไล่ตีเมืองต่างๆจนราบคาบมาแล้ว
ต่อมาแม่ทัพพม่าที่มีชื่อว่า “ท้าวมหายศ“ ถูกหนานทิพย์ช้างซึ่งเป็นชาวบ้านได้ปลอมตัวเข้าไปลอบฆ่าจนเสียชีวิตแล้วหลบหนีออกไปทางหลังวัด ทหารพม่าจึงตามไปยิง แต่พระสุนพลาดไปถูกรั้วทองเหลืองที่อยู่รอบพระธาตุเจดีย์ ตามหลักฐานที่ปรากฏ
ทุกวันนี้วัดพระธาตุลำปางหลวงมี่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมและกราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่นวันขึ้นปีใหม่และวันสงกรานต์ จะมีมากเป็นพิเศษ
ส่วนวัดพระธาตุจอมปิง เป็นอีกวัดหนึ่งที่่อยู่ในรายการท่องเที่ยวของเกาะคา ลำปาง
เดิมนี้วัดนี้เป็นวัดประจำหมู่บ้านแบบทั่วๆไป คนภายนอกไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก แต่กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงและรู้จักไปทั่วประเทศ ก็เนื่องจากชาวบ้านที่เข้าไปนั่งฟังธรรมในพระอุโบสถหลังเก่า เห็นเงาพระธาตุปรากฏบนพื้นในคืนเดือนเพ็ญ จึงกลายเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่เล่าปากต่อปาก
ต่อมาข่าวนี้ก็แพร่กระจายออกไป และเป็นเรื่องราวบนหน้าหนังสือพิมพ์ กลายเป็นวัดที่มีคนรู้จักอย่างรวดเร็ว จึงมีผู้คนเดินทางมาดูปรากฏการณ์เงาพระธาตุกันเป็นจำนวนมาก

สำหรับพิธีทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ 2559 ของชาวบ้านจอมปิง ตำบลนาแก้ว อำเภอเกาะคา จัดขึ้นภายในบริเวณโรงเรียนบ้านจอมปิงที่อยู่ตรงกันข้ามกับวัด เป็นการจัดงานร่วมกันกับหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์จากวัดต่างๆมาร่วมในพิธีครั้งนี้ด้วย
พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ของที่นี่ดูจะแตกต่างจากที่อื่นๆ เข้าใจว่าวันนี้มีชาวบ้านมารวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก ทางวัดกับชุมชนจึงถือโอกาสประชาสัมพันธ์เรื่องราวต่างๆ มีการตั้งโต๊ะรับบริจาค และแจกทุนการศึกษาให้กับเด็กๆไปพร้อมๆกัน

มาที่วัดนี้รู้สึกแปลกใจที่สีของจีวรพระจึงไม่เหมือนกัน มารู้ทีหลังว่ามีพระจากวัดอื่นมาร่วมในงานด้วย
ในภาพชุดนี้จะเห็นว่าพระบางรูปห่มจีวรสีเหลืองเหมือนพระทั่วๆไป แต่บางรูปห่มจีวรสีออกแดง หรือสีแก่นขนุนเข้ม เช่นเดียวกับพระพม่าหรือพระทิเบต
เรื่องสีจีวรของพระสงฆ์ในบ้านเรา ดูจะเป็นปัญหาที่ยังไม่ลงตัว แม้จะมีประกาศจากคณะสงฆ์ให้จีวรมีสีเหมือนกัน หรือตามแบบสีที่กำหนดให้พระสงฆ์ได้ยึดปฏิบัติ แต่ดูเหมือนพระทางภาคเหนือจำนวนไม่น้อยจะไม่ยอมรับ อ้างว่าสมัยโบราณพระล้านนาก็ห่มจีวรกันแบบนี้
ปัญหาการปกครองของสงฆ์ทุกวันนี้ก็ยังมีให้เห็นเช่นเดียวกับอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับครูบาศรีวิชัย ท่านไม่ยอมรับกฏเกณฑ์ของพรบ.สงฆ์ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ในกรณีของการอุปัชฌาย์ หรือการบวชพระ ซึ่งตามระเบียบสงฆ์(จากส่วนกลาง) สมัยนั้นการที่จะอุปัชฌาย์ให้กับพระรูปใดจะต้องขออนุญาตจากเจ้าคณะแขวงที่ได้รับการแต่งตั้งเสียก่อน ซึ่งเป็นระเบียบที่ประกาศใช้หลังจากล้านนาได้เข้ามาผนวกรวมกับสยามประเทศ(ประมาณปี พศ.2440 เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สิ้นพระชนม์)
นอกจากนี้ท่านครูบาศรีวิชัยยังไม่ปฏิบัติตามกฏอีกหลายข้อเช่น การห้ามห้อยลูกปะคำ ที่พระทางภาคเหนือได้ยึดถือกันมานาน ซึ่งพรบ.ไม่ให้พระสงฆ์ห้อยเครื่องลางของขลัง แต่สมัยนั้นบรรดาครูบาทั้งหลายก็ยังฝ่าฝืนกันหลายรูป แม้ปัจจุบันก็ยังเห็นกันอยู่
พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์หรือสาวกทั้งหลายได้ยึดเอาพระธรรมหรือคำสั่งสอนของพระองค์เป็นสรณะ ไม่ไห้ไปนับถือสิ่งอื่นที่เป็นเรื่องนอกแนว เช่นการนับถือน้ำ บูชาน้ำ บูชาไฟ บูชาเจดีย์ หรือวัตถุมงคล เครื่องลางของขลังต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อนิพพาน สาวกต้องไม่กระทำ หากยังทำหรือยังยึดกับสิ่งเหล่านั้นก็ถือว่ามี "มิจฉาทิฐิ" ทันที แสดงว่าไม่เชื่อคำสอนและไม่เชื่อในการตรัสรู้ของตถาคต และคติของสาวกเหล่านั้นก็คือ นรก เดรีจฉาน เปรตวิสัย
ความเชื่อของคนล้านนาเมื่อร้อยกว่าปีเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นอยู่อย่างนั้น หรือแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
เช่นการนับถือพระอุปคุตของชาวมอญ-รามัญ ที่เชื่อกันว่าจะโผล่ออกมาจากสะดือทะเล เพื่อมาบิณฑบาตตอนเที่ยงคืนของวันพุธขึ้น 15 ค่ำ หรือวันพระที่ตรงกับวันพุทธ ที่เมื่อก่อนจะมีชาวเชียงใหม่ออกมาตักบาตรตอนเที่ยงคืน ซึ่งประเพณีความเชื่อเหล่านี้ได้เลิกลาไปนานแล้ว นับตั้งแต่พลวงพ่อปัญญานันทะได้มาเทศนาสั่งสอน สมัยที่ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดอุโมงค์เชิงดอยสุเทพ แต่ปัจจุบันได้ยินข่าวว่าความเชื่อแบบนี้ได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง
การออกพรบ.สงฆ์ในสมัย ร.6 ก็เพื่อใช้เป็นหลักปกครองให้สงฆ์ทั่วประเทศปฏิบัติเหมือนกัน เพื่อความเป็นปึกแผ่นของศาสนจักร โดยเฉพาะกับล้านนาที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีจารีตเป็นของตนเอง
ที่สำคัญกว่านั้นคือ คนล้านนาในสมัยโบราณจะนับถือผีเช่นเดียวกับคนลาว
จึงต้องมีการเลี้ยงผี บูชาผี (พวกสัมพเวสี) ในพิธีกรรมต่างๆ
กรณีเกิดวิกฤติสงฆ์ในดินแดนล้านนาเมื่อราว 85 ปีก่อน สมัยนั้น่พระครูบาศรีวิชัยไม่ปฏิบัติตามพรบ.สงฆ์ หลายครั้ง จึงถูกเจ้าคณะแขวงจังหวัดลำพูนควบคุมตัวไว้ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ต่อมาท่านได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราช จึงพ้นผิด
การปกครองสงฆ์ มีปัญหามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และดูเหมือนว่าจะลุกลามไปใหญ่โต แม้แต่การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์องค์ที่ 20 ที่จะมาแทนสมเด็จพระญาณสังวร ก็ยิ่งมีปัญหาหนัก จนถูกโยงให้เป็นปัญหาทางการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว
เวลานี้พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งพยายามที่จะเสนอให้กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) บรรจุให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
ซึ่งในอดีตเมื่อหลายปีก่อนก็มีกลุ่มสงฆ์ออกมาเดินขบวนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สำเร็จ แม้แต่การร่างกฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คณะกรรมการร่างก็ไม่เห็นด้วย
คำว่า "สงฆ์ไทยแตกแยก" เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว สาเหตุก็เพราะว่าสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่ยึดเอาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเป็นสรณะ ไม่ทำตัวเป็น "สาวก" ที่แปลว่าผู้เดินตามพระศาสดา มุ่งแต่จะพลิกแพลงคำสอน หรือเขียนคำสอนใหม่ให้เป็นคำสอนตามความเห็นของตนเอง การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการบ่อนทำลายพุทธศาสนาโดยตรง แต่สงฆ์ไทยกลับมองไม่เห็น
ที่มองไม่เห็นก็เนื่องจาก แทบไม่มีพระสงฆ์ไทยได้ศึกษาคำสอนของศาสดาอย่างแท้จริง จึงไม่รู้ว่าพระศาสดาสอนอะไร
แม้แต่ผู้ทีร่ำเรียนจนได้เปรียญ 9 ก็ไม่ได้เรียนรู้ศึกษาคำสอนของศาสดาอย่างถูกต้อง เนื่องจากไปศึกษาเรียนรู้คำสอนของสาวกที่แฝงตัวเข้ามาอยู่ในพระไตรปิฏก จนคำสอนแท้ๆของศาสดาเหลือเพียงแค่ร้อยละ 38 ที่เหลืออีกร้อยละ 62 กลายเป็นคำแต่งใหม่ หรือคำของสาวก(สาวกภาษิต)
ทุกวันนี้เมืองไทยมีคำสวดที่แต่งใหม่เต็มไปหมด พระก็สวดกันทั้งประเทศ ทั้งๆที่ไม่ไช่คำของพระศาสดา
ซึ่งพระจะต้องสวดแต่คำของศาสดาเท่านั้น และห้ามบัญญัติคำสวดใหม่
่คำสวดที่แต่งขึ้น หรือหนังสือธรรมมะที่เขียนขึ้นโดยเกจิอาจารย์ดังทั้งหลายก็เชื่อถือไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนถึงคำสอน(คำสวดหรือคำแต่งใหม่ของสาวก)ว่าหากมีผู้กล่าวถึง
"เธอจักไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง
และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน"
คำสวดคาถาชินบัญชร
สวดขอขมาพระรัตนตรัย อาราธนาพระปริตร อัญเชิญเทวดา พุทธชัยมงคลคาถา สวดพาหุง ฯลฯ เป็นของปลอมทั้งนั้น เป็นการสวดอ้อนวอน สวดกันทั้งชีวิตก็ไม่ได้ผลอะไร ซึ่งพระพุทธเจ้ากล่าวยืนยันไว้แล้วว่า หากไปยึดถือก็ไม่พ้นนรก ในทางตรงข้ามหากยึดเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะไม่ไปทางเสื่อม มีโอกาสเข้าถึงวิมุติ
" คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก" หมายถึงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และไม่มีคำว่าล้าสมัย
" คำสอนของพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว " หมายถึงไม่ต้องให้สาวก หรือแม้แต่อรหันต์มาบัญญัติเพิ่ม หรืออธิบายขยายความ
" คำสอนของพระองค์สมบูรณ์ทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง"
คำสอนของพระพุทธเจ้าสอดรับกันทั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้ายหรือตั้งแต่ตรัสรู้จนกระทั่งนิพพาน และพระองค์กำหนดสมาธิทุกครั้งก่อนคำสอนจะออกจากปากพระโอษฐ์
สิ่งที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นมรดกตกทอดที่สำคัญของพระพุทธเจ้าที่มีต่อชาวพุทธ แต่จะมีวัดใดบ้าง ที่เห็นเป็นแบบนี้ เนื่องจากเกือบทุกวัดมีแต่เจ้าแม่ เจ้าพ่อ องค์เทพต่างๆเยอะแยะไปหมด จะหาพระ หรือหาวัดที่หยั่งลงมั่นในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธะนั้นคงยากเต็มทน
และนี่คือสาเหตที่ศาสนาพุทธในเมืองไทยและในโลกนี้ เสื่อมหนักลงทุกวัน
ผิดกับศาสนาอื่นที่มีความเชื่อต่อคำสอนของศาสดาตนเองอย่างแท้จริง ไม่เฉไฉ ไม่แปรเปลี่ยน
พระเถระผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยคิดว่าศาสนาอื่นจ้องทำลายพระพุทธศาสนา จึงต้องการให้รัฐมาปกป้อง โดยพยายามพลักดันพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่เถระผู้ใหญ่เหล่านั้นกลับมองไม่เห็นความเสื่อมจากการที่วงการสงฆ์ด้วยกันเองก่อขึ้น และทำผิดตามๆกันมา รู้ทั้งรู้ว่าไม่ถูกแต่ก็ไม่พยายามแก้ไข
คำถาม เช่น
* พระฉันท์อาหารได้วันละกี่มื้อ ซึ่งปัจจุบันมีทั้ง 1 มื้อ และ 2 มื้อ
* ทำไมพระสายธรรมยุต กับ มหานิกาย จึงลงโบสถ์ร่วมกันไม่ได้
ทั้งๆที่ต่างก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า และกรณีที่มี 2 นิกายนี้ก็เป็นที่มาของศึกแย่งชิงพระสังฆราชในหลายยุคหลายสมัย
* พระพุทธเจ้าเปรียบคนเหมือนดอกบัว 3 จำพวกหรือ 3 เหล่าตามพระไตรปิฏกดั่งเดิม แต่พระไทยไปแก้คำของพระพุทธเจ้าเป็น 4 เหล่า ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าทำผิดอย่างมหันต์ และทำผิดต่อศาสดาของตนเอง จนตำราทั่วไปก็พูดถึงแต่บัว 4 เหล่า
การที่จะปฏิรูปพุทธศาสนาหรือกำหนดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็ต้องปฏิรูปพระสงฆ์ด้วยกันเองก่อน โดยกลับไปเดินตามรอยหรือเดินตามคำสอนของพระศาสดา
โฟโต้ออนทัวร์
16 มกราคม 2558
|