หอชมเมือง สูง 459 เมตร
459 เมตร สูงที่สุดติดอันดับโลก ว่าที่แลนด์มาร์คแห่งของกรุงเทพฯริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับโครงการ ICON SIAM โดยด้านบนหอคอยที่ระดับความสูง 357.5 เมตร เป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักสิทธิ์ ศูนย์การเรียนรู้ฯ และจุดชมวิว
The render of of "New Bangkok Observatory Tower", one of the world tallest tower 459 m on Bangkok's Chao Phraya riverside next to the latest shopping complex, ICON SIAM. The observation desk as well as the city's learning centre locate at the 357.50 m leve
ภาพหอชมเมือง กรุงเทพ

ภาพจากไทยรัฐออนไลน์
นายทุน แปลงร่างเป็นนักบุญ?
เมื่อวานคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้เอกชนก่อสร้างหอชมเมือง บนที่ดินราชพัสดุ โดยให้เอกชนในนามมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เช่าที่ดินแปลงหมายเลข กท.3257 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4 ไร่เศษ เป็นแปลงที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะยาว 30ปี คิดค่าเช่า198 ล้านบาท ตกปีละ 6.6 ล้านบาท โดยไม่ต้องประมูลการเช่า
แน่นอนว่ามีข้อสงสัยอยู่ว่าทำไม" เอกชน" เช่าที่ดินราชพัสดุ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยไม่ใช้วิธีการประมูล ทั้งที่กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุ พ.ศ.2545 ข้อ 26 กำหนดว่า การเช่าที่ราชพัสดุ "ต้องใช้วิธีการประมูล "
แต่การที่คณะรัฐมนตรี ยกเว้นว่าการที่เอกชนรายนี้ โดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเช่าที่ราชพัสดุในครั้งนี้โดยไม่ต้องประมูล โดยอ้างว่า มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เช่าที่ราชพัสดุเพื่อใช้ในกิจการอันเป็นสาธารณกุศลที่ไม่ได้มุ่งหาผลกำไร เลยยกเว้นว่าไม่ต้องประมูล ตามข้อ 26 (6) https://goo.gl/4jMcUZ
แน่นอนอีกว่า การเช่าที่ราชพัสดุของมูลนิธิหอชมเมืองฯ เช่าได้ในราคาที่ถูกแสนจะถูก โดยไม่มีคู่แข่งให้วุ่นวายใจ และรัฐก็เสียประโยชน์จากการที่ไม่มีการแข่งขันราคาเช่าใดๆ
จึงตั้งคำถามต่อไปว่า มูลนิธิหอชมเมืองฯ มีที่มาอย่างไร?
มูลนิธิหอชมเมือง จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 มีวัตถุประสงค์หลักคือ ก่อสร้างและบริหารวัตถุเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น ห้าแสนบาทถ้วน มีนายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอีก 4คน https://goo.gl/sisg15
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 มีการจดทะเบียนแก้ไขวัตถุประสงค์มูลนิธิฯ ข้อ 1 เป็น ก่อสร้างและบริหารหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร https://goo.gl/8inVKa
สำหรับประธานกรรมการมูลนิธิฯ นี้ นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ เป็น CEO ของ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ ซีพี https://goo.gl/sjtpch
กรรมการมูลนิธิฯคนที่สอง นายสุทธิลักษณ์ วินทุพราหมณกุล เป็นกรรมการบริษัท ดีซี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือซีพี
กรรมการมูลนิธิฯคนที่สาม นางสาวอารยา จิตตโรภาส เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเนียรนพ ซึ่งในปลายปีที่แล้วศาลล้มละลายได้ประกาศพิทักษ์ทรัพย์
กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ นายชลชาติ เมฆสุภะ เป็น รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เป็นบริษัทที่พัฒนาโครงการ “ไอคอนสยาม” (Icon Siam) ที่อยู่ใกล้ที่ดินแปลงนี้ https://goo.gl/qxDwJT
ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการมูลนิธิฯ เป็น นายพนัส สิมะเสถียร ปัจจุบันเป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือหุ้นในบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เป็นบริษัทที่พัฒนาโครงการ “ไอคอนสยาม” (Icon Siam) ที่อยู่ใกล้ที่ดินแปลงนี้
จึงต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลนี้ต่อไปว่า
การให้เอกชนผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พวกนี้ สวมรอยใช้ที่รัฐแบบราคาถูก แฝงเป็นองค์กรสาธารณกุศล ทำธุรกิจ เพิ่มมูลค่าที่ดิน ถูกต้องแล้วหรือ?
ที่มา เฟชบุ๊ค Apichat Pongsawat
28 มิย.60
"หอชมเมืองกรุงเทพฯ" จะลงทุนก่อสร้างโดย "มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร" ที่มีงบประมาณจากเงินกู้และเงินบริจาคจากบริษัทเอกชน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 มิ.ย. 2560 ได้อนุมัติให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้าง "หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร" สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
โครงการหอชมเมืองกรุงเทพเกิดขึ้นสืบเนื่องจาก คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ โดยพื้นที่โครงการนี้จะตั้งอยู่ในซอยเจริญนคร 7 ถนนเจริญนคร
โครงการดังกล่าวจะดำเนินการก่อสร้างโดย "มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร" ซึ่งเป็น "องค์กรเอกชน" ได้ประเมินงบลงทุนไว้ที่4,621.47ล้านบาท เป็นเงินตั้งต้นของมูลนิธิ 5 แสนบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 2,500 ล้านบาท เงินบริจาคจากบริษัทเอกชนชั้นนำ 2,100 ล้านบาท
นอกจากนี้ได้มีประมาณการรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม 1,054 ล้านบาท/ปี ประมาณการราคาตั๋วที่ 750 บาท/คน คนไทยลด 50% มีค่าใช้จ่ายปีละ 892 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยปีละ 38 ล้านบาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายนำไปบริจาคองค์กรสาธารณกุศล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท และเป็นการนำที่ดินของรัฐเข้าไปร่วมดำเนินการโดยตีราคาค่าเช่าระยะ 30 ปีเป็นเงินร่วม ลงทุนกับเอกชนจำเป็นต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า "สาเหตุที่โครงการนี้ไม่ให้มีการเปิดประมูล เนื่องจากจะทำให้มีความล่าช้าและอาจส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการ รวมทั้งอาจไม่มีเอกชนรายใดสนใจดำเนินโครงการ"
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นของหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะมีความสูง 459 เมตร มีวัตถุประสงค์การสร้างและบริหารถาวรวัตถุที่มีเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นแลนด์มาร์คดึงการท่องเที่ยว
ในส่วนของชั้นบนสุดของหอชมเมืองฯ จะเป็นโถงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรี พระบรมราชวงศ์เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราช ประดิษฐานรูปหล่อพระคลังมหาสมบัติ พร้อมแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาทุกๆ ด้าน
ที่มา โพสต์ทูเดย์
24 มิย.60
สูงสุดในไทย! เจาะ 10 ข้อ กว่า 4 พันล้าน หอชมเมือง แลนด์มาร์กริมเจ้าพระยา
"เคาะแล้วนะจ๊ะ! ทางการเขาเคาะงบประมาณการสร้าง ‘หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร’ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ว่ากันว่าสูงที่สุดในประเทศไทยกันแล้ว จริงๆ โครงการนี้เขาเริ่มต้นเสนอและวางพื้นที่การก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่มีข่าวอัพเดตใหม่"
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักหอสูงเสียดฟ้าแห่งนี้ ไทยรัฐออนไลน์อาสาพาไปทำความรู้จัก 10 ข้อเกี่ยวกับแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองไทยกันซะหน่อย จะน่าสนใจยังไงบ้าง? ตามมาดู..
1 ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ทาง ครม. มีมติเห็นชอบให้โครงการการก่อสร้างหอชมเมือง เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ในวงเงิน 7,621 ล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบในการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ดำเนินโครงการ
2. ต่อมาช่วงต้นปี 2560 มีการดำเนินการเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ในการสร้างหอชมเมือง เช่น การสรรหาพื้นที่ของรัฐในการสร้าง ยื่นแบบขออนุญาตต่างๆ โดยพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณ เจริญนครซอย7 ถนนเจริญนคร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เพจ Drama Addict ระบุข้อมูลอีกว่า "มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพฯ จะเป็นโต้โผงานนี้ โดยจะกู้ 2.5 พันล้าน แล้วร่วมกับเงินของเอกชนที่จะไประดมทุนกัน 2.1 พันล้าน มารวมกันเป็นงบก่อสร้าง 4.6 พันล้าน แล้วเช่าที่ของรัฐไปร่วมดำเนินการ 30 ปี เลยต้องให้รัฐเป็นคนอนุมัติก่อน แต่งบไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงบประมาณของรัฐแต่ประการใด"
3. โครงการนี้ ได้ผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีไอเอ แล้ว และเดิมจะดำเนินการก่อสร้าง โดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน โดยประเมินงบลงทุนครั้งแรกไว้ที่ 4,000 ล้านบาท
4. ล่าสุด มีรายงานว่าพื้นที่ดังกล่าวในย่านเจริญนคร กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อนสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ อาคารคอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้าต่างๆ และยังแว่วมาว่ากำลังจะสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ในย่านดังกล่าวด้วย
5. สำหรับงบประมาณในการก่อสร้าง มีความน่าสนใจคือ โครงการนี้ไม่ให้มีการเปิดประมูล เพราะอาจจะทำให้ล่าช้า แต่ให้ดำเนินโครงการไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ปรัชญาแห่ง "ศาสตร์พระราชา" และความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ และให้นำรายได้ที่เหลือจากการดำเนินโครงการฯ หลังหักค่าใช้จ่ายไปดำเนินการเชิงสังคม โดยไม่ให้นำมาแบ่งปันกัน
6. หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นหอคอยที่สุดที่สุดในเมืองไทย เพราะมีความสูงถึง 459 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 22,281 ตร.ม. เมื่อเทียบกับหอคอยแห่งอื่นๆ ในไทย ได้แก่ หอสูงพัทยาปาร์คทาวเวอร์ที่สูง 240 เมตร - หอชมเมืองสมุทรปราการสูง 179.5 เมตร หอคอยเทอร์มินอล 21 โคราช สูง 110 เมตร
7. เมื่อเทียบกับตึกสูงแห่งอื่นๆ ทั่วโลก พบว่า หอชมเมืองกรุงเทพฯ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีความสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก (แบบการก่อสร้างยังไม่เป็นทางการ) โดยเปรียบเทียบกับตึกสูงต่างๆ ดังนี้
Tokyo Skytree จุดสูงสุด 634 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 450 เมตร
Bangkok Observation Tower ; จุดสูงสุด 459 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 357.50 เมตร
Canton Tower (Guangzhou) จุดสูงสุด 595.70 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 449 เมตร
Kuala Lumpur Tower จุดสูงสุด 421 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 276 เมตร
8. หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุค ด้วยการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย ตามนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0
9. บนจุดชมวิวของหอชมเมืองกรุงเทพฯ จะสามารถชมเห็นวิวทิวทัศน์รอบโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นวิวฝั่งตึกแคตเทเลคอม ไปรษณีย์บางรัก และตึกสูงอื่นๆ อีกมากมาย ได้เห็นความสวยงามทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในแบบ 360 องศา จากมุมสูงได้ทั่วกรุงเทพฯ
10. เนื่องจากหอคอยสูงแห่งใหม่นี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจ มีชุมสายการเดินทางทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และการสัญจรทางเรือ อีกทั้งรอบๆ พื้นที่ก็มีการเติบโตด้านที่พักอาศัย โรงแรม ร้านอาหาร ไลฟ์สไตล์มอลล์ เรียงรายอยู่ทั้ง 2 ฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในอนาคตคาดว่า หอชมเมืองฯ จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี
ที่มา เว็บไซต์ ไทยรัฐ
แบบแปลน หอชมเมืองกรุงเทพ

 
ราชกิจจานุเบกษา จัดตั้งมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร
(คลิกที่ภาพ)

|