Japan Tour Part 5
ภาพท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ตอนที่ 5 สัมผัส อิซาวา เมืองในชนบท
(เดินทาง
สิงหาคม 2556)
เที่ยวญี่เที่ยวญี่ปุ่นตอนที่ 4 หรือตอนที่แล้ว เป็นตอนไปซ้อปปิ้งที่ “โกเท็มบะ เอ้าท์เล็ต “ (Gotemba Premium Outlet) ของเมืองอิชาว่า ซึ่งเป็นแหล่งซ็อปปิ้งที่อยู่กลางป่าหรือในเขตอุทยานฯ สินค้าส่วนใหญ่เป็นพวกแบรนด์ดังจากต่างประเทศและสินค้าเกรดพรีเมี่ยมของญี่ปุ่น
สำหรับตอนที่ 5 นี้ เป็นการเดินทางจากโกเท็บบะเอ้าท์เล็ตสู่เมือง “อิซาว่า” ที่จะพักในคืนนี้ ใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงเศษๆ หากคิดเป็นระยะทางก็น่าจะราว 80 กม.
ระหว่างเดินทางมีฝนตกเป็นช่วงๆ และวันนี้ฟ้าปิดตลอดทั้งวันชนิดไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ขณะนั่งรถก็ยังนึกหวั่นว่าโปรแกรมขึ้น“ภูเขาไฟฟูจิ” ในวันพรุ่งนี้จะออกหัวหรือออกก้อย เนื่องจากขณะนี้เราได้เดินทางมาใกล้ภูเขาฟูจิแล้วแต่กลับมองไม่เห็นอะไรเลย แต่ก็ยังใจชื้นขึ้นมาบ้างที่กรมอุตุรายงานว่าพรุ่งนี้ตอนสายๆท้องฟ้าจะเปิด หากเป็นเช่นนั้นจริงก็พอจะมีโชค
สำหรับการท่องเที่ยวกรุงโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะมีโปรแกรมเที่ยวเมืองต่างๆที่อยู่รอบๆภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งแต่ละเมืองก็จะมีสถานท่องเที่ยวที่น่าสนใจแตกต่างกันไปตามฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงดอกซากุระและดอกไม้นานาพันธ์บานสะพรั่งเต็มท้องทุ่งโดยมีภูเขาไฟฟูจิเป็นฉากหลัง
ไกด์ญี่ปุ่นบอกว่าประเทศญี่ปุ่นสามารถเที่ยวได้ทั้งปี(โม้หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ)
ชนบทของญี่ปุ่นในระหว่างการเดินทาง
การเดินทางไปยังเมืองอิซาว่า มีสิ่งที่น่าสนใจตลอดทาง โดยเฉพาะหมู่บ้านในชนบทที่อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่ต่างกับชนบทของประเทศจีน ที่แปลกก็คือในชุมชนหรือในหมู่บ้านจะมีนาข้าวเป็นหย่อมๆ เหมือนกับว่าที่ไหนมีที่ว่างก็จะปลูกข้าวและพืชผักสวนครัว
บ้านในชนบทส่วนใหญ่ไม่มีรั้ว ถนนในหมู่บ้านเรียบร้อยสวยงาม ราดยางอย่างดี ป้ายจราจรที่พอจะมองเห็นมีความชัดเจนและให้ความปลอดภัยไม่แพ้ในตัวเมืองใหญ่ๆ
ขณะนั่งรถก็ยังเห็นระบบชลประทาน มีลำรางเพื่อส่งน้ำไปยังแปลงนาหรือพื้นที่เพาะปลูก น้ำใสและไหลแรง เข้าใจว่าน่าจะมาจากเทือกภูเขาไฟฟูจิที่เกิดจากการละลายของหิมะ
ใครที่เห็นภาพชุดนี้อาจแปลกใจว่านี่เป็นชนบทหรือเป็นบ้านนอกของญี่ปุ่นหรือ..ตอบว่าไช่ครับ บ้านนอกของญี่ปุ่นเป็นแบบนี้จริงๆ บางเมืองอาจมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน ส่วนบ้านเราเรื่องรถไฟความเร็วสูงคงต้องรอชาติหน้า เนื่องจากถนนราดยางยังสร้างไม่หมด
หรือต้องรอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ล้มหายตายจากไปก่อน
ช่วงนี้เห็นแต่ท้องนาสีเขียว ยิ่งเจอฝนแบบนี้ก็ดูสดชื่นและเป็นชนบทจริงๆ แต่เป็นชนบทที่พัฒนาแล้ว เกษตรกรญี่ปุ่นมีความรู้ในด้านการเกษตร และมีความเป็นอยู่ที่ดี ต่างกับบ้านเราที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจนและเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ชาวนาในบ้านเราจึงต้องปากกัดตีนถีบ เพื่อช่วยตัวเองมาตลอด
เรามีกรมส่งเสริมการเกษตรในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ แต่ก็ไม่เคยเห็นว่าจะมีผลงานอะไรที่ช่วยส่งเสริมการเกษตรหรือให้ความรู้กับเกษตรกรในการพัฒนาอาชีพ เกษตรกรในบ้านเราจึงพึ่งตนเองทั้งนั้น หรืออาจไปหาความรู้กับเกษตรกรตัวอย่างหรือชุมชนที่ประสบความสำเร็จที่รู้จักกันในชื่อ"ศูนย์ศึกษาการเรียนรู้"
กรมส่งเสริมการเกษตรน่าจะมีบทบาทมากกว่านี้ เนื่องจากเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ชาวนาชาวสวนน่าจะพึ่งพาภาครัฐทางด้านวิชาการ เรามีหน่วยวิจัยงานการเกษตรมากมาย แต่ผลวิจัยที่เป็นประโยชน์ได้มีการถ่ายทอดมาถึงเกษตรกรหรือไม่ ก็ยังเป็นข้อสงสัย
มาเที่ยวญี่ปุ่นครั้งนี้ได้ยินเรื่องราวของเกษตรกรของญี่ปุ่นแล้วก็น่าอิจฉา เนื่องจากมีตัวช่วยหลายหน่วย เช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานวิจัยทั้งจากจากภาครัฐและเอกชน
การช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆมีบทบาทสำคัญต่อเกษตรกร ส่วนหนึ่งก็คือจำนวนเกษตรกรในญี่ปุ่นมีเพียงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ไทยเรามีมากถึงร้อยละ 37 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นภาระให้กับรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิต
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าคนญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่เป็นคนที่มีคุณภาพทางการศึกษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันเกษตรกรของญี่ปุ่นก็มีความรู้เรื่องการเกษตร และยังเข้าใจในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม
เรื่องพืชผักปลอดสารพิษจึงเป็นเรื่องปกติที่อยู่ในจิตใจของคนญี่ปุ่น รู้คุณรู้โทษ จนเรียกได้ว่าพืชผักผลไม้ที่วางขายในญี่ปุ่นปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์
สำหรับประเทศเกาหลีที่เคยไปเที่ยวนั้น ไกด์บอกว่าพืชผักส่วนใหญ่ปลอดสารพิษ ซึ่งใช้คำว่า “ส่วนใหญ่” แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วทำได้ถึงขั้น 100 เปอร์เซ็นต์ ใครไปเที่ยวญี่ปุ่นจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้
บ้านเราหากยังจำกันได้ว่าในสมัยที่ ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่า กทม.(ปี 2539-2543) และมีนโยบายที่จะให้มีหน่วยงานสุ่มตรวจสารพิษในพืชผักผลไม้ตามตลาดค้าส่งที่มีอยู่รอบเมือง โดยจะตรวจสอบก่อนที่จะส่งเข้ามาขายในกทม. ซึ่งหากทำได้จริงคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯก็จะดีขึ้น เนื่องจากผักและผลไม้มีความปลอดภัยขึ้น
โครงการนี้กำลังไปได้ดี และได้รับการปรบมือจากคนกทม.ทั่วสารทิศ ถึงขนาดที่เจ้าของตลาดค้าส่ง พ่อค้าส่ง และเกษตรกร กำลังหาทางปรับตัวให้สอดรับกับนโยบายนี้
แต่ผู้ว่า พิจิตต รัตตกุล ต้องมาหมดวาระเสียก่อน และผู้ว่าคนถัดมาก็คือ นายสมัคร สุนทรเวช ก็ไม่ได้สานต่อ เนื่องจากไม่ใช่นโยบายของตน หากคิดจะสานต่อจนสำเร็จ คะแนนเสียงก็ตกเป็นของ ดร.พิจิตต รัตตกุล
เมืองอิซาว่า
รถพามาถึงเมืองอิซาว่าเอาตอนใกล้จะมืด ขณะกำลังแยกออกมาจากทางด่วนก็มีความรู้สึกว่าเมืองนี้มีทิวทัศน์สวยงาม และเป็นเมืองเกษตรกรรม ที่เห็นมากก็น่าจะเป็นไร่องุ่น ยังแปลกใจว่าญี่ปุ่นเค้าทำสวนทำไร่กันในเมือง ต่างกับบ้านเราที่ต้องออกนอกเมืองไปไกลๆ
โรงแรมที่เรามาพัก เป็นโรงแรมประเภทออนเซ็น (Onsen) หรือโรงแรมสปาที่มีน้ำแร่ให้แช่อาบ ความหมายของออนเซ็นก็คือการแก้ผ้าแช่น้ำแร่ตามธรรมเนียมของญี่ปุ่น ห้องน้ำแร่จะเป็นห้องรวมแต่แยกหญิงชายไม่ปะปนกัน ในห้องจะมีที่เปลี่ยนเสื้อผ้า พอแก้ผ้าเสร็จแล้วก็ต้องอาบน้ำล้างตัวด้วยน้ำอุ่น จากนั้นก็เดินลงอ่างได้เลย
การแช่น้ำแร่ก็ต้องรู้เทคนิคและวิธีการซึ่งไกด์จะแนะนำอย่างละเอียดก่อนที่รถจะพามาถึงโรงแรม ปกติอุณหภูมิของน้ำแร่แต่ละแห่งจะไม่เท่ากัน (อยู่ระหว่าง 37-42 องศา)บางแห่งก็ให้แช่ประมาณ10 นาที หรือ 20 นาที แล้วจึงขึ้นมาอาบน้ำ เสร็จแล้วค่อยลงแซ่ใหม่ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ
สำหรับคนไทยคงแช่กันไม่ค่อยนานนัก บางคนบอกมาแล้วก็ขอลองสักครั้ง แต่หลายคนลองแล้วติดใจ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เลือดลมเดินสะดวก ตัวเบา โล่ง โปร่งสบาย
ใครติดใจสามารถใช้บริการได้ในเมืองไทย ขณะนี้มีหลายแห่งสนนราคาตกคนละ 4-5 ร้อยบาท หากมาเป็นครอบครัวหรือหมู่คณะก็อยู่ที่หัวละ 250 บาท นอกจากนี้ก็มีห้องวีไอพี อาบคนเดียว(หรือสองคน)โดยไม่ต้องปะปนกับคนอื่น
เรื่องออนเซ็นคงต้องระวังบ้างสำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพ อาจมีอาการหน้ามืดได้ โดยเฉพาะคนเป็นโรคความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆจุ่มตัวลงอ่าง หรือหากเผลอแช่นานเกินไปก็อาจมีอาการหน้ามืด(ไกด์บอกว่าตนเองเคยหน้ามืดมาแล้ว โชคดีที่มากับแม่)
สำหรับคนไทยที่ยังแหยงๆกับการแก้ผ้า โรงแรมบางแห่งจะมีห้องออนเซ็นแบบวีไอพีไว้บริการ สามารถใช้บริการ 2-3 คน/ห้อง แต่ต้องจ่ายเพิ่ม แนะนำว่าหากมาถึงโรงแรมแล้วให้รีบจองทันที ยิ่งคนไทยมาพักกันมากก็อาจไม่ว่าง หรืออาจว่างเอาตอนเที่ยงคืนหรือตี 1 ก็คงรอไม่ไหวแน่
โรงแรมแบบออนเซ็น
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะบอกกล่าวก็คือ บรรยากาศของห้องพักในโรงแรมออนเซ็น(น่าเกือบทุกแห่งในญี่ปุ่น)จะออกแบบเป็นบ้านสไตล์ญี่ปุ่นแบบย้อนยุค แต่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ห้องพักแบบนี้เป็นห้องโล่งๆไม่มีเตียง ส่วนที่นอนจะเป็นผ้านวมผืนใหญ่ปูบนพื้นหรือบนเสื่อ ดูแล้วก็คงไม่ต่างกับนอนในบ้านไทยโบราณหรือนอนบนพื้น
ปกติห้องพักแบบญี่ปุ่นจะใหญ่โตกว่าห้องพักตามโรงแรมทั่วไป ภายในห้องที่พอจำได้ เช่นมีห้องนั่งเล่นสำหรับดูทีวี กินน้ำชา รับแขก ถัดมาก็เป็นห้องนอน ระหว่างห้องก็มีบานเลื่อนปิด-เปิด ตัวบานเลือนจะเป็นไม้รูปตารางสีเหลี่ยม บุด้วยกระดาษสีขาวเช่นเดียวกับที่เห็นในภาพยนตร์ญี่ปุ่น
สำหรับห้องน้ำจะอยู่ด้านนอกแยกมาอีกโซน ไม่ปะปนกัน
ในห้องนอนจะมีชุด“ยูกาตะ” ซึ่งเป็นชุดลำลองของญี่ปุ่นให้สวมใส่ โดยบังคับว่าให้สวมชุดนี้ลงมาทานข้าวมื้อเย็นแบบญี่ปุ่น ดังนั้นพอถึงเวลานัดทานข้าวคนไทยก็แปลงโฉมเป็นญี่ปุ่นกันหมดทุกคน
มื้อค่ำของโรงแรมออนเซ็นที่คนไทยมาพัก คงหนีไม่พ้นเมนู “ขาปูยักษ์“ ตามที่ลงโฆษณาในโปรแกรมทัวร์ของแต่ละบริษัท
นี่ก็ขออธิบายแบบคร่าวๆ ใครอยากสัมผัสของจริงก็ต้องมาเที่ยวญี่ปุ่นกันนะครับ
ตอนนี้ค่าทัวร์มาเที่ยวญี่ปุ่นราคาถูกกว่าแต่ก่อนเยอะ เนื่องจากมีการแข่งขันกันมาก ราคาก็ขึ้นอยู่กับระดับโรงแรมที่พักและเมนูอาหาร อย่างอื่นก็เหมือนๆกัน
ใครต้องการประหยัดก็เลือกใช้บริการที่มีราคาถูก ดีหน่อยค่าทัวร์อาจแพงขึ้น แย่หน่อยหรือแย่มากก็ “ทัวร์ผี”ที่บางคนถูกหลอกมาแล้ว
บางคนเชื่อตามกระแสในโซเชี่ยลมีเดีย ประเภทเฮไหนเฮนั้น หลายคนคอมเม้นท์ว่าที่นั่นดีจึงซื้อบริการ แบบนี้โดนกันมาเยอะแล้วครับ ทั้งทัวร์ญี่ปุ่นและเกาหลี การตัดสินใจเลือกใช้บริการจึงควรให้ความสำคัญและมั่นใจจริง ทัวร์ราคาถูกมากก็ต้องระวัง ทัวร์พาไปไหน พักที่ไหน กินแบบถูกๆต้นทุนต่ำหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เนื่องจากไม่มีการเปรียบเทียบกับของบริษัทอื่น
ทุกวันนี้ธุรกิจท่องเที่ยวประเภท Outbound หรือเที่ยวต่างประเทศในบ้านเราผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด บางคนขายผ่านเว็บไซต์ ขายผ่าน Facebook หรือผ่านช่องทางอื่น เช่นผ่านตัวแทน ทีมีมากมายและกินค่านายหน้าหรือค่าคอมฯกันเป็นทอดๆ ชนิดที่คนขายอาจไม่รู้จักตัวตนของบริษัททัวร์อย่างแท้จริง
อรุณสวัสดิ์ที่เมืองอิซาว่า
เช้านี้ตื่นแต่มืด... ปกติก็จะตื่นเช้าเป็นประจำทุกครั้งที่มาเที่ยวต่างประเทศ
การตื่นตอนเช้าๆสำหรับประเทศที่เวลาต่างกับบ้านเรา เป็นสิ่งที่ลำบากใจพอสมควร เช่นเวลาในญี่ปุ่นเร็วกว่าบ้านเราถึง 2 ชั่วโมง หรือตื่นตี 5 ก็เท่าตื่นตอนตี 3 ในบ้านเรา ถามว่าไหมไม๊ ก็ตอบว่าไหวครับ เรามาเที่ยว เรื่องนอนเรื่องเล็ก ง่วงนักก็งีบบนรถในขณะเดินทาง
ตอนตื่นนะลำบาก แต่พอตื่นแล้วก็ปรับตัวได้ เนื่องจากฟ้าสางแล้ว
เมืองอิซาว่าในเช้านี้ (8 มี.2556) อากาศสดชื่นมาก อากาศนาวกำลังพอดี อุณหภูมิน่าจะราว 16-17 องศา ตื่นขึ้นมาก็มองเห็นเมืองได้รอบทิศ เนื่องจากตึกสูงๆมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารบ้านเรือน และสวนพืชผักผลไม้
สภาพเมืองอิซาว่าดูไม่ต่างกับเมืองในชนบทที่ผ่านมาเมื่อวานนี้ เช่นมีบ้านคนสลับกับนาข้าวและสวนพืชผักผลไม้ ผลไม้ที่ปลูกมากที่สุดของเมืองนี้ได้แก่ต้นพีชและองุ่น
ต้นพีชปลูกเรียงเป็นระเบียบริมถนนที่ผ่านหน้าโรงแรม ดูเหมือนจะเป็นต้นไม้ประจำเมืองนี้
สำหรับองุ่น ดูแล้วน่าจะเป็นองุ่นพันธ์ไม้เลื้อย ไม่ค่อยเห็นมีการตัดแต่งกิ่งก้านแบบบ้านเราที่ดูด้วนๆ
ใกล้กับโรงแรมเห็นมีโรงงานผลิตไวน์(จากองุ่น) จึงเดาว่าที่นี่น่าจะมีชื่อเรื่ององุ่น ซึ่งความจริงประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่ององุ่นมาก และหลากหลายสายพันธ์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการวิจัยเพื่อหาพันธ์ใหม่ๆออกมาเรื่อยๆ
มาเที่ยวญี่ปุ่นจึงต้องหาองุ่นทานให้ได้ จะแพงแค่ไหนก็ต้องหาซื้อมาชิมกัน เนื่องจากของเค้าดีจริงๆ ใครชอบทานองุ่นจากจีนแล้วมาลองของญี่ปุ่นก็จะรู้ว่าแตกต่าง โดยเฉพาะองุ่นแดงพวงเล็กๆที่วางขายตามห้างและราคาค่อนข้างถูก
องุ่นแดงลูกเล็กตอนที่ซื้อจากห้าง(อีออน)เมืองนาริตะ รู้สึกรสชาติดี หนุ๋บๆ หนึบๆ คล้ายทานสาคู ปรากว่าพอมาถึงเมืองไทยติดใจทุกคน เพราะมันแปลกกว่าองุ่นจีนหรือองุ่นที่ขายในบ้านเรา
องุ่นแห้งของญี่ปุ่นก็มีชื่อนะครับ แต่ละเมืองเค้าจะมีผลิตภัณฑ์จากองุ่นที่แตกต่างกัน และปกติก็จะขายที่เมืองนั้นๆ ไม่ข้ามเขตข้ามจังหวัด ใครอยากทานก็ต้องไปเที่ยวที่นั่น
สินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า OTOP ในบ้านเราที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯทักษิณ ได้ยินว่านำรูปแบบนี้มาจากญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
แต่ปรากฏว่าเราเอาของเค้ามาไม่หมด
คือของเค้านั้นสินค้า 1 ตำบล จะวางขายเฉพาะในจังหวัดนั้นๆ จะไม่ส่งไปขายในจังหวัดอื่นๆ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น ส่วนจังหวัดอื่นๆก็จะมีผลิตภัณฑ์ OTOP ของตนเองที่ไม่ซ้ำกัน
ยกตัวอย่างเช่นข้าวแต๋นที่มีชื่อของลำปาง ปรากฏว่าตอนแรกๆขายดีจนผลิตไม่ทัน แต่ปัจจุบันมีการลอกเลียนแบบ กลายเป็นสินค้ากึ่งอุตสาหกรรม ใช้เครื่องจักรมากขึ้น ใช้แรงงานน้อยลง แถมยังพัฒนาต่อยอดจนเหนือกว่าข้าวแต๋นลำปางที่เป็นต้นตำรับ
ปัจจุบันข้าวแต๋นมีวางขายทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ จึงหาทานได้ไม่ยาก กลายเป็นของเฟ้อ
สำหรับสินค้าโอท็อปของญี่ปุ่น สามารถสร้างกฎกติกาให้ขายเฉพาะถิ่นได้ เนื่องจากคนญี่ปุ่นเคร่งครัดเรื่องระเบียบวินัย จึงทำให้แต่ละเมืองหรือแต่ละหมู่บ้านยังรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
แม้แต่ไกด์ก็ยังแนะนำว่าหากสนใจอะไรก็ควรตัดสินใจทันที พอออกจากเมืองนี้แล้วก็อาจหาซื้อไม่ได้ เช่นองุ่นแห้ง แต่ละเมืองก็จะแตกต่างกัน บางแห่งมีชื่อเรื่ององุ่นแห้งลูกเล็ก บางแห่งมีชื่อองุ่นลูกโต รสชาติและราคาก็แตกต่างกันด้วย
นี่พูดถึงสินค้าท้องถิ่นที่เป็นสินค้าโอท็อปนะครับ ส่วนสินค้าทั่วไปก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านของฝากและซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป
พูดถึงของฝากจากญี่ปุ่นนั้นมีหลากหลายมากมายทีเดียว แต่เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อใครมาญี่ปุ่นก็จะต้องรู้จักขนมหรือของฝากที่ถูกปากคนไทย และถูกใจคนรับ นั่นก็คือขนม “ โตเกียวบานาน่า “
ก็เกริ่นพอเป็นน้ำจิ้มก่อนว่าเป็นของฝากอันดับ 1 ที่ต้องซื้อให้ได้ ราคาก็ไม่แพงครับ แต่รสชาติดีชนิดทานแล้วก็เห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์ว่าได้คะแนนเต็มทั้งรสชาติและการบรรจุหีบห่อ ที่สำคัญคือเป็นของฝากที่ดูดี มีราคา และประทับใจผู้รับ
ที่เขียนแนะนำขนมโตเกียวบานาน่า ก็เนื่องจากว่ามีขายเพียงแห่งเดียวในประเทศญี่ปุ่น คือที่ ”สนามบินนาริตะ“ ไม่สามารถหาซื้อในที่อื่นๆได้
น่าแปลกนะครับของฝากยอดฮิตที่คนไทยรู้จัก และซื้อกันแบบยกโหล มีขายเฉพาะสนามบินนาริตะเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ไม่กระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ
ก่อนขึ้นเครื่องกลับเมืองไทย นักท่องเที่ยวไทยก็จะตรงไปที่ร้านนี้ร้านเดียวของสนามบินนาริตะ
ร้านนี้ขายดีจนร้านข้างเคียงต่างอิจฉาไปตามๆกันที่เห็นคนไทยมะรุมมะตุ้มซื้อของฝากกันยกใหญ่โดยเฉพาะสินค้าขายดีหรือ Best Seller ก็คือโตเกียวบานาน่า
รายละเอียดเรื่องขนมโตเกียวบานาน่า จะมาเล่าต่ออีกครั้งในตอนสุดท้ายนะครับ จะเป็นตอนที่เดินทางกลับเมืองไทย ตอนนี้ก็ขอเรียกน้ำย่อยไปพลางๆก่อน
สำหรับตอนต่อไปจะมีโอกาสได้เห็นภูเขาไฟฟูจิหรือไม่ก็ต้องติดตาม ไกด์บอกว่าว่า “ภูเขาไฟฟูจิเหมือนสาวน้อยที่ขี้อาย” มักไม่ค่อยปรากฏตัวให้ใครได้เห็น
หากใครได้เห็นก็ต้องถือว่าเฮง
โฟโต้ออนทัวร์
20 มกราคม 2558


Recommended by website photoontour.com
|