ลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ตอนที่3 สุสานพระนางมัทสุหรี่ นั่งเคเบิลคาร์
(เดินทาง ตค.57)
ดินแดนมลายู
หากเราได้ศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของภาคใต้ หรือสอบถามคนทางใต้ในปัจจุบันอาจได้ยินคำ “หัวเมืองมลายู “ ซึ่งประกอบด้วย เมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และเมืองปัตตานี (รวมจังหวัดยะลา นราธิวาส) ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2310 ไทยได้เสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าเป็นครั้งที่ 2 หัวเมืองมลายูทั้ง 4 จึงตั้งตัวเป็นอิสระจากไทยมาตลอดสมัยกรุงธนบุรี
ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2328 สมัยรัชกาลที่ 1 หรือยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ส่งแม่ทัพให้ไปตีหัวเมืองปัตตานี พร้อมกับรวบรวมหัวเมืองทางภาคใต้ทั้ง 4 เข้ามาอยู่ในการปกครองของไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยให้มีการปกครองแบบอิสระหรือเขตปกครองตนเอง แต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับเมืองหลวง (กรุงเทพฯ)ในทุกๆ 3 ปี ไม่เช่นนั้นก็จะถือว่าแข็งข้อหรือเป็นกบฏ
จากนั้นรัชกาลที่ 1 ทรงจัดให้มีระเบียบการปกครองแผ่นดินใหม่ โดยให้เมืองไทรบุรี และเมืองกลันตัน อยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองสงขลา
ปัจจุบันเรื่องราวของ หัวเมืองมลายู หรือเมืองไทรบุรี คนเก่าคนแก่ทางภาคใต้ยังสามารถเล่าความเป็นมาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมืองสงขลาในอดีตนั้นก็ต้องถือว่า เป็นหัวเมืองสำคัญหรือเป็นหัวเมืองหลักทางภาคใต้ หลายๆเมืองที่อยู่ทางใต้รวมทั้งเมืองต่างๆที่อยู่ในดินแดนของมาเลเซียปัจจุบัน ก็ต้องขึ้นกับเมืองสงขลา
สมัยที่เกาะลังกาวีอยู่ในการปกครองของไทย (ก่อนจะเสียให้กับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5) ก็มีตำนานเล่าขานในเรื่องราวของ พระนางมะสุหรี่ (Mahsuri) หรือพระนางเลือดขาวซึ่งเป็นมเหสีของสุลต่านที่ปกครองเมืองเคดะห์ (ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน)
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2362 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 ในราชวงศ์จักรี หรือเกือบ 200 ปีมาแล้ว
ตามตำนานเล่าว่า พระนางมะสูหรี่ หรือประไหมสุหรี่(แปลว่าราชินี) หญิงสาวชาวบ้านที่ความงดงาม ได้สมรสกับอนุชาขององค์สุลต่านแห่งรัฐเคดาร์ โดยมีสถานภาพเป็นมเหสีองค์รอง(เมียน้อย) ต่อมาได้เกิดสงครามที่รัฐปัตตานี มีเหตุให้พระอนุชาขององค์สุลต่าน ซึ่งเป็นพระสวามีจะต้องจากบ้านจากเมืองเพื่อเดินทางไปช่วยรบ
ขณะเดียวกันก็เกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากฝ่ายที่คิดร้ายกับพระนางมะสุหรี่ ซึ่งก็คือมเหสีเอก(เมียหลวง)โดยสร้างเรื่องว่า " นางมะสุหรี่มีชู้้ "
เมื่อองค์สุลต่านกลับมา ก็ไม่ได้สืบสาวราวเรื่องว่าเท็จจริงประการใด แต่กลับเชื่อการใส่ความของฝ่ายมเหสีเอก ที่มีความอิจฉาริษยาพระนางมะสุหรี่ และวางแผนสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อหาทางกำจัดนาง
องค์สุลต่านจึงตัดสินใจ ให้เพชฌฆาตประหารชีวิตพระนางด้วยกริช
แต่ก่อนเสียชีวิตพระนางอธิษฐานว่า หากนางไม่มีความผิดก็ขอให้โลหิตที่หลั่งออกมาเป็นสีขาวเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ พร้อมกับสาปแช่งขอให้เกาะลังกาวีไม่มีความเจริญไป 7 ชั่วโคตร
ปรากฏว่าคมกริชจากเพชฌฆาตไม่ระคายผิวนางแม้แต่น้อย พระนางมะสุหรี่จึงบอกเพชฌฆาตให้กลับไปนำกริชพิเศษของต้นตระกูลจากบ้านของนางมาประหาร ซึ่งขณะที่คมกริชจรดลงบนคอ ปรากฏว่าโลหิตสีขาวก็พวยพุ่งขึ้นข้างบน เป็นการพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของนางตามที่อธิษฐานไว้ และจากคำสาปแช่งนี้ก็ทำให้เกาะลังกาวีตกอยู่ในความทุกข์เข็ญมานานถึง 7 ชั่วโคตร อันเป็นที่มาของตำนานพระนางเลือดขาว
และจากเรื่องราวตามความเชื่อว่าเกาะลังกาวีจะต้องมีอันเป็นไป หรือไม่มีความเจริญถึง 7 ชั่วโคตร ซึ่งในช่วงเวลาเกือบ 200 ปี ก็ดูเหมือนว่าเกาะลังกาวีจะเป็นไปตามคำสาป รัฐบาลมาเลเชียจึงพยายามที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ลังกาวีเป็นเกาะท่องเที่ยว และเป็นเขตปลอดภาษี แต่ดูจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวมาเลเซียที่เดินทางมาพักผ่อนและซื้อสินค้าปลอดภาษี ส่วนนักเที่ยวจากต่างชาติกลุ่มหลักก็คือคนไทยที่เป็นอิสลามทางภาคใต้ สำหรับชาติยุโรปหรือพวกฝรั่งมังค่านั้นมีน้อยมากจนแทบจะนับหัวได้
โฟโต้ออนทัวร์
26 พฤษภาคม 2559
|