ลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ตอนที่ 4 (สุดท้าย)
(เดินทาง ตค.57)
ลังกาวีตอนที่ 4 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย พบกับภาพสวยๆจากหน้าต่างโรงแรม โผล่ออกไปก็ที่เห็นบรรยากาศของเกาะลังกาวีอันชวนหลงไหล แต่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะมีฝน แต่ไม่นานแสงแห่งอรุณรุ่งก็โผล่จากยอดเขาทางทิศตะวันออกแล้วสะท้อนลงสู่ทะเลที่เห็นเรือจอดสงบนิ่ง โชคดีอีกอย่างของเช้านี้ก็คือท้องฟ้าเหมือนจะสลับสี ทำให้เห็นดูมีสีสันแปลกตา
มองไปตามถนนก็ดูเหมือนทุกอย่างยังไม่เคลื่อนไหว เนื่องจากยังเช้าเกินไป เวลานี้น่าจะประมาณตีห้ากว่าๆ
สายหน่อยก็ลงมารับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม ได้เวลาก็เดินลากกระเป๋าไปบริเวณท่าเรือซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก วางสัมภาระรวมกันเป็นกลุ่มที่ท่าเรือ พร้อมกับคลุมด้วยตาข่าย จากนั้นก็พากันเดินไป "จตุรัสนกอินทรีย์" สัญญลักษณ์ของเกาะลังกาวี
ลังกาวีประกอบไปด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ถึง 90 เกาะ ส่วนใหญ่เป็นเกาะไม่มีผู้คนอาศัยซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแบบเดินป่า บางเกาะเป็นที่อาศัยของ "นกอินทรีย์ " ที่อยู่ไกลออกไป สามารถเหมาเรือเล็กไปชมพร้อมกับให้อาหารนกได้
นักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบดูนก และไม่ได้อยู่ในโปรแกรมการท่องเที่ยว รู้แต่ว่าที่นี่มีนกอินทรีย์อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ
และนกอินทรีย์ก็เป็นสัญญลักษณ์ของเกาะลังกาวี ซึ่งเป็นสัตว์ประจำท้องถิ่น เช่นเดียวกับนกยูงป่าซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของเมืองสิบสองปันนา(ประเทศจีน) และยังเป็นสัตว์นำโชคที่ชาวไทลื้อสิบสองปันนานำไปแกะสลักด้วยไม้ แล้วประดับตามหลังคาอาคาร
ในช่วงที่ดร.มหาเธร์ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย บริหารประเทศเมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ได้พัฒนาเกาะลังกาวีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวกันขนานใหญ่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเลเซียและคนไทยที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ สายการบินแอร์เอเชียที่บินมาลงบนเกาะลังกาวีก็เป็นนโยบายสมัย ดร.มหาเธร์
Eagle Square หรือจตุรัสนกอินทรีย์ ที่ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือของเกาะลังกาวี ก็สร้างในสมัยอดีตนายกฯมาเลเซียผู้นี้
เขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงการตามหาทายาทรุ่นที่ 7 ของนางมัทสุหรี่ ที่ว่ากันว่าจะมาแก้คำสาปเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน ตามที่นางสาปแช่งไว้ก่อนถูกประหารด้วยกริช โดยอธิษฐานก่อนตายว่า "ขอให้เกาะลังกาวีพบกับความหายนะไป 7 ชั่วโคตร"
ก็เป็นเหตุบังเอิญ หรือมีการวางแผนเพื่อแก้คำสาปในอดีต เพื่อผลทางจิตวิทยา ก็ไม่อาจทราบได้
ปรากฏว่ามีผู้พบเด็กสาวคนไทยในจังหวัดภูเก็ต ที่หลังสืบสาวราวเรื่องจากบรรพบุรุษขอเด็กหญิงคนนี้ก็น่าเชื่อได้ว่า เด็กหญิงคนนี้คือพระนางมัทสุหรี่ที่กลับชาติมาเกิดซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 7
เมื่อข่าวนี้กระจายไปที่มาเลเซีย ก็สร้างความดีอกดีใจว่าต่อไปนี้เกาะลังกาวีจะหลุดพ้นจากมนต์ดำ หรือหลุดพ้นจากคำสาปถึง 7 ชั่วโคตรแล้ว ต่อไปนี้เกาะลังกาวีก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง
จากนั้นทางมาเลเซียจึงทำหนังสือขอเชิญเด็กหญิงชาวภูเก็ตเดินทางไปที่เกาะลังกาวี เพื่อที่ชาวมาเลได้ทำพิธีแก้คำสาป
ช่วงนั้นก็มีข่าวฮือฮาทั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เด็กสาวไทยจึงไม่ต่างกับถูกหวย มีที่พักบนเกาะลังกาวี และได้ทุนการศึกษาให้เรียนฟรี
ที่เล่าแบบเท่าที่พอจำได้ ก็เพื่อจะบอกว่า คนที่เจ้ากี้เจ้าการในเรื่องนี้ก็คือ "อดีตนายกฯ ดร.มหาเธร์" ซึ่งเป็นคนของรัฐเคดาห์ หรือคนของเกาะลังกาวีนี่เอง
สำหรับเมืองไทยเราที่พอเทียบเคียงในเรื่องของคนรักบ้านเกิดเช่นเดียวกับอดีตนายกฯมาเลเซียผู้นี้ ก็น่าจะเป็น "นายบรรหาร ศิลปอาชา" อดีตนายกฯของไทย ที่ทุ่มงบประมาณ(ของแผ่นดิน)ไปลงพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นและเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
หลังพ้นตำแหน่งนายกฯไปแล้ว นายบรรหารก็ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองสุพรรณบุรี ภายใต้ชื่อ “บรรหาร-แจ่มใส” ที่ชาวสุพรรณได้ยิน และเห็นป้ายคำๆนี้จนคุ้นหูคุ้นตา
"หอคอย บรรหาร-แจ่มใส" รวมทั้งสวนสาธารณณะของจังหวัดสุพรรณบุรี "บึงฉวาก" (พิพิธภัณฑ์ปลาน้ำจึด) หรือแม้แต่ "หมู่บ้านควาย" ฯลฯ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ก็เป็นผลงานของอดีตนายกฯบรรหารทั้งสิ้น
เกาะลังกาวีมีอนุสาวรีย์นกอินทรีย์ หรือ Eagle Square รวมทั้งสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้ๆกัน ก็เป็นผลงานของ ดร.มหาเธร์
บริเวณนี้จัดเป็นลานกว้างให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพและชมวิวทิวทัศน์ของท้องทะเล แต่จะสวยงามและมีความคึกคักก็ต้องมาชมในตอนเย็นๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตก
แต่เช้านี้เรามาเดินเล่นฆ่าเวลาเพื่อรอเวลาขึ้นเรือกลับเมืองไทย เวลานี้จึงดูเงียบเหงา แทบไม่มีนักท่องเที่ยวแม้แต่คนเดียว
หลังถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับอนุสาวรย์นกอินทรีย์เป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เวลาไปลงเรือเดินทางจากลังกาวีสู่จังหวัดสตูล
เป็นอันว่าได้ปิดฉากทริปลังกาวี(ครั้งที่2)
โฟโต้ออนทัวร์
8 ธันวาคม 2559
ชมภาพการเดินทางสู่เกาะลังกาวีครั้งแรกเมื่อปี 2550 ได้ที่นี่ |