หลวงพระบาง ตอนที่4 วัดเชียงทอง วัดใหม่ เฮือนพักในหลวงพระบาง ยามเช้าที่ริมโขง ตลาดหลวงพระบาง
(เดินทาง มิย.56)
หลวงพระบางตอนที่ 4 เป็นวันที่ต้องแต่เช้ามึด เช้าแค่ไหนก็ต้องบอกว่าตอนตี 4 เวลานี้หลายคนกำลังมีความสุขอยู่กับการนอน แต่เมื่อมาเที่ยวจึงต้องคิดเรื่องเที่ยวและถ่ายภาพเป็นสำคัญ การตื่นแต่เช้ามึดจึงเป็นเรื่องปกติ
หลวงพระบางก่อนหน้านี้ก็เคยมาแล้วถึงสองครั้งก็ไม่ได้ตื่นเช้านัก แต่มาครั้งนี้อยากเห็นหลวงพระบางในยามเช้าก่อนที่กิจกรรมของชาวบ้านจะเริ่มขึ้น ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ได้เห็นอะไรในแง่มุมที่ไม่เคยเห็นหลายอย่าง
อันดับแรกก็คือโดนรถสามล้อโก่งราคา
มันเช้ามากชนิดฟ้ายังมึดมิด มายืนบนถนนอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีรถ ไม่มีคน เห็นแต่สุนัข 2-3 ตัว นอนอยู่บนเพิงมึดๆ แต่ไม่เห่า นึกในใจหากมันเห่าหอนขึ้นมาละคงยุ่ง ชาวบ้านอาจคิดว่าเป็นโขมยมายืนอยู่หน้าบ้าน
มาเที่ยวหลวงพระบางคราวนี้ที่พักอยู่ใกล้ทางแยก ตอนนั้นก็ยังไม่ทราบว่าถ้าจะเข้าตัวเมืองหลวงพระบางต้องไปทางใหน ทิศไหน แต่ก็พอจะเดาๆได้บ้าง
จากนั้นก็เริ่มออกเดิน
เนื่องจากรอตั้งนานแต่ไม่เห็นรถแม้แต่คันเดียว เมื่อเดินไปถึงทางแยกแห่งหนึ่งจึงรู้ว่าหนทางยังอีกไกล ก็พอดีได้ยินเสียงรถสามล้อสกายแลปแล่นมาด้านหลัง จึงโบกให้หยุด ในรถมีผู้หญิงนั่งมาด้วย 2 คน ท่าทางน่าจะเป็นแม่ค้า บรรทุกสัมภาระมาด้วย
บอกโชเฟอร์ว่าจะไปตรงจุดที่มีพระออกมาบิณฑบาตตอนเช้าๆ ซึ่งก็เป็นทางเดียวกันที่รถกำลังจะไปส่งแม่ค้าที่ตลาดพอดี
ไม่นานรถสามล้อเครื่องก็จอดบอกให้ลงตรงนี้
คนขับบอกราคาค่าโดยสารก็ทำเอาสะดุ้ง มาแค่นี้ทำไมจึงแพงจัง(วะ)
ตอนลงจากรถคิดว่าค่ารถไม่กี่ตังค์ และเป็นรถที่แม่ค้าเค้าเหมามาส่งที่ตลาด นึกว่าฟรีด้วยซ้ำ ที่ไหนได้เล่นเอาสะอึก จำไม่ได้ว่าราคาเท่าไหร่แต่คิดว่าน่าจะประมาณสองเท่าของราคาปกติ
ลงรถก็ยังยืนงงว่าสามล้อมันหลอกเราหรือเปล่าว่าให้ลงตรงนี้ เนื่องจากเวลานั้นยังมึดมาก บนถนนก็แทบร้างราทั้งรถและคน อาศัยว่าจากเคยมาหลวงพระบางถึง 2 ครั้งจึงพอจะเดาได้ว่าถนนสายนี้เป็นสายหลักที่ผ่านหน้าวังเจ้ามหาชีวิต และมีวัดสำคัญอยู่บนถนนสายนี้เช่นกัน
ความจริงก็คือถนนสายหลักของหลวงพระบาง มีชื่อว่า "ถนนศรีสว่างวงศ์ " ซึ่งเป็นพระนามของกษัตริย์ หรือเจ้ามหาชีวิตของลาว ในทุกเช้าจะมีพระสงฆ์จำนวน 200 รูป ออกมาเดินบิณฑบาตผ่านถนนเส้นนี้ แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่ยังมึดอยู่ จึงเดาไม่ค่อยออกว่าอะไรอยู่ตรงไหน
พอฟ้าสางก็เริ่มปะติดปะต่อภาพจากความทรงจำเก่าๆขึ้นมาได้จึงถึงบางอ้อ และเข้าใจว่าที่สามล้อมาส่งตรงจุดนี้ถือว่าถูกต้องแล้ว
เนื่องจากยังเหลือเวลาอีกมากกว่าพระจะออกมาบิณฑบาตจึงเดินเรื่อยเปื่อยไปตามถนนเลียบลำน้ำโขง เผื่อจะได้ภาพบรรยากาศในยามเช้าบ้าง
ใครอยากมาเห็นหลวงพระบางที่เงียบสงบจริงๆก็น่าจะลองตื่นแต่เช้ามึด เพื่อออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ และขี่จักรยานเที่ยวชมเมืองในตอนเช้าๆ ซึ่งพบเห็นคนไทยไม่น้อยที่เช่าจักรยานขี่
หลวงพระบางเมืองที่สงบ น่าอยู่ และเป็นเมืองมรดกโลก สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นแบบเดิมๆ เหมือนถูกสต๊าฟความเป็นอดีตให้คงไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
กฏเกณฑ์ที่ยูเนสโกนำมาใช้กับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกจะไม่ต่างกัน คือห้ามเปลี่ยนแปลง ห้ามเปลี่ยนสภาพ ไม่เช่นนั้นอาจถอดถอนการขึ้นทะเบียนก็เป็นได้
เท่าที่ทราบก็ยังไม่เคยมีประเทศไหนที่จะต้องขึ้นบัญชีดำหรือโดนกฏเหล็ก อย่างมากก็เพียงแค่ตักเตือนเท่านั้น เช่นไม่ดูแลเท่าที่ควร ปล่อยปละละเลย จนเสียสภาพแวดล้อม และเสียภาพลักษณ์ต่อคำว่า 'มรดกโลก'
ประเทศที่ได้รับเกียรติจนยูเนสโกออกมาเตือน ก็เห็นจะมีแต่ประเทศไทยเรานี่เอง
สถานที่นั้นก็คือ 'อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา' ที่ปล่อยให้มีแม่ค้าเข้ามายึดพื้นที่ตั้งแผงขายของจนรุกรุงรังไปหมด กลายเป็นภาพที่อุดจาดนัยน์ตาของอุทยานฯ
สะท้อนถึงระบบการจัดการสถานที่ ซึ่งประกอบด้วย 3 หน่วยงาน ได้แก่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร และหน่วยงานท้องถิ่น คือ อบต. ซึ่งหน่วยงานหลังนี้ไม่ต่างกับทำตัวเป็นเจ้าพ่อหรือมาเฟีย ที่หาประโยชน์จากพื้นที่บริเวณอุทยาน ปล่อยให้มีการเซ็งลี้กันเอง วัดครึ่งกรรมการครึ่ง
เมืองหลวงพระบางไม่มีเหตุการณ์แบบที่ว่านี้ คนลาวเค้าว่าง่าย ไม่หัวดือหัวรั้น รู้ว่าหากสร้างปัญหา ชาวหลวงพระบางก็จะขาดรายได้จากการท่องเที่ยว
ความรู้สึกสำนึกมีอยู่ในใจคนลาวทุกระดับ แต่แม่ค้าร้านอาหารบอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน คนต่างถิ่นเข้ามาอาศัยและทำมาหากินกันมาก อาจมีคนฉกฉวยโอกาสบ้าง เช่นค่าโดยสารของรถบริการที่วิ่งรอบเมือง
แต่ภาพรวมแล้วยังถือว่าไม่มีปัญหา คนลาวยังใสซื่อบริสุทธิ์เหมือนเดิม ไม่คิดโกหก ราคาสินค้าก็บอกผ่านพอเป็นพิธี ต่อราคาได้ก็ให้ ต่อมากก็ขายไม่ได้ เว้ากันซื่อๆ ไม่มีการฉุดแขน ดักหน้าดักหลังเหมือนประเทศจีนและเวียดนาม
ใครมาเที่ยวหลวงพระบางแล้วรู้สึกว่าค่าโรงแรมอาจแพงกว่าเมืองไทยในระดับต่างจังหวัดก็อย่าได้แปลกใจ ให้ถือว่าเ็นเรื่องปกติ ปัจจุบันเฮือนพัก รวมทั้งโรงแรมที่อบู่ในพื้นที่มรดกโลก และนอกพื้นที่ กำลังผุดขึ้นมาหลายแห่ง จากเมื่อก่อนมี่มีแต่เฮือนพักระดับ 2-3 ดาว แต่ปัจจุบันมีถึงระดับ 4 -5 ดาว ซึ่งโรงแรมระดับนี้มีนักธุรกิจต่างชาติมาลงทุน (จะมีภาพให้ดูในตอนถัดๆไป)
สำหรับเฮือนพักแบบตึกแถวแบบบ้านเก่าที่มีการปรับปรุงให้น่าอยู่พร้อมติดแอร์ รวมทั้งมีอาหารเช้า ราคาจะตกประมาณคืนละ 1200- 1800 บาท (ค้นหาจาก Google ได้)
ส่วนค่ากินก็ไม่ถูก มาเที่ยวลาวเจอก๋วยเตี๋ยวชาวใหญ่ๆราคา 40-60 บาท ถือเป็นเรื่องธรรมดา โรตีใส่ไข่หรือใส่กล้วยหอมราคา 40-50 บาท ก็ขายกันในราคานี้
หลายคนสงสัยว่าทำไมราคาอาหารลาวจึงแพงกว่าเมืองไทย คำตอบที่ได้ก็คือวัตถุดิบและข้าวของเครื่องใช้ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกะปิ น้ำปลา ผงชูรส น้ำมันพืช ถ้วยโถโอชาม โต๊ะ ม้านั่ง มาจากเมืองไทยทั้งนั้น ต้นทุนจึงสูงกว่าบ้านเรา
แต่สิ่งที่ได้รับจากอาหารลาวก็คือเป็นของสด เช่นหมู ไก่ เนื้อสัตว์อื่นจะเลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ได้เลี้ยงตามโรงงานเหมือนหมูซีพี และไม่ผ่านการแช่เย็น ส่วนพวกพืชผักปลูกตามธรรมชาติ รสชาติจึงอร่อยกว่าผักในบ้านเราทีปนเปื้อนสารเคมี
การใช้ชีวิตในหลวงพระบางก็ไม่ต่างกับการย้อนอตีตทีหลายคนอาจเคยผ่านการใช้ชีวิตแบบนี้มาแล้ว
คนไทยไม่น้อยชื่นชอบหลวงพระบาง และมาบ่อย เนื่องจากต้องการใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบ ประชาชนมีความเป็นมิตร ไว้ใจซึ่งกันและกัน
มาเห็นบ้านเมืองเค้าก็รู้สึกสบายตาสบายใจ หากจะเทียบกับบ้านเราก็คล้ายกับเมืองล้านนาและชนบททางภาคอีสานในอดีต
สำหรับโปรแกรมเที่ยววันนี้หลักๆก็คือ วัดเชียงทอง วัดใหม่ วังเจ้ามหาชีวิต และภาพปลีกย่อยต่างๆในระหว่างที่อยู่เมืองหลวงพระบาง
วัดเชียงทอง วัดหลวงของหลวงพระบาง
มาครั้งนี้ได้เห็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนหลังคาและทาสีใหม่จนดูคล้ายวัดใหม่ ทั้งๆที่สร้างเมื่อ พ.ศ.2103 ปัจจุบันมีอายุ 459 ปี
วัดเชียงทองถือว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างที่สวยงามมาก สร้างโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นพระญาติหรือพระนัดดา(หลาน)ในพระนางจิรประภา เจ้านางหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา(เชียงใหม่)
พ.ศ.2089 อาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์ปกครอง จึงได้เชิญ เจ้าไชยเชษโฐ หรือ เชษฐวังโส พระโอรสของพระเจ้าโพธิสารของนครล้านช้าง ไปครองนครล้านนา พระองค์ทรงครองราชเป็นกษัตย์ล้านนาเป็นพระองค์ที่ 15 ในราชวงศ์มังราย
ต่อมา พ.ศ.2090 พระเจ้าโพธิสาร(พระบิดาพระเจ้าไชยเชษฐา)สวรรคต พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงเสด็จกลับล้านช้าง เพื่อปกครองล้านช้างต่อไป ซึ่งเวลานั้นบ้านเมืองกำลังเกิดการระส่ำระสาย แตกแยกเป็น 2 ฝ่าย ระหว้างอาณาจักรฝ่ายเหนือ(ล้านช้าง-หลวงพระบาง) และฝ่ายใต้(จำปาสัก)
ก่อนที่จะย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ที่ นครศรีสัตนาคนหุต หรือ กรุงเวียงจันทน์ ในปัจจุบันนี้ พระองค์ได้สร้างวัดเชียงทองขึ้นที่เมืองหลวงพระบาง ในบริเวณที่แม่น้ำคานและแม่น้ำโขงไหลมาบรรจบกัน
วังเจ้ามหาชีวิต
ส่วนวังเจ้ามหาชีวิต เป็นพระวังเดิมของ พระเจ้าศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชอาณาจักรลาว ก่อนที่ลาวจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2518 พร้อมกับยกเลิกการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาถูกทหารลาวคอมมิวนิสต์(ลาวฝ่ายซ้าย)จับกุมพร้อมกับพระมเหสี เจ้าฟ้าชายมกุฏราชกุมาร พระอนุชาของพระองค์คือ เจ้าฟ้าสุพันธรังสี และ เจ้าฟ้าทองสุก แล้วส่งตัวไปยังค่ายกักกันที่เมืองเวียงไซ ชื่อว่า "ค่ายเลข 1" ซึ่งในค่ายนี้ก็มีนักโทษการเมืองของฝ่ายขวาที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลถูกคุมขังอยู่หลายคน
ปี พ.ศ.2521 มีรายงานว่าเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา รวมทั้งพระญาติทั้งหมดเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรีย แต่ข่าวบางกระแสกล่าวว่าน่าจะเสียชีวิตจากการถูกทรมานในค่ายกักกัน
ภายหลังจากประเทศลาวกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เรียบร้อยแล้ว วังเจ้ามหาชีวิตและทรัพย์สินทั้งหมดถูกยึดเป็นสมบัติของประเทศ
ส่วนสมบัติและทรัพย์สินส่วนพระองค์ มีข่าวว่าบรรดานายทหารได้ยึดไว้เป็นของตน ใครไปชมวังเจ้ามหาชีวิตก็จะเห็นแต่ห้องโล่งๆ มีโต๊ะ ตู้เตียง และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ไม่มากนัก นักท่องเที่ยวไทยบางคนบอกว่าคล้ายกับ คุ้มเจ้า ของเจ้านายฝ่ายเหนือในเมืองล้านนามากกว่าที่จะเรียกว่าวัง เนื่องจากคำว่า วัง สำหรับประเทศไทยรวมทั้งพม่า จะดูยิ่งใหญ่อลังการกว่านี้เยอะ
เรื่องนี้สะท้อนถึงอาณาจักรล้านช้างในอดีต ว่าเป็นอาณาจักรที่เล็กมาก
และหลวงพระบางก็เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านช้าง แต่กลับไม่มีซากปรักหักพังทางโบราณสถาน เช่นกำแพงเมือง เจดีย์ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ให้เห็นแม้แต่แห่งเดียว เทียบกับประเทศไทยแล้ว จะเห็นว่ามีซากเมืองโบราณอยู่ทั่วทุกภาค
ส่วนสมบัติประจำตระกูลพวกแก้วแหวน เงินทอง รวมทั้งทรัพย์สินที่มีค่าของกษัตริย์นั้น ไม่มีให้เห็นในวังเก่าแห่งนี้
เรื่องนี้ก็ไม่ต่างกับวังกู้กง หรือพระราชวังหลวงที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งทราบโดยทั่วไปว่าก่อนที่กองทัพปลดแอกของเหมาเจ๋อตุงจะโค่นรัฐบาลเจียงไคเช็คลง กองทหารของเจียงไคเช็คได้กวาดเอาทรัพย์สินจากพระราชวังหลวงขึ้นรถบรรทุกทหารเป็นจำนวนหลายคัน แล้วรีบหลบไปลี้ภัยที่เกาะใต้หวัน (ตามภาพที่เคยเห็นจากเว็บไซต์เมื่อหลายปีก่อน)
และจนถึงทุกวันนี้รัฐบาลจีนใต้หวันก็ไม่เคยเปิดเผยสมบัติให้ประชาชนได้ทราบ อาจเป็นเพราะกลัวว่าหากเปิดเผยขึ้นมารัฐบาลจีนอาจอ้างสิทธิ์ทวงคืนก็เป็นได้
เรื่องทรัพย์สินจากวังกู้กงที่เมืองปักกิ่ง จึงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ว่าอยู่ที่ได หรืออาจเปลี่ยนไปอยู่ในมือของนักค้าของเก่าระดับโลกเรียบร้อยแล้ว
หลังจากประเทศลาวเข้าสู่ภาวะปกติ รัฐบาลลาวจึงเปิดให้พระราชวังหลวงแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพร้อมๆกับการเป็นมรดกโลกของเมืองหลวงพระบาง เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538
สาเหตุที่ยกให้หลวงพระบางเป็นมรดกโลกก็ด้วยเหตุผลที่ว่า
มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย มีบ้านเรือนอันเป็นเอกลักษณ์โคโลเนียลสไตล์ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมน้ำโขงและน้ำคาน ซึ่งไหลบรรจบกันท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม และชาวหลวงพระบางมีบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตร และมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงาม
นอกจากนี้หลวงพระบางยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ได้รับการปกปักรักษาที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับที่มาที่ไปของวังเจ้ามหาชีวิตแห่งหลวงพระบางนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้สร้าง หลังจากประเทศลาวตกเป็นของฝรั่งเศสระหว่าง พ.ศ.2436 – พ.ศ. 2496
โฟโต้ออนทัวร์
29 มิถุนายน 2559
|
|
|
|
|
ชมภาพการเดินทาง |
|
|
|
|
|
เดินทาง กค.51 |
เดินทาง ธค.55 |
เดินทาง มิย.56 |
|
|
|
|
|