Middle Vietnam Part 2
ทริปเวียดนามกลาง ตอนที่2
(เดินทางเดือนตุลาคม ปี55)
ทัวร์เวียดนามกลางตอนที่สองนี้เป็นการเดินทางจากท่าแขก ด่านไทย-ลาว ที่จังหวัดนครพนม เพื่อเข้าสู่ประเทศเวียดนามซึ่งอยู่ในเขตเวียดนามกลาง ภาพในช่วงเวลาที่กำลังเดินทางนี้เป็นเวลาประมาณ 3 โมงเย็น เห็นเด็กๆขี่จักรยานกลับบ้านหลังเลิกเรียนกันเป็นกลุ่มๆ บรรยากาศคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น หากเป็นบ้านเราก็อาจเห็นรถสองแถวบรรทุกนักเรียนเต็มคัน หรือมีนักเรียนขี่มอเตอร์ไซด์กลับบ้าน
บังเอิญเห็นคลิปการเดินทางของนักเรียนไทยใน ตจว. ประสบอุบัติเหตุ จึงนำมาเผยแพร่ต่อ
ขณะที่รถพาเข้าเขตเมือง “กวางบินห์ “ ก็อดไม่ได้ที่จะหวนไปคิดถึงในครั้งอดีต ที่พื้นที่ทางเขตภาคกลางนี้มีการการต่อสู้ระหว่างพวกญวณกับพวกจาม ในบริเวณแม่น้ำแห่งหนึ่ง พวกจามเสียชีวิตราว 6 หมื่นคน ถูกจับอีกราว 3 หมื่น
ถือว่าเป็นการสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินของอาณาจักรจามที่เคยรุ่งเรืองอยู่ระหว่าง พ.ศ. 735 – 2375 นับว่าเป็นอาณาจักรที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานมากหรือราว 1640 ปี
อีกเรื่องหนึ่งที่อดคิดไม่ได้ก็คือ จังหวัดกวางบินห์ (Quang Binh) และจังหวัดกวางตรี (Quang Tri)ที่อยู่ติดกัน

สมัยสงครามเวียดนาม พื้นที่ทั้งสองจังหวัดนี้ถือว่าเขตการสู้รบที่รุนแรงและหนักหน่วงที่ที่สุด เป็นเส้นแบ่งดินแดนเหนือ-ใต้ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดกวางตรี เครื่องบิน B52 ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดจนพรุนไปทั้งป่า ทำให้ชาวบ้านที่หมู่บ้านวินห์ม็อกในเขตกวางตรีต้องขุดอุโมงค์เพื่อใช้เป็นที่หลบภัย มีชื่อว่า "อุโมงค์วินห์ม็อก"
ทุกวันนี้ “อุโมงค์วินห์ม็อก“ ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด ใครไปเที่ยวเวียดนามกลางก็จะมีโอกาสได้ชม
ในเส้นทางจากด่านจาลอจนมาถึงเมืองกวางบินห์จะเป็นว่าเป็นพื้นที่ป่าเขาที่สวยงาม ชนิดที่หาบรรยากาศแบบนี้ไม่ได้ในเมืองไทย มีความเขียวชอุ่ม ชุ่มน้ำ เขาบางลูกเป็นทุ่งหญ้า ตามหุบเขามีแม่น้ำไหลผ่าน ดูแล้วเย็นตาเย็นใจ
หากใครได้มาเที่ยวเวียดนามก็จะรับรู้ได้ถึงความสวยงามของธรรมชาติป่าเขาว่าน่ามองเพียงใด
เสน่ห์ของป่าเวียดนามก็คือมีความเขียวเช่นนี้ตลอดทั้งปีทั้งๆที่เดือนนี้อยู่ในเดือนตุลาคม เป็นช่วงต้นฤดูหนาวเช่นเดียวกับบ้านเรา
ลักษณะภูเขาทางแถบนี้ก็คล้ายกับที่เมืองกุ้ยหลินในประเทศจีน แต่เขาเมืองกุ้ยหลินจะแหลมกว่า ส่วนที่คล้ายกันก็คือเป็นภูเขาที่งอกออกมาจากพื้นดิน ขณะรถวิ่งไปตามถนนจึงเหมือนวิ่งบนทางลาด เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามช่องว่างระหว่างภูเขา ไม่ต้องไต่ระดับขึ้นเนินสูงๆต่ำๆเหมือนเช่นภูเขาในเขตทางภาคเหนือของเวียดนาม
ประเทศเวียดนามพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขา มีเหลือให้ทำนาเพียงน้อยนิด ดังนั้นจึงต้องใช้ประโยชน์จากพื้นดินให้เต็มที่ เช่นทำนาปีละ 3 ครั้ง เรียกว่าหลังเกี่ยวข้าวเสร็จได้ไม่นานก็จะต้องเตรียมผืนนาปลูกข้าวกันในรอบต่อไป
ต่างกับบ้านเราที่มีน้ำน้อยกว่าจึงทำนากันเพียงปีละครั้ง เว้นแต่บางจังหวัดที่ผันน้ำจากเขื่อนหรือผ่านคลองชลประทาน จึงสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง
ประเทศเวียดนามดูจะต่างกับบ้านเราตรงที่ไม่ค่อบพบเห็นความแห้งแล้ง อิทธิพลของลมมรสมจากทะจีนใต้ที่พัดพาเอาฝนมาด้วย หรือบางปีก็มาพร้อมพายุ ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีฝนชุก ช่วงหน้าร้อนไม่ร้อนจัด ช่วงหน้าหนาวก็จะหนาวกว่าบ้านเรา
เท่าที่เดินทางมาเวียดนามอยู่หลายครั้ง มีความรู้สึกว่าอากาศที่เวียดนามน่าจะเย็นกว่าบ้านเราประมาณ 5 องศา เช่นบ้านเรา 37 องศา ในเวียดนามก็จะประมาณ 32 คนขี้ร้อนมาเที่ยวเวียดนามอาจมีความรู้สึกว่าสบายเนื้อสบายตัวขึ้นมาบ้าง หรือบางครั้งก็ไม่อยากกลับไปผจญร้อนที่บ้านเรา
การเดินทางเข้าเวียดนามกลางทางด่านท่าแขก จังหวัดนครพนมคราวนี้ถือว่าเป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ใช้เส้นทางจังหวัดมุกดาหาร จากนั้นก็็ข้ามโขงไปยังฝั่งแขวงสะหวันนเขตของลาว แล้วจึงเข้าเวียดนามที่ด่านลาวบาว ตามที่คนไทยส่วนใหญ่เลือกเส้นทางนี้
แต่เนื่องจากเส้นทางลาวบาวในช่วงนั้นชำรุดเสียหายมาก แทบจะเรียกว่านั่งรถกันแบบทรมาน ทั้งฝุ่นและต้องขับซิกแซกเพื่อหลบหลุมบนถนน เส้นทางที่ออกไปทางด่านท่าแขกจึงเป็นทางเลือกใหม่ แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องเวลาที่ดูจะไม่ลงตัว โดยเฉพาะอาหารมื้อกลางวัน กว่าจะได้ทานก็ปาเข้าไปถึง 4 โมงเย็น แต่ทางผู้จัดเตรียมของว่างไว้ทานบนรถจึงไม่ค่อยมีใครบ่นกันนัก
"เมืองกวางบินห์ หรือ จังหวัดกวางบินห์ " ในระยะหลังๆชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เนื่องจากมีมรดกโลก อช.ฟองญา – แกบ่าง ตั้งอยู่ในจังหวัดนี้ ถนนจากเมืองเว้และเมืองกวางตรีที่มุ่งหน้ามายังกวางบิ่นห์ มีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น มีโรงแรมที่พักในเขตเมืองหรือในเขต อช.ฟองญา-แกบ่าง
ทำให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางมากันอย่างสะดวกขึ้น โดยเฉพาะชาวต่างชาติประเภทแบ๊กแพค
ระยะแรกที่มีการสำรวจ อช.ฟองญา-แกบ่าง ได้พบความมหัศจรรย์หลายอย่าง เช่นพบว่าเป็นถ้ำใต้ดินที่มีน้ำไหลผ่าน ความยาวของถ้ำยังอาจล้ำเข้าไปในเขตประเทศลาว นอกจากนี้ก็ยังพบว่าบางถ้ำเคยเป็นที่อาศัยของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ บางแห่งพบภาพเขียนตามผนังถ้ำ และเครื่องใช้ไม่สอยของมนุษย์ยุคโบราณ
ส่วนถ้ำฟองญาที่เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนี้เป็นเพียงถ้ำเล็กๆแห่งหนึ่งที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้โดยทางเรือ โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
เมื่อราว 2 ปีที่แล้ว มีข่าวการค้นพบถ้ำแห่งหนึ่งในเขต อช.ฟองญา-แกบ่าง ที่มีชื่อว่าถ้ำ“เซินด่อง “ หรือ Son Doong Cave ปรากฏว่าสร้างความอัศจรรย์ใจให้กับนักสำรวจเป็นอย่างมาก ชนิดที่ทำลายสถิติของถ้ำทุกแห่งจากทั่วโลก
ถ้ำเซินด่อง ปัจจุบันกลายเป็นสถิติใหม่ของคำว่า "เป็นถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ ยาวที่สุดในโลก" นอกจากนี้ก็ยังมีเพดานถ้ำสูงที่สุดในโลกอีกด้วย
หลังจากที่ข่าวน้ำได้แพร่สะพัด จึงทำให้นักสำรวจจากทั้งโลกให้ความสนใจและมุ่งหน้ามาที่นี่ แต่ทีมสำรวจที่ถือว่าเป็นทางการ และมีการเผยแพร่ภาพและวีดีโอออกไปทั่วโลกก็คือทีมสำรวจของถ่ายนิตยสารของ " National Geographic (NG)" ที่คิดว่าหลายคนคงคุ้นเคย
และภาพถ่ายและคลิปวีดีโอที่เห็นตามเว็บไซต์ต่างๆก็มาจาก NG ทั้งสิ้น
แต่ช่วงนี้นักท่องเที่ยวยังเข้าไปที่ถ้ำเซินด่องไม่ได้ เนื่องจากยังไม่เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ก็มีบางเว็บไซต์ที่ให้บริการในแนวลุยป่าหรือแนว Adventure ซึ่งคุณสมบัติของนักท่องเที่ยวแนวนี้ก็ต้องทั้งอึด ทั้งทน ร่างกายแข็งแรง ว่ายน้ำเป็น ดำน้ำได้ ชำนาญในการปีนเขา รวมทั้งกินง่ายอยู่ง่าย
ก่อนนี้ก็มีข่าวว่า เวียดนามจะสร้างกระเช้าลอยฟ้าแบบพิเศษ ให้ลอยเลื่อนเข้าไปในถ้ำชนิดที่ไม่ต้องเดิน
หากเป็นไปได้ก็น่าจะเป็นมิติใหม่ของการเที่ยวภายในถ้ำ เหมือนนั่งยานเที่ยวชมจะได้เห็นทุกซอกทุกมุมโดยไม่ต้องปีนป่ายเหมือนไปเที่ยวถ้ำทั่วๆไป
แต่ข่าวในตอนหลังๆมีข่าวว่าโครงการนี้ถูกระงับ คงจะด้วยสาเหตุบางประการ เช่นอาจเห็นว่าเป็นการทำลายสภาพแวดล้อม
อาจมีคำถามว่า "จำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีกระเช้าหรือ Cable Car ในถ้ำ"
ก็ต้องตอบว่า “เซินดอง” เป็นถ้ำที่มีความยาวถึง 5 กม. ซึ่งยาวที่สุดในโลก และเป็นทางที่ต้องขึ้นๆลงๆ เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปตามธรรมชาติ จึงจะเห็นความสวยงามกันได้ตลอด การมีกระเช้าก็น่าจะตอบโจทย์ในเรื่องนี้
หากมีการสร้างจริง ก็คิดว่าน่าจะเป็นแห่งแรกในโลก
ถ้ำ เซินดอง มีฉายาว่า “Mountain River cave หรือถ้ำภูผาแม่น้ำ “ อีกฉายาหนึ่งก็คือ “Infinite Cave หรือ ถ้ำที่ไม่มีที่สิ้นสุด”
ข้อมูล Son Doong Cave ที่พอจะรวบรวมได้ในขณะนี้
1 เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
2 อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติฟองยา เกบ่าง (Phong Nha-Ke Bang National Park)
3 ค้นพบเมื่อปีค.ศ.1991(พ.ศ.2534) โดยชาวเวียดนามท้องถิ่น ชื่อ Ho-Khanh (ความจริงถ้ำแห่งนี้เป็นที่รู้จักนานแล้วแต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปเนื่องมีเสียงประหลาดดังออกมาจากถ้ำ ซึ่งความจริงก็คือเสียงน้ำไหลชั้นใต้ดิน)
4 การสำรวจถ้ำครั้งแรกคือคณะสำรวจจากอังกฤษ ในนามของ British Cave Research Association หรือ BCRA ได้เข้าไปสำรวจเมื่อปี ค.ศ.2009
5 การสำรวจครั้งนี้สร้างความตื่นตาให้กับคณะสำรวจ เนื่องจากพบว่าห้องโถงในถ้ำที่ใหญ่สุดมีความสูงถึง 150 เมตร ยาว 200 เมตร สูงพอๆกับตึก 41 ชั้น
6 ระยะทางยาวของถ้ำ Son Doong 5 กิโลเมตร
7 หินงอกก้อนใหญ่ที่สุดมีความสูง 70 เมตร
8 ทัวร์คณะแรกที่เดินทางไปเที่ยว ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหกคนจากออสเตรเลีย, นอร์เวย์, รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
ใช้เวลา 7 วัน 6 คืนสำหรับการท่องเที่ยว
9 ค่าทัวร์คนละ US$ 3,000 หรือประมาณ 100,000 บาท และเป็นทัวร์ประเภท Adventure เดินทาง 7 วัน 6 คืน(นอนถ้ำ)
(ภาพและวีดีโอของถ้ำเซินดอ่ง ดูได้จากด้านล่าง)

ประเทศเวียดนามมีถ้ำที่เป็นที่สุดของโลกไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีสิ่งมหัศจรรย์เช่นนี้ตามมาอีกมากมาย เนื่องจากยังมีพื้นที่ป่าเขาที่ยังไม่ได้มีการสำรวจอีกเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับประเทศลาวที่ดูเหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ป่าไม้ในลาวก็ยังมีสิ่งเร้นลับที่รอการพิสูจน์จากคณะสำรวจ
การค้นพบถ้ำ เซินดอง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ค้นพบ เนื่องจากคาดว่ายังมีถ้ำอีกเป็นร้อยๆถ้ำ ซึ่งจะต้องสำรวจกันต่อไป
ก็ไม่แน่ว่าอาณาคต อช.ฟองญา-แกบ่างอาจมีฉายาใหม่ว่า "อาณาจักรแห่งดินแดนถ้ำ" หรือ "Kingdom of Land Cave"
ส่วนการสำรวจป่าไม้ในเมืองไทยนี้คงไม่ต้องพูดถึงนัก คนไทยเก่งมีความสามารถโดยไม่ต้องรอให้ต่างชาติมาสำรวจ เนื่องจากเราสำรวจกันเอง เช่นที่ไหนมีป่าก็จะมีนักสำรวจและนักพัฒนาทำงานไปพร้อมๆกัน
เห็นเขาลูกไหนสวย ทำเลการค้าดี ก็จ้างชาวบ้านและชาวเขาจัดการ
อันดับแรกคือโค่นไม้ใหญ่ก่อน จากนั้นก็ถอนตอ หรือเผ่า พร้อมถางป่าให้เรียบ ต่อมาก็ปลูกพืชไร่หรือปลูกยางพารา
วิธีการแบบนี้บ้านเราเรียกว่า “การจับจองผืนป่า“ ส่วนทั่วไปใช้คำว่า “ปล้นผืนดินของประเทศ”
หลังทำประโยชน์จากป่าไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะมีรีสอร์ต โรงแรม สนามกอล์ฟ สนามรถแข่ง โผล่ขึ้นมาแบบเนียนๆ ส่วนที่ดินเหลือก็ปลูกบ้านขายหลังละ 20 – 100 ล้าน เศรษฐีแห่จองกันเพียบ อากาศดี ตีกอล์ฟได้
เรียกว่าใช้ผืนป่ากันอย่างคุ้มค่า
ทุกวันนี้ที่เห็นข่าวเอาทหารจากค่ายไปตัดต้นยาง หรือรื้อสิ่งปลูกสร้างในที่บุกรุก ตามนโยบายคืนความสุขนั้น ชาวบ้านเราเรียกว่า “เล่นจำอวด” เพื่อสร้างภาพไปวันๆ
ส่วนของจริงนั้น “จับเป็นพิธี แล้วปล่อย “ หรือจับแต่ชาวบ้าน
คดีที่โบนันซ่าบุกรุกป่าเขาใหญ่ มีรายงานมาว่ากำลังเล่นจำอวดกัน เพื่อสร้างเครดิตให้กับรัฐบาลว่าทำจริงทำจัง
ตอนนี้ฝุ่นที่ตลบได้เบาบางลง จากนั้นทุกอย่างก็เข้ารอยเดิม เช่นเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้วในกรณีเขายายเที่ยงของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในข้อหา “ถือครองที่ดินและบุกรุกในป่าสงวนของชาติ จำนวน 21 ไร่”
แต่ในที่สุดเรื่องจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง โดยอัยการไม่สั่งฟ้องด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่มีเจตนา”
“ ก็แหม...จะให้คนระดับอดีตนายกฯ คนระดับองคมนตรีจะติดคุกนะหรือ.. เมืองไทยมันไม่เคยเกิด “
และการที่อัยการมีความเห็นว่า “ไม่เจตนา จึงไม่ต้องสั่งฟ้อง” ทำเอาผู้บุกที่เป็นนายทุนใหญ่แอบดีใจไปตามๆกัน เนื่องจากคิดว่าหากเกิดกับกรณีของตน และเรื่องมาถึงมืออัยการเมื่อใดก็คงรอด เนื่องจากมีแนวทางพิจารณาคดีกันเรียบร้อยแล้ว(ว่าไม่เจตนาจะบุกรุก หรือถูกชาวบ้านหลอก)
คดีโบนันซ่าบุกรุกที่ดินบนเขาใหญ่ ที่ออกข่าวครึกโครม มีทหารเป็นร้อยเข้าไปในพื้นที่ ต่อมาทางเจ้าของได้โต้แย้งว่าเป็นที่ดินที่ถูกต้องตามกฏหมาย เนื่องจากประมูลซื้อมาจากกรมบังคับคดี จึงไม่เข้าข่ายว่าเจตนาทำความผิด
สุดท้าย หวยก็ออกมาแล้ว “ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ” จึงไม่มีความผิด ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ที่อยู่ก็อยู่กันไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นี่ไงครับที่เขาเรียกว่า "เล่นจำอวด" หรือทำแบบเล่นๆ ผักชีโรยหน้า หรือลูบหน้าปะจมูก
สรุปว่าการบุกรุกที่ดินของชาติ เป็นเรื่องที่คณะปฏิวัติหรือรัฐบาลคสช. เอาผิดได้แต่พวกปลาซิวปลาสร้อย ส่วนระดับเจ้าสัวนายทุนนั้น ... รอดครับ
ทางที่ดีอยากฝากไปถึงรัฐบาลคณะปฏิวัติสักเรื่องหนึ่งว่า ช่วยดูกรรมสิทธิ์ที่ดินของเหล่านายทหารที่ประจำการในแต่ละภาคว่าได้ที่ดินกันมาอย่างไรบ้าง
เป็นทหารในกรุงเทพฯไม่เคยมีที่ดิน เนื่องจากอยู่บ้านหลวงและอยู่ในที่ดินของหลวง(แถมจนอีกต่างหาก) ปรากฏว่าพอโยกย้ายไปต่างจังหวัด ไม่รู้ว่ารวยอะไรมา กลายเป็นเจ้าของที่ดิน ชนิดที่ชอบภูเขาลูกไหนก็สามารถ ชี้ได้ สั่งได้ และได้มาเป็นของตน
บานเบอะเลยครับ โดยเฉพาะนายทหารที่เกษียณราชการไปแล้ว อย่าบอกว่าไม่มี หรือคิดว่าทหารทำงานเพื่อชาติ ทุจริตไม่เป็น หากใครคิดแบบนี้ก็ขอให้ดูกรณี "พล.ท.มนัส คงแป้น" ผู้ทรงคุณวุฒิจากกองทัพบก เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ "ชาวโรฮิงยา"
"งามหน้าไม๊ละครับ" แบบนี้
แต่คดีนี้โปรดติดตามและจับตาดูให้ดี "ตอนท้ายอาจพลิกล๊อค กลายเป็นมวยล้ม ต้มคนดู" เนื่องจากมีพยามยามให้ทำรูปคดีออกไปในแนวทางที่ไม่เข้าข่ายความผิด หรือหากทำผิดก็อาจมีผู้(ใหญ่)เสนอว่า ในอดีตเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล อย่างเหลือคณานับ จนสุดจะพรรณา ความผิดครั้งนี้จึงถือเป็นความผิดเล็กน้อย ทำได้เพียงว่ากล่าวตักเตือน
เป็นอันว่าจบ
สุภาษิตที่ว่า "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" นั้นเป็นจริงเสมอมาทุกยุคทุกสมัย กลายเป็นวัฒนธรรมอันแสนเลวของสังคมบางจำพวก
สำหรับเที่ยวเวียดนามกลางตอนต่อไป จะพาเข้าเมืองเว้ จากนั้นก็สู่เมืองฮอยอัน ซึ่งทั้งเมืองเว้และฮอยอันก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในเวลาไล่เรี่ยกัน
โฟโต้ออนทัวร์
15 มิถุนายน 2558
|
World's biggest cave discovered in Vietnam!! Hang Son Doong Cave
|
|
|
เซินดอง ถ้ำมหัศจรรย์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ถ้ำนี้มีชื่อว่าถ้ำซุนดุงSon Doong (เวียดนามเรียก เซินด่อง) มีฉายาว่า Mountain River cave หรือถ้ำภูผาแม่น้ำ
ข้อมูล Son Doong Cave ที่พอจะรวบรวมได้ในขณะนี้
1 เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
2 อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติฟองยา เกบ่าง (Phong Nha-Ke Bang National Park)
3 ค้นพบเมื่อปีค.ศ.1991(พ.ศ.2534) โดยชาวเวียดนามท้องถิ่น ชื่อ Ho-Khanh (ความจริงถ้ำแห่งนี้เป็นที่รู้จักนานแล้วแต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปเนื่องมีเสียงประหลาดดังออกมาจากถ้ำ ซึ่งความจริงก็คือเสียงน้ำไหลชั้นใต้ดิน)
4 การสำรวจถ้ำครั้งแรกคือคณะสำรวจจากอังกฤษ ในนามของ British Cave Research Association หรือ BCRA ได้เข้าไปสำรวจเมื่อปี ค.ศ.2009
5 การสำรวจครั้งนี้สร้างความตื่นตาให้กับคณะสำรวจ เนื่องจากพบว่าห้องโถงในถ้ำที่ใหญ่สุดมีความสูงถึง 150 เมตร ยาว 200 เมตร สูงพอๆกับตึก 41 ชั้น
6 ระยะทางยาวของถ้ำ Son Doong 5 กิโลเมตร
7 หินงอกก้อนใหญ่ที่สุดมีความสูง 70 เมตร
8 ทัวร์คณะแรกที่เดินทางไปเที่ยว ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหกคนจากออสเตรเลีย, นอร์เวย์, รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ใช้เวลา 7 วัน 6 คืนสำหรับการท่องเที่ยว
9 ค่าทัวร์คนละ US$ 3,000 หรือประมาณ 100,000 บาท และเป็นทัวร์ประเภท Adventure เดินทาง 7 วัน 6 คืน(นอนถ้ำ)
สนใจติดต่อ http://www.oxalis.com.vn/son-doong-cave |
|
|
|
|
ชมภาพการเดินทางสู่เวียดนามกลาง
ครั้งที่ 1 เมย.50 (ออกทางด่านจังหวัดมุกดาหาร)
ครั้งที่ 2 ตค.51 (ออกทางด่านจังหวัดมุกดาหาร)
ครั้งที่ 3 (ครั้งนี้) ตค.55 (ออกทางด่านจังหวัดนครพนม)
|