Middle Vietnam Part 6
ทริปเวียดนามกลาง เมืองเก่าฮอยอัน (Hoi An Ancient Town )
(เดินทางเดือนตุลาคม ปี55)
ทริปเวียดนามกลางในตอนที่ 6 ยังอยู่ที่เมืองเก่าฮอยอัน แต่พอใกล้เที่ยงก็ออกเดินทางไปยังเมืองดานัง เป็นการย้อนกลับทางเดิม
ฮอยอันเมืองเก่าที่ยังมีชีวิต ผู้คนและสภาพบ้านเมืองโดยทั่วไปยังดำเนินไปตามปกติแบบเดิมๆ
สำหรับประเทศหรือเมืองที่ยังไม่มีการพัฒนามากนัก การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวจึงค่อยเป็นค่อยไป
และเวียดนามก็พึ่งจะเปิดประเทศให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเมื่อราวสิบกว่าปีมานี้เอง ก่อนหน้านั้นก็เป็นประเทศปิดเช่นเดียวกับประเทศจีน
หลังจากพระราชวังเว้ หรือวังต้องห้าม และเมืองเก่าฮอยอันได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกพร้อมๆกับการคมนาคมที่สะดวกขึ้น นักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น รวมทั้งไทยก็เดินทางมาท่องเที่ยวเวียดนามกลางกันมากขึ้น จนสามารถกล่าวได้ว่าเวียดนามกลางสามารถสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวได้มากกว่าทุกภาค
และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่มีโอกาสมาเยือนเวียดนามกลางในช่วงไม่เกิน 10 ปี จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงที่พอจะเปรียบเทียบและนำมาเล่าสู่กันฟัง
ต้องบอกว่าเมืองเก่าฮอยอันและเมืองเว้ มีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก ส่วนเมืองดานัง เท่าที่ผ่านสายตารู้สึกว่ามีการพัฒนาได้เร็วกว่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรัฐบาลเวียดนามกำหนดไว้ในแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ "กำหนดให้ดานังเป็นพื้นที่เศรษฐกิจในเขตภาคกลาง"
รัฐบาลจึงเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆเช่นถนนหนทาง สะพาน นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งการปรับปรุงสนามบินดานัง
ยังจำคำพูดของไกด์ที่เคยมาเที่ยวเวียดนามกลางครั้งแรกเมื่อปี 51 ว่า เมืองดานังจะ ไม่มีขอทาน ไม่มีโสเภณี ไม่มีการพนัน ฯลฯ และจะเป็นเมืองตัวอย่างของการพัฒนาประเทศ
ผ่านไปราว 8-9 ปี ดานังจะเปลี่ยนไปตามแผนแค่ไหนก็ยังไม่แน่ใจนัก แต่ที่เห็นชัดก็คือบริเวณชายฝั่งรอบอ่าวดานังมีการพัฒนาไปมาก เรียบร้อยสวยงาม และสะอาดตากว่าแต่ก่อน แต่ชายหาดรอบอ่าวดานังมีคลื่นจัดและลมแรง จึงไม่มีใครกล้าลงเล่นน้ำ ตลอดแนวชายหาดจึงเห็นธงแดงปักอยู่ตลอดทั้งแนว
เมืองไทยไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องพายุหรือคลื่นลมแรงเหมือนเช่นประเทศเวียดนาม ที่มีชายฝั่งยาวตลอดตั้งแต่ทิศเหนือลงไปถึงทิศใต้เป็นระยะทางถึง
3,440 กิโลเมตร และอยู่ติดกับทะเลจีนใต้ ที่มีพายุเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
เรื่องพายุที่รุนแรงจึงเป็นเรื่องปกติของเวียดนาม สิ่งปลูกสร้างจึงต้องมีความแข็งแรงกว่าบ้านเรามาก
และถนนเลียบชายหาดระหว่างเมืองดานังสู่เมืองฮอยอันที่มีระยะทางราว 30 กม. รัฐบาลเวียดนามเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ สร้างโรงแรม และที่อยู่อาศัย โดยให้สิทธิ์พิเศษต่างๆ
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากนักลงทุนต่างชาติ เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โรงแรมระดับ 5 ดาว ผุดขึ้นหลายแห่ง และกำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายแห่งเช่นกัน
ส่วนการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่นท่าเรือน้ำลึก โครงสร้างพื้นฐาน จะพัฒนาไปถึงไหนก็ไม่แน่ใจนัก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเวียดนามประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เกิดภาวะเงินเฟ้อ และค่าเงินตกต่ำ การพัฒนาอาจชงักไปบ้าง
แต่เวลานี้ทุกอย่างดีขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ก้าวหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี นักท่องเที่ยวมากขึ้น บนถนนมีรถยนต์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน จากที่เคยเห็นแต่คนขี่จักรยาน
ส่วนเมืองเก่าฮอยอัน ทุกอย่างยังเป็นแบบเดิมๆ ยังเป็นเมืองเก่าที่มีเสน่ห์ นักท่องเที่ยวยังมีโอกาสได้สัมผัสกับความดั่งเดิมเหมือนเช่นอดีต ใครชอบชีวิตแบบชิวๆ หรือแบบ Slow Down ต้องมาเที่ยวฮอยอัน มาแล้วก็จะประทับใจในหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะสภาพบ้านเมืองที่มีแม่น้ำลำคลองหล่อเลี้ยงชีวิตและใช้เรือเป็นพาหนะ
เมืองเก่าที่เป็นมรดกโลกสำหรับภูมิภาคนี้ เท่าที่ทราบก็มีเมือง “หลวงพระบาง” กับ “เมืองฮอยอัน” นอกนั้นจะเป็นมรดกโลกทางประวัติศาสตร์ และทางธรรมชาติ
สำหรับเมืองไทยคงหาเมืองเก่าที่พอจะเป็นมรดกโลกไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากบ้านเมืองพัฒนาไปมาก จากที่เคยเป็นเมืองเก่าก็กลายเป็นเมืองใหม่ทันสมัยกันจนหมด ส่วนที่พอจะหาได้ก็เป็นแบบแกนๆ เป็นการจำลองหรือสร้างบรรยากาศให้ดูย้อนยุค ต่างกับ ฮอยอัน และ หลวงพระบาง ยังเป็นของจริงที่ไม่ไช่ของปลอม
เราออกจากฮอยอันตอน 10 โมงกว่าๆ ราว 11 โมงก็ถึงดานัง จากนั้นก็แวะเดินเล่นชายหาดนิดหน่อยตรงจุดที่เป็นลานกว้าง และมีงานศิลปะสีขาวกลางแจ้ง เดินวนจนรอบก็ยังไม่เข้าใจว่างานศิลปะชิ้นนี้มีความหมายว่าอย่างไร มันลึกล้ำเกินปัญญาของเราที่จะเข้าใจหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ หรือว่าเค้าออกแบบมาเพื่อให้เราดูไม่รู้เรื่อง
ตอนนั้นมีกลุ่มนักศึกษากลุ่มใหญ่กำลังจัดกิจกรรมกลางหาดทรายที่ร้อนอบอ้าว
เดินวนไปมาอยู่พักใหญ่เพื่อจะถ่ายภาพสาวๆนักศึกษา แต่ก็หายากเนื่องจากทุกคนใส่หมวกกันหมด
ยังนึกในใจว่าหากเป็นเมืองไทยแล้วคงได้ถ่ายจนเวียนหัว สรุปว่าสาวไทยสวยกว่าสาวเวียดนาม
อยู่บริเวณนั้นได้ไม่นานก็เดินทางกันต่อเพื่อข้าม "เขาไฮ่เวิน- Hai Van" ซึ่งคล้ายเป็นเส้นแบ่งระหว่างเมืองเว้กับดานัง
แต่ก่อนจะขึ้นเขา เรามีโอกาสใช้เส้นทางสายใหม่ที่ต้องข้าม สะพานถ่วนเฟื้อก (Thuan Phuoc) ต่างจากการเดินทางครั้งก่อนๆที่ต้องอ้อมไปอีกทางหนึ่งเนื่องจากสะพานแห่งนี้ยังสร้างไม่เสร็จ
สะพานแขวนนี้มีความยาว 1,850 เมตร ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆเมื่อ 5-6 ปีก่อน ถือว่าเป็นสะพานแขวนที่ทันสมัยและยาวที่สุดของเวียดนาม
แต่ปัจจุบัน(นับจากปี 58เป็นต้นไป) สะพานเญิตเติน (Nhat Tan) ยาว 3,700 เมตร ที่เมืองฮานอยได้ลบสถิตินี้ไปเรียบร้อยแล้ว
ใครมาเที่ยวเวียดนามหากเป็นคนช่างสังเกตก็จะเห็นว่าเป็นประเทศที่มีสะพานค่อนข้างมาก บางแห่งก็คู่ขนานไปกับสะพานรถไฟ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่มีแม่น้ำลำคลองมากและอยู่ในเขตมรสุมที่มีฝนตกชุก จึงมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างมาก สามารถทำนาได้ปีละ 3-4 ครั้ง
เวียดนามจึงเป็นประเทศที่ปลูกข้าวได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศในกลุ่มอาเซียน ใครมาเที่ยวเวียดนามสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตาตนเองว่าไปทางไหนก็เห็นแต่ทุ่งนาที่สุดลูกหูลูกตา
เวียดนามไม่ปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเหมือนบ้านเรา ชาวนาเวียดนามทำนากันอย่างจริงจัง และหลังเก็บเกี่ยวได้ไม่นานก็จะปรับพื้นที่เพื่อปลูกข้าวกันรอบใหม่ วนเวียนเช่นนี้ไปตลอดทั้งปี
บ้านเราจะเห็นการปลูกข้าวชนิดเต็มท้องทุ่งเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น จากนั้นก็จะปล่อยให้ที่นาว่างเปล่า พอต้นฤดูฝนปีหน้าจึงค่อยว่ากันใหม่ ส่วนในเขตภาคกลางบางจังหวัดที่มีการผันน้ำจากคลองชลประทานก็จะมีโอกาสได้ทำนาในรอบที่สอง แต่ก็มีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น
สำหรับในตอนต่อไปก็จะเดินทางเข้าสู่เมืองเว้ อดีตเมืองหลวงเก่า หรือฉายาอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นเมืองของกษัตริย์
ประวัติศาสตร์เรื่องสถาบันกษัตริย์ และกษัตริย์ใน ราชวงศ์หงียน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม ก็อยู่ที่เมืองนี้ นอกจากจะเป็นเมืองกษัตริย์แล้ว เมืองเว้ยังได้ชื่อว่าเป็น เมืองต้นแบบทางวัฒนธรรมของเวียดนาม
อาหารการกินแบบชาววัง รสชาติอาหารต้นตำรับ หรือแม้แต่ "อ่าวหญ๋าย" ชุดประจำชาติเวียดนาม ก็มีกำเนิดมาจากภายในพระราชวังเว้เช่นกัน
โฟโต้ออนทัวร์
7 สิงหาคม 2559
ชมภาพการเดินทางสู่เวียดนามกลาง
ครั้งที่ 1 เมย.50 (ออกทางด่านจังหวัดมุกดาหาร)
ครั้งที่ 2 ตค.51 (ออกทางด่านจังหวัดมุกดาหาร)
ครั้งที่ 3 (ครั้งนี้) ตค.55 (ออกทางด่านจังหวัดนครพนม)
|