แผนที่ประเทศพม่า : แผนที่เมืองย่างกุ้ง : ตำแหน่งที่ตั้งเมืองเนปิดอร์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า
Myanmar part 1
เที่ยวพม่า ตอนที่ 1
(เดินทาง มกราคม.2555)
นับจากประเทศพม่า(Burma) หรือเมี่ยนม่าร์(Myanmar)ในชื่อใหม่ มีนโยบายปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ หลังย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองเนปิดอร์ (Nay pyi daw) เมื่อปี 2548 ต่อมาก็มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของผู้นำทางการเมือง ให้มาอยู่ในมือของนายพล เต็งเส่ง ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 53
นายพล เต็ง เส่งก็ได้รับแต่งตั้งจากสภาให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 53
การปรับเปลี่ยนนโยบายหรือการปฏิรูปประเทศนับจากนายพลเต็ง เส่ง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดี ในระยะแรกๆได้ถูกชาวโลกปรามาสว่า คงไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลเผด็จการทหารชุดก่อนๆ ส่วนการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 53 ก็เพื่อแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า พม่าก็มีการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้ถูกดูแคลนจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะจากองค์กรสิทธิมนุษย์ชนและองค์กรปฏิรูปประชาธิปไตยที่โจมตีผู้นำพม่ามาโดยตลอด
ผลจากการปรับเปลี่ยนประเทศครั้งนี้ ทำเอาหลายประเทศงุนงงไม่น้อย ที่จู่ๆก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีมาตามลำดับ เช่นการประกาศปล่อยตัวนางอองซาน ชูจี ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน การเปิดโอกาสให้บุคคลสำคัญจากหลายๆประเทศเข้าพบนางอองซาน การปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้งการเจรจากับกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆเพื่อยุติการสู้รบอย่างถาวร
ส่วนภายในประเทศพม่าก็เองมีการปลดล็อคกฏเกณฑ์ความเข้มงวดต่างๆไปเป็นอันมาก และล่าสุดก็ยังเปิดโอกาสให้นางอองซาน สมัครลงเลือกตั้งซ่อมในเดือนเมษายนปี 55 หรืออีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้
ชาวพม่าในปัจจุบันมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันประชาชนเริ่มพูดคุยกันและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ จากเมื่อก่อนที่ต้องเหลียวซ้ายแลขวา ว่าจะมีสายลับของรัฐบาลแอบดักฟังหรือไม่ ซึ่งอาจปลอมตัวเป็นชาวบ้าน หรือปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยว
สื่อมวลชนพม่าในปัจจุบันมีความเป็นอิสระมากขึ้น เขียนข่าวและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ หลังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร ซึ่งการรับรู้ข่าวสารของคนพม่าจะอาศัยหนังสือพิมพ์เป็นหลัก หนังสือพิมพ์จึงเป็นหนทางเดียวที่ประชาชนจะมีโอกาสรับรู้ความเคลื่อนไหวของบ้านเมือง เปรียบเทียบกับเมืองไทยก็น่าจะอยู่ในยุค 14 ตุลาปี 16 ส่วนสื่ออื่นๆเช่นอินเตอร์เน็ตก็คงเฉพาะในกลุ่มผู้มีฐานะและมีการศึกษา ชาวบ้านทั่วไปส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้เรื่อง
สำหรับวิทยุ และโทรทัศน์นั้นก็ตกอยู่ในมือของรัฐบาล คอยทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์แต่ภาพลักษณ์ที่ดีๆ ตามที่เราเห็นภาพโทรทัศน์พม่าผ่านดาวเทียม
ประเทศพม่าปกครองแบบเผด็จการทหารเป็นต้นมา นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ไม่นาน แต่ก็น่าแปลกที่พม่าไม่ได้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ เหมือนเช่นประเทศอื่นๆทางแถบอินโดจีน ที่กลายเป็นพื้นที่สีแดงหรือเป็นคอมมิวนิสต์กันเกือบทั้งหมด หลังสงครามสงบประเทศต่างๆเริ่มฟื้นตัวและเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย มีการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าตามลำดับ แต่พม่าก็ยังเหมือนเดิม คือยังเป็นเผด็จการทหาร
พม่ากลายเป็นประเทศปิดและล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆในเอเชีย พม่าถูกบอยคอตจากชาติทางยุโรปและอเมริกา ถูกตัดสิทธิ์การส่งสินค้าไปขายยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป(หรือกลุ่มอียู)และอเมริกา ส่วนคนพม่าที่อยู่ตรงกับกับรัฐบาลมักถูกเพ่งเล็งและถูกจับขังโดยไม่มีการใต่สวน แม้แต่นางอองซาน ซุจี นักเคลื่อนไหวคนสำคัญก็ยังต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ
แต่พม่าก็ไม่เคยง้อใคร ใครจะโดดเดี่ยวก็ไม่สนใจ
จนพม่ากลายเป็นประเทศมีการพัฒนาอย่างเชื่องช้าที่สุดของเอเชีย
เราคงจำกันได้ว่าเมื่อครั้งที่ พายุนาร์กีสพัดเข้าถล่มพม่าเมื่อปี 2551 ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตและสูญหายราว 2 แสนคน นับเป็นโศกนาฎกรรมครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภูมิภาคนี้ แม้ประเทศจะตกอยู่ในภาวะของความหายนะ ประชาชนอดอยาก และไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลพม่าก็ไม่ขอรับการช่วยเหลือจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากชาติยุโรปและอเมริกา แต่จะยอมรับความช่วยเหลือจากชาติต่างๆเพียงไม่กี่ชาติเท่านั้นเอง
และประเทศที่ประสงค์จะขอเข้าไปให้ความช่วยเหลือก็ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลพม่าเสียก่อนว่าจะมาช่วยเรื่องอะไร เพราะพม่าก็ไม่ไว้ใจประเทศมหาอำนาจทั้งหลายว่าจะอาศัยเหตุการณ์นี้ไปสร้างเงื่อนไขต่อรองกันภายหลัง เช่นการขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ที่ต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขต่างๆ และกองทุนจากต่างชาติมักอาศัยการช่วยเหลือเป็นประตูเพื่อให้ตนเองเข้าไปจัดการเรื่องต่างๆของประเทศนั้นๆมานักต่อนักแล้ว
เรียกว่าของฟรีไม่มีในโลก
ในอดีตประเทศไทยก็เคยเจอมาแล้วเมื่อคราวต้องกู้เงินจากธนาคารโลก (World Bank) เพื่อนำมาพัฒนาประเทศในฐานะประเทศด้อยพัฒนา หรือการกู้เงินจากกองทุน IMF ที่พึ่งผ่านพ้นไปเมื่อปี 2540 จนรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังขายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการธนาคารในประเทศ การเปิดประเทศให้มีการลงทุนข้ามชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่นการเข้ามาของห้างเทสโก้โลตัส บิกซี คาร์ฟู ฯลฯ
ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่เมื่อปี 2540 เป็นบทเรียนให้กับประเทศไทยเป็นอย่างดีว่า นอกจากประเทศจะได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากกองทุนระหว่างประเทศแล้ว เราก็ต้องเสียอิสระภาพไปหลายๆอย่างเพื่อแลกกัน
กลับมาเรื่องการช่วยเหลือของต่างชาติคราวเมื่อเกิดพายุนาร์กีส ที่พม่าตอกสหรัฐอเมริกาจนหน้าหงาย และขายขี้หน้าไปทั่วทั้งโลก กรณีเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐขนเสบียงอาหารพร้อมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเพื่อช่วยเหลือชาวพม่าที่ประสบภัยอย่างหนัก แต่รัฐบาลพม่าได้ปฏิเสธความช่วยเหลือของสหรัฐ และไม่ยอมให้เรือบรรทุกเครื่องบินและเรือรบคุ้มกันเข้ามาในน่านน้ำพม่า ในที่สุดเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐต้องกลับประเทศไป หลังลอยเท้งเต้งกลางทะเลมาเป็นเวลาหลายวัน
ต้องบอกว่าพม่าแน่มาก ไม่ต่างกับ ดร.มหาเธร์ อดีตนายกฯมาเลเซีย ที่ตอกหน้าสหรัฐอเมริกามาแล้วสมัยประธานาธิบดี จอร์จ บุช กรณีเศรษฐกิจฟองสบู่ ที่ฝรั่งตั้งฉายาว่า " วิกฤติต้มยำกุ้ง " ขณะเดียวกัน ดร.มหาเธร์ ก็ยังปรามาสไทย กรณีที่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 40 และทำให้ประเทศไทยต้องได้รับความเสียหายจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ด้วย
ประเทศไทยไม่มีปัญหากับพม่า และเป็นประเทศแรกที่เข้าไปให้การช่วยเหลือหลังเกิดพายุไซโคลนนาร์กิสเข้าถล่ม โดยไทยส่งข้าวสารและทีมแพทย์เข้าไปช่วยเหลือ และเมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯไทยในขณะนั้นเดินทางไปถึงพม่าเพื่อมอบสิ่งของด้วยตัวเอง ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีของพม่าในเวลานั้น
เหตุการณ์ครั้งนั้นถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า อยู่ในระดับที่ดีมาก
จากนั้นไม่นานพม่าก็เกิดความรุนแรงขึ้นในประเทศ มีประชาชนและพระสงฆ์เรือนแสนออกมาประท้วงรัฐบาลกรณีขึ้นราคาน้ำมัน เหตุการณ์เริ่มขึ้นที่เมืองย่างกุ้งหรือเมืองหลวง แต่การประท้วงได้ลุกลามไปทั่วประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลอดรนทนไม่ไหวจึงส่งทหารเข้ามาปราบปราม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก
จากเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของพม่าจากการปรับขึ้นราคาน้ำมัน อาจทำให้รัฐบาลต้องวางแผนย้ายเมืองหลวงไปยังที่ใหม่อย่างเงียบๆ ชนิดที่สื่อต่างชาติก็ไม่ระแคะระคายในเรื่องนี้ จะรู้ก็ในวันที่พม่านำรถทหาร และรถบรรทุกนับพันๆคันเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์รวมทั้งข้าราชการที่ต้องไปอาศัยอยู่เมืองใหม่
อาจมีข้อสงสัยว่าทำไมจึงต้องย้ายกันใหญ่โตมโหฬารในวันนั้น ก็ต้องบอกว่าผู้นำพม่ายังถือฤกษ์ถือยามตามความเชื่อของโหราศาสตร์ในศาสนาพรามหณ์ เช่นเดียวกับบ้านเรา ดังนั้นฤกษ์ดีในการย้ายเมืองเหลวง ก็คือเวลา 6 นาฬิกา 37 นาที วันที่ 11 พฤศจิกายน (เดือน 11) ปี พ.ศ. 2548
เมืองหลวงใหม่มีชื่อว่า เนปิดอร์ อยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางเหนือราว 323 กม. และการย้ายเมืองหลวงก็ถูกวิจารณ์ว่าเพื่อหนีการประท้วง เพราะหากมีเหตุการณ์รุนแรง เมืองหลวงใหม่ก็คงมีการควบคุมได้ง่ายกว่าเมืองย่างกุ้งที่มีประชากรอยู่หนาแน่น
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานศึกษาบางแห่งถูกย้ายไปอยู่นอกเมืองหลวง เพื่อให้มีการชุมนุมรวมตัวกันยากขึ้น ตัวอย่างการย้ายวิทยาลัยอาชีวะ จากเมืองย่างกุ้งไปอยู่เมืองสิเรียมที่อยู่ห่างออกไปราว 35 กม.ใครนั่งรถจากย่างกุ้งข้ามแม่น้ำอิรวดี เพื่อเข้าสู่เมืองสิเรียม ก็อาจเห็นตึกใหม่ของวิทยาลัยอาชีวะแทรกตัวอยู่กลางป่า
จากเหตุการณ์รุนแรงทั้งจากภัยธรรมชาตินาร์กีสและการประท้วงภายในประเทศ รวมทั้งถูกบีบคั้นจากนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ที่มักยกเอาเรื่องการกักตัวนางอองซาน ซูจี มาเป็นข้ออ้าง
และที่เป็นข่าวซ็อคโลกจนหลายประเทศเริ่มวิตก(รวมทั้งไทยด้วย) กรณีพม่ากับเกาหลีเหนือร่วมมือการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในภูเขาแห่งหนึ่งของพม่า พร้อมมีภาพถ่ายขณะกำลังก่อสร้างในถ้ำลับแห่งหนึ่ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังอเมริกาจับได้ว่าเกาหลีเหนือมีโรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงกับสหประชาชาติ เกาหลีเหนือจึงย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่ประเทศพม่าซึ่งเป็นคู่อริกับสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน แต่ไม่นานข่าวนี้ก็เงียบไป ประเทศอเมริกาเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจ อาจเป็นไปได้ว่าทั้งพม่าและเกาหลีเหนือกำลังเล่นละครตบตาชาวโลก
พม่าถึงแม้จะถูกบอยคอตจากยุโรปและอเมริกา แต่ก็หันไปญาติดีกับอินเดีย และจีน ประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสนิทชิดเชื้อและมีพรมแดนติดกับพม่า โดยเฉพาะความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับจีน ที่สหรัฐอเมริกาคงกังวลไม่น้อย และคงรู้ว่าพม่าไม่ได้อยู่โดดเดียวเหมือนเมื่อก่อน และอาจเป็นไปได้ว่าสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านต่างประเทศกับพม่า หลังประธานาธิบดีโอบามาเข้ารับตำแหน่ง และแต่งตั้งให้นางฮิลารี่ คลินตัน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เราจะเห็น นางฮิลลารี คลินตัน เข้ามามีบทบาทในการประชุมผู้นำอาเซี่ยนหลายครั้ง และเมื่อปลายปี 54 ก็มาเมืองไทยเพื่อเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมกับแวะไปพบกับนางอองซานที่พม่า
พม่าจะทะเลาะกับใครไม่ว่า แต่จีนและอินเดียก็เข้าไปหาผลประโยชน์ในท่ามกลางความขัดแย้ง โดยเฉพาะประเทศจีน ได้เข้าไปลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วยเงินมหาศาล เช่นการสร้างเขื่อน สร้างสะพาน รวมทั้งถนนหนทาง
พม่าให้ความไว้วางใจกับประเทศจีนค่อนข้างมาก การก่อสร้างอาคารต่างๆในเมืองหลวงเนปิดอร์ ก็เป็นนักลงทุนจากจีนทั้งสิ้น ตึกอาคารรัฐสภา ตึกที่ทำการของรัฐบาล รวมทั้งศูนย์การค้าในเมืองหลวงใหม่ จีนทั้งนั้นที่ไปลงทุน เท่านั้นไม่พอในศูนย์การค้าแห่งใหม่ก็มีแต่สินค้า Made in China แต่เพียงผู้เดียว
น่าแปลกใจที่รัฐบาลทหารพม่าปรับเปลี่ยนนโยบายจากบทบาทแข็งกร้าว มาเป็นบทบาทสุภาพอ่อนโยน ชนิดที่ชาวโลกก็งุนงงไปตามๆกันว่ามันเปลี่ยนเร็วมากจนตามไม่ทัน เรื่องนี้สอบถามคนพม่าก็ได้คำตอบว่า
ผู้นำพม่าไม่ต้องการให้ประเทศของตนเองเหมือนกับประเทศทางตะวันออกกลางที่ประชาชนออกมาลุกฮือขับไล่ผู้นำ เช่นพลเอกซัดดัม จากอีรัก หรือพลเอกกัดดาฟีจากลิเบีย ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศต้องประสบชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน และเป็นชนวนให้ประเทศอื่นๆทางแถบตะวันออกกลางหันมาเอาอย่างบ้าง
ผู้นำพม่าคงเห็นตัวอย่างความล้มเหลวของผู้นำชาติต่างๆ และคิดว่าสักวันหนึ่งเหตุการณ์แบบนั้นอาจเกิดขึ้นในพม่าก็เป็นได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงครั้งล่าสุดกรณีที่รัฐบาลปรับราคาน้ำมัน คงเป็นเครื่องเตือนสติผู้นำพม่าได้เป็นอย่างดี และคงรู้ว่าหากไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย ผู้นำรัฐบาลอาจต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศก็เป็นได้
รัฐบาลพม่าถือว่ามองการณ์ไกล และหากทุกอย่างเรียบร้อยจนนำไปสู่การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ภาพลักษณ์ของคำว่าเผด็จการทหาร ก็จะค่อยๆจางหายไป และถือว่าเป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจมาอยู่ในมือของประชาชน ซึ่งผู้นำทหารคงทราบดีว่า คนพม่าค่อนประเทศชื่นชอบนางอองซาน หรือพรรคฝ่ายค้าน NLD และอีกไม่นานทุกอย่างก็จะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาก็คงเต็มไปด้วย สส.จากพรรค NLD จากนั้นอดีตผู้นำทหาร ก็คงต้องลงจากอำนาจอย่างสง่างาม
แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ต้องรอจนถึงเวลานั้น การลงจากอำนาจโดยที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะผลประโยชน์ของผู้นำทหารทั้งนั้น ที่เป็นเจ้าของในกิจการขนาดใหญ่ เช่นธุรกิจพลังงานต่างๆที่มีเม็ดเงินมหาศาล
นโยบายปฏิรูปกับการลงทุนของต่างชาติ
ปัจจุบันการลงทุนในพม่ามีอนาคตคงสดใสมากกว่าแต่ก่อน ที่ต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้มีอำนาจ
คาดว่าอีกไม่นาน พม่าอาจเป็นประเทศผู้นำด้านพลังงานที่สำคัญของเอเชีย ชาวพม่า้ทราบกันดีว่าบริเวณอ่าวพม่านั้นเป็นแหล่งพลังงานมหาศาล มีบ่อแก็สและน้ำมันเต็มไปหมด ทุกคนกำลังรอความหวังในอนาคตว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนกับประเทศไทยในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ทีมักจะใช้คำว่า " โชติช่วงชัชวาล " พม่าในปี พ.ศ.นี้ก็อาจกำลังก้าวสู่คำว่า โชติช่วงชัชวาลไม่ต่างกับไทย
ชาวพม่าทุกวันนี้ต่างมีความสุขและมีความหวัง ผู้นำพม่าบอกคนพม่าว่า ขอให้การต้อนรับคนต่างชาติ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และเคยกล่าวว่า
"อนาคตพม่าจะมีแต่ธุรกิจที่ไม่มีควันพิษ" นั่นก็คือธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ที่จะไม่มีโรงงานและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เที่ยวพม่าตอนที่ 1 คงปูพรมให้ทราบถึงเรื่องราวพม่าแบบคร่าวๆ ก่อนที่จะพาไปเที่ยววัดวาอารามและพระเจดีย์ที่ขึ้นชื่อของพม่า ทัวร์พม่าคราวนี้จึงเป็นการท่องเที่ยวกับสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาของพม่าที่มีอายุยืนยาว ชนิดที่ห่างกับประวัติศาสตร์ชาติไทยหลายช่วงตัว
เมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมา ชาวพม่ามีพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 2,600 ปี ของพระธาตุเจดีย์ชเวดากอง ที่ชาวพม่าให้ความเลื่อมใสมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ พระธาตุเจดีย์ชเวดากองมีอายุถึง 2,600 ปี เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเหลือเชื่อ และน่าแปลกใจว่าทำไมปัจจุบันนี้ องค์พระธาตุเจดีย์จึงดูสวยสดงดงาม ทั้งๆที่มีอายุยืนนานขนาดนั้น
คำตอบก็คือเพราะพลังศรัทธาของชาวพม่าทุกยุกทุกสมัยให้การทำนุบำรุงมาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็มีการเสริมสร้างองค์พระธาตุให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จากพระธาตุเจดีย์องค์แรกที่สร้างนั้นอาจมีความสูงไม่มากนัก
ภาพจาการเดินทางในครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสให้คนไทยอีกหลายๆคนได้เห็นคนพม่าในแง่มุมต่างๆ และเห็นสภาพของบ้านเมืองในปัจจุบันว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร แม้จะไม่ไช่คำตอบทั้งหมดแต่อย่างน้อยๆในสายตาของนักท่องเที่ยวและตามเส้นทางในโปรแกรมทัวร์พม่าที่ได้ผ่านตาไป ก็พอสะท้อนความจริงได้มากพอสมควร
พม่าตอนต่อไปจะพาออกนอกเมืองย่างกุ้งเพื่อเดินทางสู่เมืองหงสา อดีตเมืองหลวงเก่าที่คนไทยรู้จักกันดี โดยเฉพาะจากภาพยนต์เรื่องพระนเรศวร ที่จะได้ยินคำว่า เมืองหงสา หรือ เมืองหงสาวดี กันค่อนข้างบ่อย
โฟโต้ออนทัวร์
26 กุมภาพพันธ์ 2555
แผนที่ประเทศพม่า แผนที่เมืองย่างกุ้ง - สิเรียม และแผนที่เมืองเนปิดอร์
|