แผนที่ประเทศพม่า : แผนที่เมืองย่างกุ้ง : ตำแหน่งที่ตั้งเมืองเนปิดอร์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า
Myanmar Part 6 : Kyaiktiyo Pagoda (Golden Rock)
เที่ยวพม่าตอนที่ 6 : นั่งเสลี่ยงขี้นเขาสู่พระธาตุอินทร์แขวนหรือ พระธาตไจ้ก์ทิโย
(เดินทาง มกราคม.2555)
ความตอนที่แล้วหรือตอนที่ 5 หลังออกจาก วัดไจ้ท์ปอลอ หรือพระไฝเลื่อน รถบัสก็พามาถึง คิมปูนแค้มป์ เมือง ไจ้ก์โถ่ (Kyaik Tito) อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญ
คิมปูนแค้มป์เป็นหมู่บ้านเล็กๆตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา เมื่อมาถึงก็ต้องเปลี่ยนถ่ายจากรถบัสท่องเที่ยวมาเป็นรถ 6 ล้อประจำทางที่วิ่งขึ้นเขา-ลงเขาโดยเฉพาะ
ผู้ที่จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวนที่อยู่บนยอดเขาสูง 1200 เมตรหรือ 3600 ฟุต ก็ต้องมาขึ้นรถที่นี่กันทุกคน หากจะเปรียบก็คล้ายกับคิวรถสองแถวเชิงดอยสุเทพ ซึ่งเป็นท่ารถที่รับส่งผู้โดยสารเพื่อขึ้นไปนมัสการพระธาตุบนดอยสุเทพ
รถประจำทางที่พานักท่องเที่ยวขึ้นไปบนเขาเป็นรถไม่มีหลังคา(ฝนตกคงวุ่น) ส่วนรถนักท่องเที่ยวทั่วไปหรือรถส่วนบุคคลต้องจอดไว้ด้านล่าง เนื่องจากเป็นเส้นทางอันตราย มีโค้งหักศอกหลายแห่งและเป็นเขาที่สูงชันมาก ทางการจึงสงวนไว้เฉพาะรถของท้องถิ่นที่ขับโดยผู้ชำนาญทางเท่านั้น
รถประจำทางแบบนี้ใครได้มานั่งก็เหมือนมาเที่ยวเมืองไทยแบบย้อนยุค นักท่องเที่ยวเห็นสภาพแล้วก็ขำกันใหญ่ ทำให้นึกถึงรถขนคนงานก่อสร้างหรือรถขนแรงงานต่างชาติในบ้านเราอะไรประมาณนั้น
เมื่อก่อนเมืองไทยคงมีสภาพไม่ต่างกับที่เห็นนี้ ทั้งการสภาพเดินทางและถนนหนทาง พอบ้านเมืองเจริญขึ้นภาพเก่าๆก็พลอยลืมเลือนไปจากความทรงจำ การมาเที่ยวพม่าคราวนี้จึงได้บรรยากาศแบบสุดๆ หรือได้มาเห็นพม่าแบบ Original
ที่นั่งผู้โดยสารบนรถประจำทางใช้ไม้ท่อนหนาๆ กว้างประมาณ 1 คืบ วางพาดขวางขอบกระบะได้ราว 5 - 6 แถว และเป็นม้านั่งที่ไม่มีพนักพิง ขณะรถวิ่งก็ต้องพยายามยึดม้านั่งให้ดีๆ ไม่เช่นนั้นกลิ้งแน่ ยิ่งรถวิ่งไปนานๆก็ชักจะเจ็บก้นจากแรงกระเทือนของผิวถนนที่ขรุขระ บางช่วงโชเฟอร์ก็ขับเร็วด้วยความชำนาญ เข้าโค้งก็เหวี่ยงซ้ายทีขวาที แต่พอนั่งไปนานๆชักเริ่มชินจนไม่รู้สึกลำบากอะไรนัก

ส่วนวิธีขึ้น-ลงรถ จะว่าไปแล้วไม่ต่างกับการขึ้นเครื่องบินในสนามบินต่างจังหวัด เมื่อรถจอดถึงที่หมายก็จะมีคนเลื่อนบันใดเหล็กมาชิดข้างรถ เพื่อให้ผู้โดยสารปีนข้ามลงมาได้
ถามว่าคนแก่คนสูงวัยจะไปเที่ยวไหวหรือไม่ ก็ต้องตอบตรงๆว่า แก่มากคนไม่ไหวมั้ง แต่ถ้าแก่ถึงขนาดมาเที่ยวพม่าได้ ก็ไหวทั้งนั้นแหละครับ กรุ๊ปที่มาด้วยกันอายุ 73 ปี ก็มี 75 ก็มี ก็ไม่เห็นเค้าบ่นลำบากอะไร แถมลูกหลานที่มาด้วยกันก็ไม่ดูแลอะไรเป็นพิเศษ ต่างคนต่างเดิน ไม่ต้องคอยหิ้วปีกให้เป็นภาระ
มาเที่ยวพระธาตุอินทร์แขนที่นี่ก็ดีอย่าง ไม่ว่าจะยากดีมีจน จะเป็นฝรั่งชาติไหนๆหรือจะมีฐานะระดับเศรษฐี เมื่อมาที่นี่ก็ต้องนั่งรถที่ไม่มีหลังคากันอย่างเสมอภาค
นึกในใจก็ดีเหมือนกัน มีความรู้สึกปล่อยวาง นั่งรถที่กระแทกกระทั้น มีลมพัดปลิวจนหัวฟู ทำให้เห็นคุณค่าของการมาเที่ยวเมืองพม่าที่น้อยคนจะได้สัมผัส มีโอกาสเห็นสภาพบ้านเรือนของพม่าในช่วงที่กำลังเปิดประเทศ ทุกอย่างจึงดูเดิมๆไร้การปรุงแต่ง แม้แต่หน้าตาของสาวพม่าก็แทบจะไม่เคยโดนเครื่องสำอางหรือสารเคมีใดๆ อย่างมากก็มีแป้งทานาคาที่ฝนมาจากเปลือกไม้ ซึ่งชาวพม่าถือว่าเป็นเครื่องสำอางประจำชาติที่ใช้กันมาหลายพันปีแล้ว
ไกด์บอกว่าถนนลาดยางที่สร้างขึ้นไปบนพระธาตุมีระยะทางราว 18 กิโลเมตร ทางวัดพระธาตุอินทร์แขวนเป็นผู้ออกทุนก่อสร้างทั้งหมด และยังบอกว่าแต่ละปีวัดนี้จะได้รับเงินบริจาคค่อนข้างมาก เรียกว่าเป็นวัดเศรษฐี สังเกตได้จากตู้รับบริจาคที่ตั้งอยู่ภายในวัดจะมีเงินอัดแน่นทุกตู้ อีกอย่างเรื่องการบริจาคนี้ชาวพม่ามักใจป้ำด้วยกันทั้งนั้น วัดไหนๆก็จะเห็นตู้บริจาคเต็มไปหมด แต่ละตู้ก็เต็มไปด้วยธนบัตรหลากสี
ที่เห็นว่ามีเงินมากก็เนื่องจากเป็นตู้กระจก ไม่ได้เป็นตู้ไม้ทึบๆแบบบ้านเรา
ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เศรษฐีมีเงินชาวพม่ามักเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพุทธศาสนามาตลอด แม้จะไปอยู่ต่างประเทศก็ยังมีจิตศรัทธาทำบุญทำทานออกเงินสร้างวัดให้เป็นศรีสง่าแก่สถานที่นั้นๆ ตัวอย่างเช่นที่วัดศรีชุมและ วัดศรีรองเมืองในจังหวัดลำปาง พ่อค้าไม้ชาวพม่าที่เข้ามาทำธุรกิจค้าไม้สักกับฝรั่งชาวอังกฤษ ได้สร้างถวายเป็นพุทธบูชา พร้อมกับนำช่างฝีมือมาจากพม่ามาก่อสร้างด้วย
พระธาตุอินทร์แขวนในเขตรัฐมอญเป็นหนึ่งในศาสนสถานสำคัญของพม่า และเป็นอันดับสองรองจากพระธาตุเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง ที่ได้รับความนิยมสูงสุด
คนไทยไม่น้อยที่มีความศรัทธาพระธาตุอินทร์แขวนอย่างแรงกล้าไม่แพ้ชาวพม่า แม้จะอยู่ห่างไกลกันนับเป็นพันๆกิโลเมตร ก็ยังดั้นด้นมาทำบุญกันบ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่นสุภาพสตรีคนหนึ่งที่มากับคณะเราเล่าว่าเคยมาที่นี่เป็นครั้งที่ 7 แล้ว บอกว่ามาตั้งแต่ยังเป็นสาวๆหรือตั้งแต่พม่ายังไม่เป็นประเผด็จการ จนถึงสูงวัยหรือส.ว. ที่มาบ่อยก็เพราะศรัทธา ทุกครั้งที่มาก็จะมานั่งสมาธิต่อหน้าองค์พระธาตุหรือก้อนหินศักดิ์สิทธิ์
เรื่องความศรัทธานี้จึงขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่สำหรับชาวพม่าแล้วต้องบอกว่ามีความศรัทธากันอย่างล้นเหลือ และแทบทุกคนที่เดินทางมากราบไหว้ก็จะต้องมาค้างคืนที่วัดเนื่องจากการเดินทางขึ้นเขาค่อนข้างลำบาก บางคนก็มาจากจังหวัดไกลๆ จึงต้องเตรียมของใช้เช่นเสื้อผ้าและของกินของใช้มาด้วยทุกครั้ง
ทางขึ้นเขาช่วงแรกเป็นการเดินทางโดยรถมีระยะทางราว 18 กม.ใช้เวลาเดินทาง 30 นาทีแบบพอดิบพอดี พอลงจากรถก็จะเดินเท้าต่ออีก 2 กม.จนถึงพระธาตุอินทร์แขวน
เส้นทางโหดหรือไม่ก็คิดกันเอาเอง คนไทยอาจเห็นเป็นเรื่องลำบาก แต่คนพม่าบอกเป็นเรื่องปกติ การไปทำบุญในสถานที่ยากลำบากคนไทยสมัยก่อนบอกว่าจะได้บุญเยอะ เพราะหากไม่มีบุญก็คงมาไม่ถึง คนพม่าในปัจจุบันก็คงคิดเหมือนคนไทยในอดีต คิดว่าบุญเป็นเรื่องใหญ่ และหากคิดได้แบบนี้ก็จะส่งผลต่อความคิดความอ่านของเราให้อยู่ในศีลในธรรม ไม่ประพฤตินอกลู่นอกทาง
รถพามาถึงปลายทางซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่นี่ผู้คนคึกคักมากโดยเฉพาะผู้ชายนุ่งโสร่งใส่เสื้อสีน้ำเงินนับเป็นร้อยๆคน ซึ่งคนเหล่านี้ก็คือคนแบกเสลี่ยงที่พานักท่องเที่ยวขึ้นไปบนพระธาตุอินทร์แขวน เห็นชายเสื้อน้ำเงินทีแรกก็ตกใจว่ามากมายขนาดนี้เลยหรือ สิ่งนี้น่าเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการท่องเที่ยวของที่นี่ได้รับความนิยมเพียงใด
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้บริการนั่งเสลี่ยงก็เท่ากับช่วยให้คนพม่าที่นี่มีรายได้ หากไม่มีนักท่องเที่ยว หรือประเทศพม่ายังมีเหตุจลาจลเหมือนเมื่อก่อน รายได้ของคนเหล่านี้ก็หายไป ต้องกลับไปทำไร่ทำนาและมีฐานะยากจนเหมือนเดิม
เมื่อหายงงกับชายชุดน้ำเงินแล้วก็ต้องลงจากรถ ช่วงนี้ดูวุ่นวายนิดหน่อยเนื่องจากไกด์ไทยและไกด์พม่าต้องรีบไปซื้อบัตรนั่งสลี่ยงให้ลูกทัวร์ พร้อมกับนัดแนะวิธีการว่าต้องทำอย่างไร นักท่องเที่ยวเมื่อได้บัตรแล้วก็ต้องชูสูงๆ เพื่อให้คนงานแบกเสลี่ยงให้เห็นเบอร์ของเรา เมื่อเจอแล้วเช่นอาจเป็นเบอร์ 65 คนพม่าก็จะพาเราไปนั่งเสลี่ยงที่ตั้งเรียงตามเบอร์นั้นๆ
แต่ทุกอย่างก็เรียบร้อยเพราะที่นี่เค้าจัดระบบได้ดีทีเดียว การจัดแบบนี้ทำให้คนหามเสลี่ยงวัดดวงกันเอาเองว่าจะเจอคนผอมหรือคนอ้วน
เจอคนผอมหนักราว 45 กิโลก็โชคดี เจอแหม่มตัวอ้วนหนักร้อยกว่ากิโลก็ซวยไป และการขายบัตรที่นี่จะคิดเป็นคนหรือเป็นรายหัว ต่อไปอาจพัฒนาโดยคิดราคาเพิ่มสำหรับผู้ที่หนักเกินมาตรฐาน คนแบกจะได้ไม่บ่น
ค่าบริการตกคนละ 8,000 จ๊าด หรือเงินไทย 320 บาท เงินส่วนนี้ไกด์จะ์เป็นผู้ซื้อตั๋วให้ และเมื่อนั่งเสลี่ยงขึ้นไปถึงข้างบนแล้วลูกทัวร์ต้องจ่ายค่าทิปต่างหากให้กับคนแบกอีก 160 บาท หาม 4 คนก็ตกคนละ 40 บาท แต่เมื่อถึงปลายทางแล้วปรากฏว่าคนหามเสลี่ยงทำงอแงอ้างโน่นอ้างนี่เพื่อขอเงินเพิ่ม แต่ไกด์บอกแต่แรกแล้วว่าจ่ายแค่ 160 บาทเท่านั้น ห้ามจ่ายมากกว่านี้
สำหรับค่าเสลี่ยง 8,000 จ๊าด หรือ 320 บาท ปกติแล้วทางบริษัททัวร์ได้รวมอยู่ในค่าทัวร์ หากทัวร์ไหนคิดค่าทัวร์ถูกกว่าชาวบ้าน ก็ต้องถามก่อนว่าได้รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆแล้วหรือไม่ ซึ่งบริษัทที่ได้มาตรฐานจะรวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างไว้หมดแล้ว ลูกทัวร์จึงไม่ต้องจ่ายเพิ่มใดๆทั้งสิ้น
ใครไม่เคยนั่งเสลี่ยงต้องบอกก่อนว่ามันก็ไม่ง่ายนัก และยากกว่าการนั่งบนหลังช้าง มันโยกเยกชนิดที่ถ่ายภาพแทบไม่ได้เลย ขณะขึ้นเขาก็พยายามกดชัตเตอร์ถ่ายภาพไปตลอดแต่ส่วนใหญ่จะวึดวาด ได้ภาพเอียงๆเบี้ยวๆไม่สมส่วน จะถ่ายได้ก็เฉพาะตอนที่คนหามแกหยุดพัก
ระยะทางเดินเท้าขึ้นเขา 2 กม. คนแบกเสลี่ยงใช้เวลาประมาณ 45 นาที ถ้าจะเดินขึ้นเขาเองก็คงใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ใครแรงดีและอยากทดสอบร่างกายก็สามารถเดินเองได้ จะได้เก็บภาพไปตลอดทางและได้เปรียบกว่าคนที่นั่งเสลี่ยง ที่นั่งสบายแต่ถ่ายภาพแทบไม่ได้เลย
นั่งเสลี่ยงมาจุดหมายปลายทางก็เป็นเวลาเกือบจะพลบค่ำ ท้องฟ้ากำลังเปลี่ยนสีหรือเริ่มจะมืด มองไปทางยอดเขาเห็นพระธาตุอินทร์แขวนเป็นสีทองสุกปลั่งอยู่ไม่ไกลนัก เวลานี้ท้องฟ้าสีเข้ม ทำให้เห็นพระธาตุอินทร์แขวนหรือหินศักดิ์สิทธิ์ได้ชัดเจน
บางคนที่เคยมาบอกว่าที่นี่มีฝนบ่อยมาก แต่จะตกแบบปรอยๆหรือเป็นละอองฝนที่มากับเมฆ ความจริงแล้วฝนที่ว่าก็คือการเคลื่อนตัวของเมฆที่กำลังผ่านยอดนั่นเอง หากวันไหนท้องฟ้ามีเมฆมาก โอกาสที่จะเจอฝนก็เป็นไปได้สูงแต่วันนี้โชคดีไม่มีฝนที่ทำให้เป็นอุปสรรค
เราพักโรงแรมที่มีชื่อว่า Kyaik Hto Hotel อ่านว่า ไจ้ท์โถ่ เป็นโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดและมีห้องพักมากที่สุด ในห้องไม่มีแอร์ เนื่องจากตั้งอยู่บนเขาและเย็นเกือบตลอดปี โรงแรมที่นี่หากเทียบกับบ้านเราก็น่าจะระดับ 2 ดาว ส่วนความสะดวกเรียกว่าตามสมควรแก่อัตภาพ
ทุกคนที่มาเที่ยวทราบดีแล้วว่าพม่าพึ่งจะเปิดประเทศ ภาพรวมๆแล้วยังห่างไกลความเจริญค่อนข้างมาก สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกนาน ยิ่งในต่างจังหวัดแล้วจะหาโรงแรมที่พักที่เป็นมาตรฐานนั้นคงยากเต็มที แค่มีที่พักให้นักท่องเที่ยวเพียงเท่านี้ก็ถือว่าบุญแล้ว
โรงแรมบนเขานี้ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้บริการ จะมีชาวพม่าบ้างก็เป็นระดับที่มีฐานะ ส่วนชาวบ้านทั่วไปจะอาศัยหลับนอนกันในวัด สังเกตุได้จากแต่ละคนที่มาจะมีกระเป๋าสัมภาระกันค่อนข้างมาก หากเอาขาดเหลืออะไร ร้านค้าภายในวัดที่ใหญ่โตพอๆกับตลาดขนาดย่อมก็มีขายหรือบริการให้เช่า เช่นหมอน ผ้าห่ม เสื่อ ผ้าปู ฯลฯ
ชาวพม่าที่มาทำบุญใช้ชีวิตในวัดกันตามสภาพ การกินการนอนก็แบบง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องอาศัยนอนในศาลาหรือโรงนอนเหมือนวัดในบ้านเรา แค่ปัดกวาดลานวัดให้สะอาด(ซึ่งก็สะอาดอยู่แล้ว) จากกนั้นก็ปูเสื่อ ปูผ้าห่มนอนได้เลย เปลี่ยนบรรยากาศมานอนรับลมหนาวบนยอดเขาและมีโอกาสใกล้ชิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แค่นี้พวกเค้าก็พอใจแล้ว เรื่องความสะดวกสบายคนพม่าจึงไม่ถือสาหรือมากเรื่องกันนัก จุดประสงค์ของการมานี่นี่ก็คือมาทำบุญ สวดมนต์และกราบไหว้หินศักดิ์สิทธิ์ ความลำบากจึงไม่เป็นอุปสรรค
ใครมาเที่ยวโดยเฉพาะช่วงวันหยุดก็อาจเห็นชาวพม่าหลายร้อยคนนอนระเกะระกะตามลานวัดหรือตามที่ต่างๆ หนาวก็หนาวแต่เค้าก็อยู่กันได้และอยู่กันแบบประหยัด ส่วนใหญ่จะเตรียมน้ำและข้าวปลาอาหารใส่ปิ่นโตมาจากบ้าน จะมีส่วนน้อยที่ซื้อทานจากร้านภายในวัด
เมืองไทยในสมัยก่อนๆก็น่าจะเป็นแบบนี้ ประเภทไปไหนมาไหนไกลๆก็ต้องเตรียมอาหารเตรียมของกินใส่ปิ่นโตหิ้วกันมาจากบ้าน จะมีบ้างที่ซื้อจากร้านค้าแต่ก็น้อยมาก
มาที่นี่อาจแปลกใจว่าคนมาวัดกันมากมายนับเป็นพันๆคน แต่ร้านอาหารกลับหายาก บางร้านมีคนโหรงเหรง นับว่าเป็นเรื่องแปลกแต่จริง
สำหรับตอนต่อไปก็จะได้ไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนกันแล้วครับ ที่พักของเราอยู่ห่างวัดเพียงแค่ 3-400 เมตร หลังทานอาหารเย็นแล้วก็จะเดินขึ้นไปเที่ยวกัน บรรยากาศช่วงเย็นๆที่ถนนหน้าโรงแรมต้องบอกว่าคึกคักมากทีเดียว มีชาวพม่าทั้งวัยเด็ก คนหนุ่มคนสาว หรือคนแก่คนเฒ่า ทยอยกันมาอย่างไม่ขาดสาย
เห็นชาวพม่าเค้ามีความศรัทธาอย่างแรงกล้าแล้วรู้สึกนับถือจิตใจพวกเค้าจริงๆ คนพม่าแตกต่างจากคนไทยตรงที่คนไทยให้ความสำคัญหรือมีความศรัทธาต่อพระสงฆ์ หรือตัวบุคคล เช่นเจ้าอาวาสหรือเกจิอาจารย์ แต่คนพม่าให้ความสำคัญกับองค์พระธาตุมากกว่าตัวบุคคลหรือพระสงฆ์ ในพม่าจึงไม่มีปัญหาเหมือนเมืองไทยที่พบปัญหาว่าเจ้าอาวาสบางคนร่ำรวยจากเงินบริจาค ประเภทวัดครึ่งอาตมาครึ่ง
ตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมาทราบว่าที่พักข้างบนนี้เต็มตลอดเนื่องจากนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลพม่า ระยะหลังๆนี้กรุ๊ปทัวร์จากจีนแห่กันมาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้ที่พักที่มีอยู่น้อยนิดไม่พอให้บริการ ทัวร์ไทยส่วนใหญ่ในช่วงหลังๆจึงต้องพักตามรีสอร์ตที่อยู่ด้านล่างหรือเชิงเขาแทน พอเช้ามาก็นั่งเสลี่ยงกันขึ้นมาไหว้พระธาตุ ทำให้หมดโอกาสที่จะเห็นภาพความสวยงามในยามเย็นและยามเช้าตรู่ที่เป็นไฮไลท์สำคัญของการถ่ายภาพพระธาตุอินทร์แขวน
มาเที่ยวแล้วอยากได้ภาพสวยๆก็แนะนำว่าควรติดต่อบริษัททัวร์ที่สามารถหาโรงแรมหรือที่พักบนเขาได้ หากมาเองในกลุ่มญาติหรือคนรู้จักกลุ่มเล็กๆ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลี่ยงวันหยุด ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าเป็นคืนวันศุกร์และเสาร์ รวมทั้งวันสำคัญทางศาสนาแล้วรับรองว่าหมดสิทธิ์แน่ ถ้าจะให้ดีก็ต้องจองที่พักล่วงหน้ากันนานเป็นเดือนๆ
ตอนต่อไปพบกับแรงศรัทธาของชาวพม่าที่มีต่อพระธาตุอินทร์แขวน
โฟโต้ออนทัวร์
17 มีนาคม 2556
แผนที่ประเทศพม่า แผนที่เมืองย่างกุ้ง - สิเรียม และแผนที่เมืองเนปิดอร์
|