แผนที่ประเทศพม่า : แผนที่เมืองย่างกุ้ง : ตำแหน่งที่ตั้งเมืองเนปิดอร์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า
Myanmar Part 9 : Rural area in Myanmar
เที่ยวพม่าตอนที่ 9 : ชนบทในพม่า การเดินทางจากอินทร์แขวนสู่เมืองหงสาวดี
(เดินทาง มกราคม.2555)

ภาพท่องเที่ยวเมืองพม่าตอนนี้ เป็นตอนที่นั่งเสลี่ยงลงมาจากวัดพระธาตุอินทร์แขวน เพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองหงสาวดี หรือเป็นการย้อนกลับเส้นทางเดิม พร้อมกับทานข้าวกลางวันที่นั่น เชื่อว่าบริษัททัวร์อื่นๆคงจัดโปรแกรมการเดินทางไม่ต่างกันนัก เนื่องจากพม่ามีร้านอาหารหรือภัตตาคารที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวแบบหมู่คณะค่อนข้างน้อย แต่ถ้ามากันเองแบบกลุ่มเล็กๆคงไม่เป็นปัญหาอะไร
พม่าพึ่งจะเปิดประเทศได้ไม่นานนัก ร้านอาหารใหญ่ๆก็ไม่ได้เลิศหรูอลังการมากนัก เรียกว่าพออยู่พอกิน และกินแบบท้องไม่เสีย
เรื่องกินนี่เรื่องใหญ่นะครับสำหรับการท่องเที่ยวในพม่า
โดยเฉพาะคนที่เคยไปเที่ยวอินเดียจะรู้ดีว่าหากซื้อกินอาหารท้องถิ่นเมื่อไหร่ก็ไม่รับประกันว่าจะท้องเสีย คนอินเดียเค้าชินกับเรื่องอาหารที่ไม่สะอาดนัก แต่คนไทยหรือคนต่างชาติมักมีปัญหา
เคยรู้จักกับฝรั่งคนหนึ่งที่เดินทางไปเที่ยวอินเดียนานนับสิบๆวัน เล่าให้ฟังว่า ทานอาหารได้เฉพาะในโรงแรมเท่านั้น หากทานนอกโรงแรมรับรองเป็นเรื่อง
ประเทศพม่าแม้อาหารการกินจะไม่หนักหนาเท่าอินเดีย แต่ก็ต้องระวังไว้บ้างก็น่าจะดี หากมีปัญหาก็คงเที่ยวไม่สนุก
ไทยเราเจริญกว่าพม่า คนไทยยุคปัจจุบันมีความรู้และรับประทานอาหารที่สะอาดถูกสุขอนามัย ในทางกฏหมายก็มีการควบคุมในเรื่องความสะอาด หน่วยงานของรัฐก็มีจัดอบรมให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร มีการแจกประกาศนียบัตรให้กับผู้ผ่านการอบรม ทำให้ภาพรวมดูดีกว่าเมื่อก่อนมาก
หากมองย้อนอดีตก็จะเห็นว่าพวกอาหารสุกๆดิบๆในบ้านเราก็ทานกันเป็นเรื่องปกติ แต่ปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่องสุขอนามัย ให้งดทานอาหารดิบๆเช่นลาบก้อย หรือลาบลู่ ที่ผสมเลือดสดๆลงไปคลุกด้วย ทานเข้าไปก็อาจเจอพยาธิใบไม้ตับที่คร่าชีวิตกันแบบง่ายๆและรวดเร็ว
อาหารสุกๆดิบๆเหล่านี้เริ่มหายไปจากตลาดท้องถิ่นในบ้านเรา ถึงมีก็ไม่มากนัก คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาก็ไม่ทานกันแล้ว ที่ยังทานๆกันส่วนใหญ่จะเป็นพวกคอเหล้าคอทองแดง หรืออีกทีก็เป็นชนบทห่างไกล
พูดเรื่องอาหารการกิน ก็จะเห็นว่าเมื่อบ้านเมืองมีความเจริญ ความรู้เรื่องการรักษาสุขภาพและความสะอาดในการประกอบอาหารก็พัฒนาตามไปด้วย ส่วนพม่ายังห่างไกลกับเรื่องเหล่านี้ บางแห่งก็ยังดูดิบๆ นักท่องเที่ยวจึงควรใช้วิจารณญาณ
ขนาดไกด์ของคณะยังบอกว่า เมื่อตนเองจะทานอาหารก็ต้องระวัง หลีกเลี่ยงอาหารประเภทมันๆ เพราะรู้ดีว่าจะทำให้คลอเรสเตอรอลสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับร่างกาย เวลาซื้ออาหารมาทานหรือซื้อมาทำเองก็ต้องเลือกชนิดไม่มีมันมาก แต่ปรากฏว่าภรรยาที่บ้านไม่เล่นด้วย เนื่องจากยังไม่รู้ถึงโทษของอาหารที่มีไขมันมาก จึงมักทานตามใจปากโดยไม่เท่าไม่ถึงการณ์
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าขนาดภรรยาไกด์ที่คิดว่ามีการศึกษา และเป็นชนชั้นที่มีฐานะดีกว่าคนทั่วๆไปก็ยังไม่เข้าใจในเรื่องสุขอนามัยที่ดีพอ
การศึกษาเท่านั้นที่เป็นทางออกของการแก้ปัญหาต่างๆของสังคม
ส่วนบ้านเราได้พัฒนาไปไกลแล้ว ถึงขนาดรณรงค์ให้ “ทานของร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือก่อนทานอาหาร“
ที่เขียนมานี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรังเกียจอาหารพม่า เพียงแต่ให้ระวังเท่านั้นเอง พวกอาหารร้อนๆที่ต้มสุกแล้วคงไม่มีปัญหา ส่วนของสดๆเช่นพวกยำต่างๆที่ออกรสแซบแบบบ้านเราอาจสร้างปัญหาได้
ระหว่างที่นั่งเสลี่ยงลงจากเขาในตอนเช้าของวันนั้น ได้สวนทางกับชาวพม่ารวมทั้งนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆที่เดินขึ้นพระธาตุอินทร์แขวนโดยไม่พึ่งพาเสลี่ยง เห็นเค้าเดินขึ้นเดินลงก็น่าสนุกเหมือนกัน หากทำได้ก็น่าจะดี จะได้ทดสอบร่างกายและเป็นการออกกำลังกายไปในตัว แต่เนื่องจากเรามาเป็นคณะทัวร์ ต้องรักษาเวลา จึงทำแบบนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะมาเที่ยวกันเอง
การเดินขึ้นเขาใช้เวลาประมาณ 45 นาที(สำหรับคนทั่วไป) ซึ่งไม่ถือว่าใช้เวลาไม่มากนัก จะมีปัญหาในทางชันๆที่ก้าวขาไม่ค่อยออก
ดูแล้วเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายนะครับสำหรับการเดินขึ้นเขาที่มีความชันมากๆเช่นนี้
หลายปีก่อน(สมัยเป็นหนุ่ม)เคยวิ่งมินิมาราธอน(21 กม.)ที่เขาค้อ ยังจำได้แม่นว่าขนาดซ้อมมาเป็นอย่างดีแต่ต้องมาตกม้าตายตรงจุดสตาร์ท เนื่องจากพ้นจุดสตาร์ทก็ขึ้นเนินเขาทันที ผลปรากฏว่าวิ่งไปได้ไม่นานก็ก้าวขาไม่ออก เดี้ยงกันเป็นแถวๆ มันเหมือนมีใครมาฉุดขาไว้ ตอนนั้นรู้สึกขำตัวเองและคนอื่นๆที่ออกอาการเดียวกัน แต่พอถึงทางลาดทุกอย่างก็เป็นปกติ
ตอนนั่งเสลี่ยงลงจากอินทร์แขวนใช้เวลา 30 นาที(8.35–9.05 น.) จนมาถึงท่ารถ บรรยากาศด้านล่างนี้ดูคึกคักเนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ ผู้คนเดินทางมากันมากโดยเฉพาะชาวพม่า ขณะเดียวกันก็มีคนเดินทางกลับเป็นจำนวนมากเช่นกัน
เห็นฝรั่งนั่งรถ 6 ล้อแบบไม่มีหลังคา แถมที่นั่งก็เป็นไม้ และไม่มีพนักพิง ดูก็เป็นภาพที่แปลกๆ เหมือนกับมาเที่ยวแบบลำบากลำบน
ใครมาเที่ยวพระธาตุอินทร์แขวน ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็จะปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยการนั่งรถ 6 ล้อเหมือนๆกันโดยไม่มีข้อยกเว้น
และนี่ก็คือประเทศพม่า
ก่อนพม่าจะเปิดประเทศหรือเมื่อราว 2 ปีก่อน พม่าปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการ พม่าในตอนนั้นก็ไม่ง้อชาติตะวันตก ใครจะบอยคอตหรืองดความช่วยเหลือก็ไม่สนใจ ขออยู่กันอย่างจนๆแบบนี้แหละ
แต่พอพม่าเปิดประเทศ ถนนทุกสายก็มุ่งสู่พม่า ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติวิ่งขาแทบขวิด พม่ากลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติชนิดที่โลกตะลึง
อาทิ แร่ทองคำที่มีอย่างมากมายมหาศาล
ปัจจุบันพม่าเปิดให้เอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศสัมปทานไปแล้ว 22 บ่อ ไม่นานมานี้องค์การนาซาได้สำรวจด้วยดาวเทียมพบว่ามีแหล่งแร่ทองแห่งใหม่คำใหญ่ที่สุดในโลกชนิดที่หากินไปได้อีกหลายปี
“ดาวเทียมสหรัฐ พบขุมทองขนาดใหญ่ที่สุดในพม่า” นี่เป็นข่าวพาดหัวในกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่15 มกราคม 56
พม่า ณ วันนี้ถือว่ายังล้าหลังและต้องพัฒนาประเทศในทุกๆด้าน แต่อีกไม่นานก็อาจเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางด้านพลังงานเช่นก๊าสและน้ำมัน รวมทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ นี่ยังไม่นับไม้สักที่มีอย่างเหลือคณานับ โดยเฉพาะไม้สักทองที่มีค่า
พม่าทุกวันนี้จึงดูสวยวันสวยคืน เหมืนอกับค่อยๆแง้มความงามออกมาให้เห็นที่ละน้อย และต่อไปหากพม่าจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพร้อมกับยื่นเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ต่อยูเนสโก ก็คงจะไม่ยาก เนื่องจากพม่ามีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่นมหาเจดีย์เมืองพุกาม พระธาตุอินทร์แขวน เจดีย์ชเวดากอง พระราชวังเก่าที่มัณฑะเลย์ พระธาตุมุเตา ฯลฯ
เส้นทางจากพระธาตุอินทร์แขวนสู่เมืองหงสา ตามภาพถ่ายในชุดนี้จะเห็นว่าสองข้างทางมีแต่ทุ่งนาที่เวิ้งว้างกว้างไกล แต่เวลานี้ไม่ใช่ฤดูทำนาจึงดูแห้งแล้ง ตรงกันข้ามหากมาเที่ยวในฤดูฝนหรือฤดูเก็บเกี่ยว บรรยากาศของสองข้างทางก็จะเปลี่ยนไป
ชาวนาพม่าทุกวันนี้ยังใช้วัวควายไถนา ไม่ต่างกับเมืองไทยเมื่อ 50 ปีก่อน พวกควายเหล็ก(เครื่องไถนา)หรือรถอีแต๋น ยังไม่มีใช้ในพม่า
ตอนเที่ยงเราแวะทานข้าวที่เมืองหงสาวดี(Hongsawadee)หรือเมืองพะโค(Bago หรือ Pego)ในภาษาพม่า แต่เป็นคนละร้านกับเมื่อตอนขามา มื้อนี้มีกุ้งทะเลตัวใหญ่ๆเนื้อแน่นๆเป็นอาหารจานโปรดของหลายๆคน
เรื่องกุ้งทะเลตัวใหญ่ๆ หรือกุ้งมังกร ถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพม่า เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ใครมาเที่ยวพม่าก็จะได้ทานกุ้งแม่น้ำและกุ้งมังกรตามที่โฆษณากันทุกคน
วันก่อนเข้าไปในเว็บ CNN แบบนานๆเข้าไปที่ เห็นมีข่าวเกี่ยวกับพม่าหลายข่าว เข้าใจว่า CNN ให้ความสนใจกับพม่าไม่แพ้ประเทศจีน จำได้ว่ามีข้อแนะนำให้ต่างชาติทราบว่าหากไปเที่ยวพม่าแล้วจะต้องพบกับ 5 สิ่งที่แตกต่างกับชาติอื่นๆ
ที่พอจำได้ก็คือ ผู้ชายพม่าปากแดง อีกข้อหนึ่งก็คือผู้ชายพม่านุ่ง Skirt (ข่าว CNN ใช้คำนี้นะครับ)
คำว่าสะเกิ๊ตหรือกระโปรงสะเกิ๊ต ในความหมายของคนไทยแล้วก็คือเครื่องแต่งกายหรือกระโปรงสำหรับผู้หญิง ส่วนผู้ชายที่นุ่งสะเกิ๊ต ที่เห็นคุ้นๆกันก็คือพวกทหารที่เป่าปีสก๊อต
และที่ผู้ชายพม่านุ่งกันนั้น คนไทยเรียกว่าโสร่ง
คราวนี้มาลองค้นหาคำแปลของโสร่งในภาษาอังกฤษแล้วปรากฏว่าหาไม่เจอครับ เว็บไหนๆ ก็ใช้คำว่า Sarong ซึ่งเขียนแบบทับศัพท์
ชาวพม่าอาจดูแตกต่างกับชนชาติอื่นๆ และมีอัตลักษณ์ที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ หากใครได้ติดตามข่าวต่างประเทศก็จะเห็นเครื่องแบบของผู้นำพม่าหรือนายพลเต็งเส่ง ที่แต่งตัวตามแบบวัฒนธรรมของพม่าออกมาต้อนรับผู้นำชาติต่างๆ
ชุดแต่งกายแบบสุภาพของพม่าก็คือ ผ้าพันศีรษะ สวมเสื้อแขนยาวสีขาว นุ่งโสร่ง และสวมรองเท้าแตะ และยิ่งเป็นข่าวการประชุมสภาผู้แทนของพม่าก็จะเห็นบรรดาสส.แต่งกายลักษณะนี้กันทั้งสภา ดูแล้วก็เป็นภาพที่แปลก แต่ก็อดชื่นชมไม่ได้
แต่ความแปลกน่าจะอยู่ที่การสวมรองเท้าแตะมากกว่า
มันเป็นปัญหาคาใจมาตั้งนานแล้วว่าทำไมต้องรองเท้าแตะ รองเท้าแบบอื่นที่ดูแล้วสุภาพ ชาติไหนๆก็สวมรองเท้าหนังด้วยกันทั้งนั้น เรียกว่าเสื้อผ้าจะเป็นชุดประจำชาติอย่างไรก็ตามแต่รองเท้าก็ต้องเป็นรองเท้าหนัง ชุดลาว ชุดเขมร ชุดไทย ชุดแขก ทุกชาติจะต้องสวมรองเท้าหนัง แต่ทำไมพม่าสวมรองเท้าแตะ

เรื่องนี้ตอนไปเที่ยวพม่าก็ได้สอบถามไกด์จึงได้คำตอบว่า คนพม่าชอบเข้าวัด และเมื่อเข้าวัดแล้วก็ต้องถอดรองเท้า การสวมรองเท้าแตะก็เพื่อความสะดวก ไม่ยุ่งยากเหมือนสวมรองเท้าหนัง
นี่เป็นคำตอบจากไกด์
แต่ก็ยังสงสัยว่าคนพม่าจะเข้าวัดกันบ่อยขนาดนั้นเลยหรือ จึงเข้าใจเองว่ามันน่าจะติดพันหรือถือหลักความสะดวกมาตั้งแต่อดีต แม้ปัจจุบันจะไม่ค่อยได้เข้าวัดกันบ่อย แต่ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี
สำหรับอัตลักษณ์ของชาวพม่าที่พบเห็นและพอจะรวบรวมได้ในขณะนี้ก็คือ
ชายพม่า : ตัวดำคล้ายแขก นุ่งโสร่ง เคี้ยวหมาก (บางคนไม่สวมรองเท้า)
สตรีพม่า : ตัวดำ ผิวดำ ทาแป้งทานาคา เคี้ยวหมาก
ส่วนชาวพม่าในเมืองที่มีเชื้อสายคนจีน หรือเป็นชาวพม่าสมัยใหม่ จะมีผิวขาว ไม่ทางแป้ง ไม่เคี้ยวหมาก ผู้ชายจะนุ่งกางเกงเหมือนทั่วๆไป
ภาพผู้หญิงพม่าที่ได้ถ่ายไว้จะเห็นว่ามีทั้งสองแบบ คือแบบพม่าแท้ๆ(ตัวดำ ทาแป้ง) และพม่าเชื้อสายจีน(ผิวขาว หน้าตาดี)
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าจะเป็นหญิงพม่าแบบดั่งเดิมหรือหญิงพม่าสมัยใหม่จะทำเหมือนๆกันก็คือทุกคนจะนุ่งโสร่ง น้อยคนนักที่จะนุ่งกางเกงหรือใส่ขาสั้นตามแฟชั่น(แต่ปี 56 อาจมีสาวพม่าแต่งแนวแฟชั่นมากขึ้น)
เชื่อว่าอีกไม่นานภาพผู้ชายนุ่งโสร่งและเคี้ยวหมาก รวมทั้งผู้หญิงทาแป้ง ก็คงค่อยๆลดลงเนื่องจากวัฒนธรรมจากต่างชาติจะไหลเข้าสู่พม่ามากขึ้นและไม่เป็นประเทศปิดเหมือนเมื่อก่อน
ส่วนอนาคต จากพม่าที่ปัจจุบันเป็นประเทศเกษตรกรรม การทำนาปลูกข้าวกันเป็นอาชีพหลัก ต่อไปชาวนาพม่าก็จะเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมกันมากขึ้น อนาคตคงทิ้งไร่ทิ้งนา เข้ามาหางานในเมือง เนื่องจากมีรายได้ดีกว่า
ภาพเช่นนี้ก็ไม่ต่างกับเมืองไทยในอดีต สมัยก่อนที่ท่ารถหมอชิต(เดิม)และสถานีรถไฟหัวลำโพง เต็มไปด้วยแรงงานจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะจากภาคอีสานที่เดินทางเข้ามาหางานทำในกรุง บางคนก็ใช้สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นที่หลับนอน ไปหัวลำโพงตอนดึกๆ เจอมุ้งกางเป็นพรืด
ภาพเหล่าๆนี้คิดว่าคงพอยังจำกันได้ ซึ่งมันก็ผ่านพ้นไปหลายสิบปีแล้ว แต่พม่ากำลังจะเริ่ม เชื่อว่าอีกไม่นานปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพม่าก็คงไม่ต่างกับประเทศไทยในอดีต เช่นการประท้วงขอขึ้นค่าแรง ปัญหาชุมชนสลัม ปัญหาอาชญากร ปัญหาการจราจร ฯลฯ
แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าพม่าน่าจะดีกว่าไทย นั่นก็คือ “ระบอบประชาธิปไตย“
สังคมไทยผ่านร้อนผ่านหนาวในเรื่องระบบประชาธิปไตยมานานหลายสิบปี ผ่านการปฏิวัติมาก็หลายครั้ง ประชาชนบาดเจ็บล้มตายไปก็มาก จนทุกวันนี้ประเทศไทยก็ยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ภาพของการปฏิวัติรัฐประหารมันยังหลอกหลอนจนถึงทุกวันนี้
มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย
หรือว่าคนไทยยังไม่เข้าใจในระบอบประชาธิปไตย หรือว่านักการเมืองโกงกิน หรือว่าทหารชอบกระทำรัฐประหาร หรือว่าประเทศไทยตกอยู่ใต้อำนาจมืดที่มองไม่เห็น
เมื่อก่อนเรามักโทษนักการเมืองว่าเลว โกงกินประเทศ แต่ความจริงแล้วมันเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ประชาธิปไตยล้มเหลวหรือเปล่า
น่าแปลกที่ประเทศไทยชอบปฏิวัติ หรือว่ากองทัพไทยชอบตัดสินปัญหาบ้านเมืองด้วยปืนและรถถัง
ก็น่าจะเปล่านะ
หากทหารไม่มีแรงหนุนที่อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะที่สังเกตได้จากอดีตผบ.ทบ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ทั้งสองท่านดูเหมือนจะไม่ต้องการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะพลเอกอนุพงษ์ ที่มักเข้าเกียร์ว่าง นิ่งเฉย ไม่ยอมใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม จนอดีตนายกฯสมัคร ออกอาการกระฟัดกระเฟียดอยู่หลายครั้ง ทั้งๆที่อุตส่าห์มอบดาบอาญาสิทธิ์ให้ แต่กลับไม่ฟันกลุ่มพันธมิตรหรือพวกเสื้อเหลืองที่บุกยึดทำเนียบมาเป็นแรมเดือน

และคงจำกันได้กับการตั้งหน่วย ศอฉ.หรือศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ที่มีพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นโฆษกในช่วงการตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาใหม่ๆ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ไม่ยอมรับตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอฉ. ทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องอาสาเข้ารับหน้าที่แทนอย่างจำยอม
2 วันก่อน อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง "อภิสิทธิ์-สุเทพ" คดีสลายม็อบ ข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
เรื่องนี้คิดว่าพลเอกอนุพงษ์ เมื่อได้รับข่าวนี้ คงลิงโลดด้วยความดีใจ ที่ตัดสินใจไม่ผิดในขณะนั้น หากยอมรับตำแหน่งผู้อำนวยการศอฉ.ไปตั้งแต่แรก ป่านนี้คงไข้ขึ้น และความผิดก็จะตกมาถึงตนเอง ต้องบอกว่านายพลผู้นี้มองการณ์ไกล คงรู้ว่าการเป็นผู้นำการปราบปรามประชาชนแล้วอนาคตแล้วจะเป็นเช่นไร
เมื่อ
อภิสิทธิ์ กับ สุเทพ มารับเคราะห์ในฐานะเป็นผู้ออกคำสั่งฆ่าประชาชน โดยให้ทหารใช้กระสุนจริงปราบปราม เรื่องราวมันจึงกลับตาละปัตร ทั้งนายกฯและรองนายกฯ(ของประเทศไทย)อาจต้องติดคุกหัวโต เข้าใจว่านายทหารจากหน่วย ศอฉ.ทุกคนคงโล่งอก เนื่องจากก่อนนั้นหน่วยงาน ดีเอสไอ ที่รับทำคดีนี้ ก็ได้เรียกนายทหารทุกคนไปสอบเป็นรายตัว เมื่ออภิสิทธิ์-สุเทพ ต้องมารับเคราะห์แทน ทหารทุกคนจึงรอดพ้นจากการกระทำความผิด เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
คิดว่าป่านนี้ นายทหารใน ศอฉ.ทุกคนคงเลี้ยงฉลองกันเปรมปรีย์ไปเรียบร้อยแล้ว..ไชโย..ไชโย..ไชโย
ส่วนพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะผู้ก่อการปฏิวัติเมื่อเดือนกันยายน 2549 หากสังเกตให้ดี สมัยที่ทำการปฏิวัติใหม่ๆ ก็ไม่ได้แสดงบทบาทอะไรมากนัก หรือแทบจะไม่เห็นความเข้มแข็งในฐานะผู้ยึดอำนาจ
พูดแบบชาวบ้านก็ไม่ต่างกับคำว่า หน่อมแน้ม ที่น่าแปลกก็คือไม่ได้ถือโทษหรือโกรธอดีตนายกฯทักษิณแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าเดินทางไปพบอดีตนายกฯทักษิณอีกด้วย
บทบาททางการเมืองล่าสุดของพลเอกสนธิฯ ก็คือเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุน พรบ.ปรองดองฉบับเหมายกเข่ง น่าแปลกที่ท่านกลับเห็นดีเห็นงามไปกับ พรบ.ฉบับที่กำลังมีปัญหา และประท้วงกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่ในขณะนี้ พรบ.ฉบับนี้ในมาตรา 3 มันชัดเจนว่าทุกอย่างต้องนับ 1 ใหม่
หากมองย้อนไปในปี 2549 สมัยปฏิวัติ ก็เกิดความสงสัยว่า พลเอกสนธิฯ ทำการปฏิวัติเพื่อใคร ใครสั่ง หรือได้รับแรงกดดันจากใคร
และที่สังคมไทยสงสัยกันมากในช่วงเวลาหลังจากนั้นก็คือ องคมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่าเป็นนายกฯพระราชทาน ส่วนบทบาทขององคมนตรีท่านนี้ก็เป็นที่รู้ๆกันอยู่ว่าตลอดเวลาที่เป็นนายกฯรักษาการณ์ มีแต่จะนับถอยหลังอยู่ตลอดเวลา(เมื่อไหร่จะพ้นๆเสียที) หรือว่าเข้ามารับหน้าที่อย่างไม่ค่อยเต็มใจ
ในช่วงท้ายๆของการเป็นนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ ก็เจอเรื่องบุกรุกที่สาธารณะบนเขายายเที่ยง จนต้องคืนที่ดินให้กับรัฐ เรียกว่าจบไม่สวย แถมสมัยเป็นนายกฯก็บริหารบ้านเมืองไม่เป็นโล้เป็นพาย ไม่มีความรู้เชิงบริหารจัดการ ปัญหาที่หมักหมมไว้ในสมัยอดีตนายกฯทักษิณก็ไม่ได้รับการแก้ไข เรียกว่าโดนด่าเละตุ้มเปะ
สรุปว่าตั้งแต่มีการปฏิวัติ จนมาถึงนายกฯพระราชทาน มันมีข้อสงสัยที่เชื่อมโยงกัน และยังเชื่อมโยงไปถึงการบุกบ้านป๋าเปรมของกลุ่มเสื้อแดง ชนิดที่หากบุกไปถึงก็คงจะเผาบ้านป๋าเปรมให้วอดวายแน่นอน
ป๋าเปรม เกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนั้น หรือว่าป๋าอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ หรือว่าการที่พวกเสื้อแดงบุกบ้านป๋าเปรมก็เพื่อกระทบชิ่งถึงใคร หรือกระทบต่อผู้ที่อยู่สูงกว่าป๋าเปรม
ภาพเหตุการณ์ที่ว่าดูเหมือนจะยังเป็นที่สงสัย และยังอึมครึมมาจนถึงทุกวันนี้ เขียนมาถึงตรงนี้ก็อดนึกถึงคำพูดของอดีตนายกฯทักษิณที่เคยพูดว่า
“อำนาจที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ”
ที่ครั้งหนึ่งเป็นวลีที่สังคมต่างสงสัยว่าหมายถึงใครหรือหมายถึงอะไร
....แต่ไม่มีคำตอบ.....
แม้แต่สารคดีจาก BBC ก็ยังบอกว่าเป็นอิทธิพลมืด หรือมีเรื่องดำมืดที่ยังซ่อนเร้นอยู่
(คลิกเพื่อดูผ่าน Youtube)

หากใครสงสัยและได้ดูสารคดีที่จัดทำโดย BBC หรือสำนักข่าวจากอังกฤษก็อาจพอมองเห็นความจริงแบบรำไรๆอยู่บ้าง
สารคดี BBC ชุดนี้เป็นการตามหาความจริงกรณีนักข่าวอิตาลีเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนจากเหตุการณ์เผาเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2553 จนกระทั่งน้องสาวที่อยู่ในอิตาลีเกิดความสงสัยในการเสียชีวิตของพี่ชายว่าถูกกระสุนของฝ่ายใดกันแน่ ระหว่างฝ่ายซุ่มยิง(เสื้อแดง)กับฝ่ายรัฐ
แต่รายงานของสถานทูตอิตาลีที่ให้กับน้องสาวของนักข่าวบอกว่า อาจโดนกระสุนจากฝ่ายเสื้อแดง(น่าจะมาจากรายงานของตำรวจไทย) ทำให้น้องสาวนักข่าวที่เสียชีวิตเกิดข้อสงสัยว่า “ทำไมฝ่ายไทย(รัฐบาล)จึงด่วนสรุปเร็วจัง“
และนี่ก็เป็นที่มาของสารคดีเพื่อค้นหาความจริง โดยร่วมมือกับสำนักข่าว BBC
ซึ่งหากใครได้ดูสารคดีจนจบก็อาจมองเห็นความจริงบางประการที่ถูกปิดกั้น จะได้รู้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองของไทยในวลานั้น สำนักข่าวต่างชาติ คิดอย่างไร เข้าใจอย่างไร และสงสัยอะไร
น่าชื่นชม BBC ที่นอกจากจะหาความจริงในประเด็นการเสียชีวืตของนักข่าวอิตาลีแล้ว ก็ยังเปิดเผยการเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายๆต่างๆในภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
เช่นหน่วยงาน ดีเอสไอ และ ศอฉ.(ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน)ทำให้เห็นว่าการตอบปัญหาแบบกำกวม เลี่ยงบาลี นั้นเป็นอย่างไร นอกจากนี้ภาพยนต์สารคดีชุดนี้ยังโยงไปถึงเรื่องราวของสถาบันกษัตริย์ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
"ในประเทศไทย อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่ที่กษัตริย์และกองทัพเสมอมา" นี่เป็นประโยคหนึ่งของสารคดีชุดนี้
จากภาพทั้งหมดที่นำมาเสนอก็พอจะเข้าใจได้ว่าระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยที่กลายเป็นความล้าหลัง ไม่เติบโตเสียที ซึ่งดูแล้วมันน่าจะมีบางสิ่งบางประการที่คอยขัดแข้งขัดขาระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งความจริงของประเทศไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นสังคมที่ตกอยู่ในความหลอกลวง คนไทยถูกหลอก ถูกลวงกันทั้งประเทศ จนหลายคนคิดว่ามันคือความจริง เรื่องนี้หากใครสงสัยว่ามันคืออะไร ก็ขอให้พยามยามค้นหาความจริงกันเอง
จงอย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น จงอย่าเชื่อในสิ่งที่ได้ยิน และจงค้นหาความจริงด้วยตัวของท่านเอง และก่อนจะเริ่มหาความจริงก็จงปล่อยวาง มองทุกอย่างอย่างเข้าใจ
ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง
และความจริงของประเทศไทยในขณะนี้ก็ไม่ได้มีอำนาจทางการปกครองตามตำราที่เรียนๆกันมาว่าประกอบไปด้วยอำนาจของ 3 ฝ่าย
ได้แก่
1 อำนาจบริหาร หรือฝ่ายรัฐบาล
2 อำนาจนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย หรือรัฐสภา
3 อำนาจตุลาการที่ทำหน้าที่พิพากษาตัดสินคดีความ
แต่อำนาจที่แท้จริงที่นอกเหนือจากที่กล่าวมานั้นอาจมีอำนาจอื่นที่หลายคนคิดว่าไม่ใช่ แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอำนาจที่แท้จริง และเป็นจริงในสังคมไทย
ได้แก่
1 อำนาจทางทหาร .. ทหารอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล แต่ทหารก็โค่นล้มรัฐบาลมานักต่อนักแล้ว และทุกครั้งที่เกิดความรุนแรง นักข่าวก็มักจะถาม ผบ.ทบ ถึงการปฏิวัติจนกลายเป็นธรรมเนียม หากทหารไม่มี Power หรือไม่มีอำนาจต่อประเทศชาติแล้ว ทำไมนักข่าวจึงสนใจถามเรื่องปฏืวัติกันนัก
2 อำนาจของกษัตริย์...ตรงนี้อาจดูเหมือนว่าไม่ใช่อำนาจที่แท้จริง แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญก็ตราอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้หลายมาตรา เช่นการแต่งตั้งนายกฯรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานรัฐสภา คณะรัฐมนตรี นายพล ผู้ทำหน้าที่ปฏิบัติในองค์กรอิสระทั้งหมด เช่นศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ก็ยังมีบารมีที่แผ่ไปอย่างไพศาลไปทั่วทั้งประเทศ จนกลายเป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่คนไทยยอมรับ ฯลฯ
ใครบอกว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจ ก็เห็นๆกันอยู่ และหากในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ถามว่าผู้นั้นจะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่
3 อำนาจใหม่ .... ก็ขอเอาประเด็นที่เป็นข่าวกรณีที่องค์กรอิสระเช่นศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติในกรณีการแก้ไขกฎหมาย ที่หลายฝ่ายบอกว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ก็มาโดนเบรกโดยศาลรธน.ที่มีผู้เสนอให้ศาลฯตีความ
สรุปว่าอำนาจทางการปกครองหรืออำนาจของประเทศไทยตอนนี้เท่ากับมีอำนาจ 3+2+1
อำนาจมากมายแบบนี้ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยในบ้านเราไปไม่ถึงฝั่ง อีรุงตุงนัง จนกลายเป็นความล้าหลังหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจนัก เนื่องจากมันเป็นเรื่องใหญ่โตเกินกว่าที่สมองน้อยๆจะเข้าใจ
สรุปว่าต้องปฏิรูปประเทศ และต้องยึดหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยแบบกะเหรี่ยงๆเช่นนี้ เห็นที่จะไม่ถึงฝั่งแน่นอน คนไทยคงต้องทะเลาะกันอีกนาน ยังต้องตายกันอีกหลายศพ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็ต้องรักษาอำนาจของตนไว้ และต่างก็อ้างความชอบธรรมด้วยกันทั้งนั้น
ส่วนพม่า ไม่น่าจะมีปัญหาแบบบ้านเรา เนื่องจากโครงสร้างทางสังคมแตกต่างกัน
พม่าไม่มีระบอบกษัตริย์ ทหารพม่าก็กลับเข้ากรมกอง(จะเอารถถังออกมาอีกหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ)แต่ที่ชัดเจนมากก็คือประชาชนพม่าเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยได้ดีกว่าบ้านเรา ไปใช้สิทธิ์และรักษาสิทธิ์กันอย่างมึดฟ้ามัวดิน และที่น่าชื่นชมก็คือผู้นำฝ่ายค้าน นางออง ซาน ซูจี เป็นผู้ที่รักชาติรักประเทศ เป็นบุคคลที่คนพม่าให้ความนับถือกันทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบุคคลระดับโลก
หันกลับมาดูผู้นำฝ่ายค้านในบ้านเรา เมื่อเปรียบเทียบกับพม่าแล้วมันช่างต่างกันราวฟ้ากับดิน
ผู้นำฝ่ายค้านในบ้านเราขณะนี้กำลังรอส้มหล่น รอการสะดุดจากฝ่ายรัฐบาล รอให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย และรอการปฏิวัติจากฝ่ายทหาร
เรียกว่า อะไรก็ได้ที่ทำให้พรรคพวกของตนเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ได้ทั้งนั้น แม้ชาตินี้จะไม่มีความหวัง ก็ขอรอจนถึงชาติหน้าก็แล้วกัน
โฟโต้ออนทัวร์
31 ตุลาคม 2556
แผนที่ประเทศพม่า แผนที่เมืองย่างกุ้ง - สิเรียม และแผนที่เมืองเนปิดอร์
|