|
เวียดนามกลาง ตอนที่ 2 การเดินทางโดยรถยนต์จากด่านลาวบาวสู่เมืองดานัง
(เดินทาง ตุลาคม 2551)
ตอนที่แล้วหรือตอนที่ 1 ในทริปเวียดนามกลางมาสิ้นสุดการเดินทางที่ชายแดนเวียดนาม-ลาว หรือด่านลาวบาว หลังใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงสำหรับผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองหรือตม. จากนั้นก็เข้าสู่ประเทศเวียดนาม
พอเข้าเขตไปได้ไม่ไกลนักความแตกต่างระหว่างเวียดนามกับลาวเริ่มปรากฏชัดขึ้นตามลำดับ เช่นผู้คนและยวดยานบนท้องถนนมีความคึกคักกว่าทางฝั่งลาว ตึกรามบ้านช่องดูทันสมัย ที่เห็นได้ชัดน่าจะเป็นเรื่องภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างเหมือนหนังคนละม้วน
ภูเขาและป่าไม้ในประเทศเวียดนามดูสดชื่น พื้นดินมีความชุ่มฉ่ำ ไม่ดูแห้งแล้งเหมือนทางฝั่งลาวทั้งๆที่อยู่ห่างกันแค่ราว 10 กิโลเมตร ที่แปลกตาคงจะเป็นเมฆฝนที่ลอยปกคลุมภูเขาอยู่ข้างหน้า เหมือนมาเที่ยวในช่วงหน้าฝนทั้งๆที่อยู่ในเดือนตุลาคม
เส้นทางสายนี้ดูเป็นป่าเขา มีร่องรอยการถางป่าเพื่อทำประโยชน์ บางช่วงเป็นเขาหัวโลนไม่ต่างกับบ้านเราที่เกิดจากการบุกรุกที่ดิน ไกด์คนก่อน(ปีที่แล้ว)เคยบอกว่าช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาเคยมาทิ้งระเบิดทำลาย และเผาป่าเพื่อขับไล่พวกเวียดกง รวมทั้งโปรยฝนเหลืองจนโล้นไปหมด
บอกตอนนี้ดีกว่าแต่ก่อนที่เห็นหลุมระเบิดคล้ายหลุมขนมครกอยู่ทั่วไปในพื้นที่แถบนี้ หลังสงครามผ่านไปแล้วชาวบ้านก็ขึ้นไปทำไร่ปลูกผัก ระยะหลังๆหลุมระเบิดและร่องรอยต่างๆจึงมองไม่ค่อยเห็น
จากนั้นก็เป็นทางลัดเลาะไปตามเขา บางครั้งเห็นชาวเขาเดินแบกฝืนอยู่ข้างถนน ถึงได้รู้ว่าแถวนี้ก็มีชาวเขาเช่นเดียวกับฝั่งลาว
และเมื่อมาถึงเมือง " เคซานห์(Khe Sanh) เขตจังหวัดกวางตรี" เห็นอนุสาวรีย์รูปทหารถือปืนอยู่ตรงสามแยกคล้ายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในบ้านเรา เข้าใจว่าพึงสร้างไม่นานนักหรือไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากเคยผ่านมาเมื่อเมษายนปีที่แล้ว(ปี50)ก็ยังไม่เห็นวี่แวว
เคซานห์ไม่ไช่เป็นเมืองท่องเที่ยวเป็นแต่ชุมชนเล็กๆ ระหว่างนั่งรถผ่านเห็นมีฝรั่งต่างชาติประเภท Back Pack เดินอยู่ตามท้องถนน ยังแปลกใจว่าที่นี่มีดีอะไรถึงมีฝรั่งกันมากนัก แต่ถ้าใครได้ศึกษาเรื่องราวในอดีตก็คงจะรู้ว่าที่เคซานห์นี้เกี่ยวข้องกับประวัติของสงครามอย่างไรบ้าง
ความสำคัญเคซานห์นั้นก็คือ "เป็นสนามรบในสมัยสงครามเวียดนาม"
จังหวัด "กวางตรี" ในสมัยสงครามเวียดนามถือว่าเป็นเขตจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศเวียดนามใต้ ส่วน"กวางบินห์" ที่อยู่ติดกันเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศเวียดนามเหนือ
เรียกว่าเป็นจังหวัดชายแดนของทั้งสองประเทศ มีเส้นขนานที่ 17 และมีแม่น้ำเบนไฮ่ เป็นเส้นแบ่งดินแดน (เวียดนามแบ่งเป็นสองประเทศตามสนธิสัญญาเจีนีวาหรือหลังโฮจิมินห์กู้ชาติจากการยึดครองของฝรั่งเศสได้เป็นผลสำเร็จ)
ในสมัยสงครามเวียดนามหรือราวปี พ.ศ.2510 เป็นต้นมา จังหวัดกวางตรีและกวางบินห์เป็นพื้นที่การสู้รบที่ดุเดือด ฝ่ายเวียดนามเหนือ(คอมมิวนิสต์) พยายามจะยึดเวียดนามใต้(ฝ่ายโลกเสรี) กองทัพพันธมิตรที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำจึงส่งทหารเข้ามาประจำการตามการร้องขอของรัฐบาลเวียดนามใต้
จากนั้นสงครามเวียดนามก็ปะทุขึ้น สหรัฐและประเทศพันธมิตรจึงเข้าทำการกวาดล้างด้วยการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน พร้อมๆกับการกวาดล้างทางภาคพื้นดิน ทำให้พื้นที่การรบขยายไปประชิดถึงเขตแดนลาวหรือลาวบาว
ครั้งนั้นกองทหารอาสาสมัครของไทยที่มีชื่อว่า "จงอางศึก หรือ Queen Cobra" ได้เข้าร่วมรบในนามของฝ่ายพันธมิตรซึ่งเป็นกองกำลังขององค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEATO) ที่มีประเทศทางแถบเอเชียเข้าร่วมเป็นสมาชิกราว 6-7 ประเทศ
องค์การนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมป้องกันการรุกรานของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่มีรัสเซียกับจีนเป็นมหาอำนาจ และกำลังแผ่อิทธิพลเข้ายึดครองประเทศต่างๆมาแล้วหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชีย

หน่วยทหารอาสาสมัครของไทยมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ตำบลเคซานห์ในจังหวัดกวางตรีเพื่อปกป้องพลเรือนชาวเวียดนามใต้
การสู้รบของฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือหรือพวกเวียดกงในพื้นที่กวางตรีและกวางบินห์เป็นไปอย่างดุเดือด มีการสูญเสียบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้ก็มีชาวบ้านรวมอยู่ด้วย
และภาพข่าวของสงครามเวียดนามที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจากสองจังหวัดนี้ทั้งนั้น
ที่น่าอนาถจนชาวโลกต้องประนามสหรัฐอเมริกา คือมีการโปรยสารพิษหรือฝนเหลืองลงมาจากเครื่องบิน เพื่อทำลายทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ และป่าไม้ ทุกวันนี้ลูกหลานชาวเวียดนามที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับสารพิษทางพันธุกรรมยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป เด็กๆเวียดนามต้องพิกลพิการ เป็นโปลิโอ แขนขาด ขาขาด จนเป็นภาระแก่รัฐบาลและองค์กรจากต่างประเทศที่ต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือ
อนุสาวรีย์ทหารที่ตั้งอยู่สามแยกเมืองเคซานต์ เป็นการรำลึกถึงการสูญเสียของชาวเวียดนามเองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ หากคนไทยไปเที่ยวเวียดนามกลางและผ่านมาเห็นอนุสาวรีย์แห่งนี้ ก็จงทราบด้วยว่าทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามเวียดนามระหว่างปีพ.ศ. 2510-2515 ส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติงานการรบที่เคซานห์ และทหารไทยจำนวนหนึ่งต้องพลีชีพเสียชีวิตที่นี่
อาจมีคำถามว่าทหารและอาสาสมัครของไทยที่เข้าร่วมสงครามเวียดนามมีจำนวนเท่าใด รวมทั้งจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ก็ขอเอาตัวเลขที่พอจะค้นหาได้มาสรุปให้ดูดังนี้
อาสาสมัครทหารบก(ประกาศรับสมัครจากทหารและพลเรือน)
-หน่วยจงอางศึก จำนวน 2,207 นาย
-กองพลเสือดำ จำนวน 11,300 นาย
ทหารอากาศ
-นักบินเครื่องบินลำเลียงและช่างอากาศ 10 นาย
ทหารเรือ
-เรือหลวงพงัน พร้อมพลประจำเรือจำนวน 149 นาย
-เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง (เรือ ต.12) พลประจำเรือจำนวน 28 นาย
-รวมทหารและอาสาสมัครทั้งสิ้น 13,694 นาย
-ปฏิบัติการ พ.ศ.2510 -2515
-เสียชีวิต 351 นาย
-บาดเจ็บ 1,358 นาย
เดินทางต่อ
จุดหมายปลายทางของเราวันนี้อยู่ที่เมืองดานัง ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญในเขตภาคกลาง หลายปีก่อนเวียดนามมีแผนพัฒนาเมืองดานังให้เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนทางด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่นสร้างโรงแรมและที่พักขนาดใหญ่ ส่วนรัฐบาลได้สร้้างสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นถนนหนทางและสะพานแขวนข้ามอ่าวดานัง จากเมื่อก่อนที่ต้องเดินทางอ้อมอ่าวกันในระยะทางไกลๆ ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลเวียดนามยังมีแผนที่จะสร้างสนามบินนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในอาเซี่ยนขึ้นที่ดานัง และใหญ่กว่าสนามบินสุวรรณภูมิในบ้านเรา
แต่ถึงวันนี้(ปี 56) แผนต่างๆที่รัฐบาลได้วางไว้คงไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากต้องประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินด่องของเวียดนามในระยะ 2-3 ปีมานี้ตกต่ำอย่างน่าใจหาย เศรษฐกิจย่ำแย่ อัตราแลกเปลี่ยนจาก 1 บาทที่เคยแลกได้ 450 ด่องเมื่อปี 2550 มาปัจจุบัน(2556) 1 บาท สามารถแลกได้ถึง 680 ด่อง
ที่สำเร็จตามแผนก็น่าจะเป็นถนนเลียบอ่าว สะพานแขวนข้ามอ่าวดานัง และการลงทุนจากต่างชาติที่รัฐบาลให้สัมปทานที่ดินตามแนวชายฝั่งทะเลดานังที่มีระยะทางราว 40 กม. ยาวต่อเนื่องไปจนถึงเมืองฮอยอัน ส่วนสนามบินนานาชาตินั้นคงต้องใช้เวลาอีกนาน แม้แต่รถไฟความเร็วสูงที่คาดว่าจะให้วิ่งจากเหนือลงใต้ที่มีระยะทางราวพันกว่ากิโลเมตร ก็เป็นอันเรียบร้อยโรงเรียนรัฐสภา หรือสภาไม่ผ่านร่างงบประมาณที่รัฐบาลเสนอ เหตุผลง่ายๆก็คือว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะจ่ายค่าโดยสารในราคาที่แพงมาก
เรื่องรถไฟหัวจรวดในเวียดนามคงไม่ต่างกับของไทยที่สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัติย์เคยไปดูงานถึงเมืองจีน กลับมาก็คุยโขมงว่าเมืองไทยกำลังจะมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งจากหัวลำโพงไปเชียงใหม่บ้าง หรือโคราชบ้าง เป็นการเรียกคะแนนนิยมไปวันๆ แต่พอรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลทุกอย่างก็สลาย
ข่าวคราวเรื่องรถไฟความเร็วสูงคงมีเรื่องราวให้เม้าท์กันอีกนาน เพราะมันเป็นเรื่องที่นักการเมืองมักนำมาหาเสียงให้ชาวบ้านได้ฝันหวาน แต่ถ้าใครอยากจะนั่งรถไฟหัวจรวดหรือรถไฟความเร็วสูง คงต้องไปเที่ยวประเทศจีน บริษัททัวร์ของไทยหลายแห่งนำมาเป็นจุดขายเพื่อเรียกร้องความสนใจ อย่างน้อยๆได้นั่งแค่ 15-20 นาที ก็คงจะรู้ว่าความเร็วระดับ 430 กม.ต่อชั่วโมงนั้นมันเร็วแค่ไหน
สำหรับโปรแกรมการเดินทางในวันนี้คาดว่าถึงเมืองดานังคงมึดค่ำพอดี อาจจะโหดหน่อยสำหรับการเดินทางในวันแรกที่เริ่มต้นจากจังหวัดมุกดาหารในตอนเช้าราว 8.30 น. หลังเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพมาทั้งคืน
การเดินทางในครั้งนี้ใช้เวลานั่งรถในดินแดนลาวราว 5 ชั่วโมง หรือจาก 9.00 น. 14.00 น.จากนั้นก็จะเป็นการเดินทางในประเทศเวียดนาม
มาเที่ยวเวียดนามแล้วอาจต้องเจอฝน เช่นเดียวกับไปเที่ยวพม่าแล้วต้องเจอไฟฟ้าดับ(วันละหลายรอบ)
คนเวียดนามชินชากับเรื่องฝนและพายุเนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล จึงต้องรับกับลมฝนที่ก่อตัวจากทะเลจีนใต้และเคลื่อนเข้าหาฝั่งตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ เรื่องน้ำท่วม พายุฝน ดูจะเป็นเรื่องปกติของผู้คนในประเทศนี้ โดยเฉพาะเรื่องพายุที่ต้องเจออย่างน้อยก็ปีละ 5-6 ลูก ดังนั้นหากใครคิดจะมาเที่ยวเวียดนามจึงควรเตรียมร่มติดตัวไว้ด้วย เพราะฝนที่นี่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่หลายคนกลับชอบบอกสดชื่นดี แถมอากาศก็ไม่ร้อนเหมือนบ้านเรา
ที่ด่านลาวบาว
หลังพ้นเขตแดนสปป.ลาวก็เข้าเขตเวียดนาม ตอนนี้ความทรงจำเมื่อปีที่แล้ว(50) เริ่มผุดขึ้นมาในสมอง นั่งๆไปก็อดที่จะนึกเปรียบเทียบถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลาที่ห่างกันแค่ปีเศษๆไม่ได้ หลายอย่างยังเหมือนเดิม แต่ก็มีบางสิ่งที่เห็นพึ่งจะมีขึ้นมาใหม่
ปีที่แล้วที่มาเที่ยวเวียดนามกลาง(ครั้งที่1) ตอนนั้นก็ยังไม่ทราบว่าพื้นที่บริเวณชายแดนนี้เป็นเขตการสู้รบสมัยสงครามเวียดนามเมื่อราว 30 ปีก่อน แต่มาคราวนี้เห็นอนุสาวรีย์ทหารอยู่ตรงทางแยกแห่งหนึ่งในเขตจ.กวางตรี จึงต้องหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้ทราบว่าเมืองเคซานห์ (Khe Sanh)ที่นั่งรถผ่านมา มันเป็นสนามการต่อสู้หรือแดนสงครามระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ที่โหดเหี้ยมรุนแรง (อาจลองทดสอบจากกูเกิ้ลโดยเซิร์ชคำว่า เคซานห์)
ส่วนสนามรบทางภาคเหนือที่สำคัญๆคงหนีไม่พ้น "ท่าเรือไฮฟอง" ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองฮานอยมากนัก หรืออยู่ใกล้กับอ่าวฮาลองเบย์แหล่งท่องเที่ยวที่หลายคนรู้จัก
เมืองไฮฟองและท่าเรือไฮฟองซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญทางตอนเหนือ สมัยสงครามเวียดนามนั้นเป็นพื้นที่ของประเทศเวียดนามเหนือ เครื่องบิน B52 ของสหรัฐบินมาทิ้งระเบิดไม่รู้ว่ากี่ร้อยกี่พันเที่ยว เรียกว่าทิ้งกันจนพรุนไปหมด ปัจจุบันคิดว่าน่าจะมีลูกระเบิดที่ไม่ทำงานหรือระเบิดด้านตกหล่นแถวบริเวณท่าเรือเป็นจำนวนมาก
(เขียนมาถึงตรงนี้ต้องบอกก่อนว่าเครื่องบิน B52 ที่ขนระเบิดไปทิ้งที่เวียดนามนั้น บินขึ้นจากสนามบินอู่ตะเภาในบ้านเรา)
เหตุการณ์สงครามเวียดนามแม้จะผ่านไปหลายสิบปี แต่ทุกวันนี้คนเวียดนามก็ยังไม่ลืมไปจากความทรงจำ คนรุ่นเก่าๆยังบอกต่อกันชนิดรุ่นต่อรุ่น เหมือนเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงภัยของสงคราม(รวมทั้งเกลียดชังสหรัฐ) รายการวิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อต่างๆของรัฐบาลยังนำภาพและเรื่องราวในสมัยนั้นมาเผยแพร่ชนิดที่ไม่รู้จักเบื่อ
ภาพของสงครามกู้ชาติจากฝรั่งเศสในยุคที่โฮจิมินห์เป็นผู้นำ และภาพสงครามเวียดนามที่ทำให้คนในประเทศนี้ต้องรบราฆ่าฟันกัน จึงปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป เหมือนกับว่าประเทศนี้ยังอยู่ในยุคของสงคราม แม้แต่ใจกลางกรุงโฮจิมินห์ก็ยังนำภาพสงครามตั้งโชว์ คล้ายเป็นนิทรรศการกลางแจ้งแบบไม่มีวันเลิกรา
จากเว้สู่ดานัง
บรรยากาศสองข้างทางระหว่างเมืองเว้สู่ดานังซึ่งเป็นเขตชนบท เรายังพบเห็นวิถีชีวิตแบบเดิมๆเหมือนเช่นเมืองไทยในอดีตเช่นภาพท้องไร่ท้องนาที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำ ภาพวัวควายที่จุงข้ามถนน หรือภาพคนเวียดนามขนผักมัดใหญ่ๆไว้ท้ายจักรยาน
เรามาถึงดานังจนมืดค่ำดูเวลาแล้วเกือบจะ 3 ทุ่ม จากนั้นก็นอนหลับผักผ่อนในโรงแรมระดับ 3 ดาวที่ดูจะไม่ธรรมดา เนื่องจากโรงแรมแห่งนี้นำหวายมาประดับและทำเป็นเฟอร์นิเจอร์เกือบทั่วโรงแรม เช่นโซฟาม้านั่ง ตกแต่งตามเสา ตามผนัง บนเพดาน หรือแม้แต่โคมไฟเหนือศรีษะก็ทำมาจากหวายทั้งหมด มันแปลกจนอดไม่ได้ที่จะถ่ายภาพไว้หลายๆภาพ
และเมื่อเปิดประตูห้องพักก็ยังเห็นเฟอร์นิเจอร์หวายอีกเช่นกัน หากตีเป็นเงินซื้อขายหรือสั่งทำในเวียดนามแล้วอาจไม่แพงมากนัก แต่ถ้าเป็นเมืองไทยแล้วคิดว่าราคาน่าจะสูงลิ่ว พ่อค้าเฟอร์นิเจอร์หวายในย่านถนนสุขุมวิทหรือย่านผู้ดี หากสนใจก็น่าจะมาสำรวจตลาดในเวียดนาม รับประกันว่าหาเครื่องหวายที่มีคุณภาพได้ไม่ยากและราคาถูกอีกด้วย
ต้นหวายที่ใช้ทำเฟอรนิเจอร์น่าจะมีอย่างเหลือเฟือในป่าของเวียดนาม แต่เมืองไทยคงคิดว่าเหลือน้อยเต็มที เนื่องจากการบุกรุกที่ดินที่บ้านเรายังแก้ปัญหานี้ไม่ตก เหมือนกับว่าบ้านนี้เมืองนี้ หากใครมีอิทธิพลก็สามารถปล้นที่ดินของประเทศมาเป็นของตนได้
ยกตัวอย่างเช่นการบุกรุกที่ดินบนเกาะสมุยที่หน่วยดีเอสไอ กำลังฟ้องร้อง "นายแทน เทือกสุบรรณ"
เรื่องแบบนี้หากเป็นชาวบ้านธรรมดาๆคงไม่กล้า แต่ถ้าเป็นญาติพี่น้องของนักการเมืองเช่นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของพรรคประชาธิปัตย์ อาจคิดได้ และทำได้ เพราะมีพี่ชายเป็นใหญ่เป็นโตในรัฐบาล
ทริปเวียดนามกลางตอนต่อไป
สำหรับเวียดนามกลางในตอนต่อไปจะพาไปเที่ยวเมือง ฮอยอันเมืองมรดกโลก ทุกวันนี้กระแสฮอยอัน(หรือโฮยอัน)อาจจะไม่มากเหมือนเมื่อก่อน หรือสมัยที่ภาพยนต์เรื่อง ฮอยอันฉันรักเธอ โด่งดัง แต่ทุกวันนี้ฮอยกันก็ยังเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจากยุโรป จีน และไทย ชนิดที่กระแสไม่มีตก
ฮอยอันแตกต่างกว่าที่อื่น หรือต่างกับเมืองมรดกโลกที่เคยพบเคยเห็น เพราะฮอยอันเป็นเมืองเก่าหรือเมืองมรดกโลกทั่วทั้งเมืองหรือทั้งอำเภอ ไปทางไหนก็จะเห็นบรรยากาศเดิมๆ การใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย สภาพบ้านเรือนและวิถีชีวิตตามแม่น้ำลำคลอง รวมทั้งเรือโดยสารแบบสมัยก่อน ยังมีให้เห็นอยู่มากมาย เหตุที่ทุกอย่างยังเหมือนอดีตก็เพราะว่าความเจริญยังมาไม่ถึง รายได้ของผู้คนที่นี่ยังไม่มากนัก คนเวียดนามที่นี่จึงใช้ชีวิตแบบพอเพียง เด็กระดับมัธยมยังขี่จักรยานเที่ยวเล่นกันเป็นกลุ่มๆ ส่วนเด็กเล็กก็วิ่งเล่นกันแถวๆหน้าบ้าน
ฮอยอันเป็นเมืองมรดกโลกที่ยังมีจิตวิญญาณ ไม่ได้เสกสรรปั้นแต่งให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทุกอย่างจึงเป็นไปแบบธรรมชาติ หากใครต้องการพักผ่อนทางใจ หรือต้องการย้อนอดีตของชาวเวียดนาม ก็ต้องมาที่ฮอยอัน มาแล้วก็จะรู้สึกว่า
"ฮอยอัน ฉันรักเธอจริงๆ"
โฟโต้ออนทัวร์
24 มกราคม 2556
|
|
|