เวียดนามกลาง ตอนที่ 3 ฮอยอันมรดกโลก เมืองเก่าที่ยังมีชีวิต
(เดินทาง ตุลาคม 2551)
เมื่อคืนเรานอนค้างที่เมืองดานัง หลังออกเดินทางจากด่านมุกดาหารทางฝั่งไทยแล้วข้ามโขงผ่านดินแดนของลาวมาถึงครึ่งวัน จากนั้นเข้าประเทศเวียดนามที่ด่านลาวบาวในเขตเวียดนามกลาง จนมาถึงเมืองดานังซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางในเวลาค่ำคืน เรียกว่านั่งรถชมวิวในลาวและเวียดนามกันทั้งวัน แถมระหว่างการเดินทางยังต้องปฏิบัติตามกฏจราจรของประเทศเวียดนามที่กำหนดความเร็วไม่เกิน 80 กม.(แต่ละเมืองกำหนดไม่เท่ากัน) จึงทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นการเดินทางที่ยาวนาน ทั้งๆที่มีระยะทางไม่ไกลมากนัก
เมืองไทยถนนหนทางดีกว่าเวียดนามและลาวหลายช่วงตัว จึงกำหนดความเร็วบนถนนหลวงไม่เกิน 120 กม.(แต่บางคันซัดไปถึง150-160) เมื่อถนนดีรถก็วิ่งเร็ว ผลปรากฏว่าประเทศไทยมียอดคนตายโหงบนท้องถนนที่เกิดจากอุบัติเหตุมากกว่าประเทศใดในเอเชีย หลายประเทศกำหนดความเร็วไม่เกิน 90 กม. เช่นประเทศจีนและมาเลเซีย โดยเฉพาะประเทศจีนที่สภาพถนนไฮเวย์ดีกว่าประเทศไทยแต่ให้วิ่งไม่เกิน 90 อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นน้อยมาก แต่เมืองไทยกลับไม่ค่อยสนใจเรื่องขับเร็ว แถมมารยาทของผู้ใช้รถใช้ถนนบางคน เห็นแล้วก็อยากจะตบให้หน้าคว่ำ เพราะขับปาดหน้าในระยะกระชั้นชิด
บ้านเรานี่ก็แปลกพอถึงเทศกาลเช่นวันขึ้นปีใหม่หรือวันสงกรานต์ องค์กรของรัฐฯเช่นตำรวจ และกระทรวงมหาดไทย ก็ออกมารณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุในช่วง7 วันอันตราย เช่นตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ รณรงค์เมาไม่ขับ รวมทั้งตั้งด่านตรวจและตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกบริการผู้ขับขี่ ส่วนวันอื่นๆก็ปล่อยเลยตามเลย
ส่วนเรื่องสำคัญคือ ขับรถเร็ว เรากลับไม่รณรงค์ หรือออกกฏควบคุมความเร็วให้ลดลงกว่าเดิมในช่วงเทศกาล ทั้งๆที่เห็นกันโทนโท่ว่าถนนหลวงในบ้านเรามีการขับรถด้วยความเร็วสูงทั้งช่วงเทศกาลและไม่ไช่เทศกาล อุบัติเหตุที่ตายกันมากก็มาจากขับเร็วทั้งนั้น หากขับช้าเหมือนบ้านเมืองอื่นคงไม่ตายมากมายแบบนี้
และช่วงสงกรานต์ 7 วันอันตรายในเดือนเมษายนปี56 ที่ผ่านมาไม่กี่วันมานี้มีรายงานว่าตาย 321 บาดเจ็บหลายพัน
ช่วงสงกรานต์ปี56นี้ มีโอกาสขับรถไปต่างจังหวัด เห็นป้ายโฆษณาว่า "ง่วงอย่าขับ" ก็ยังสงสัยว่าหากคนขับง่วงนอนหรืออยากหลับซักงีบ แล้วจะให้ไปงีบกันที่ไหน หรือจะให้งีบตามจุดบริการในเต้นท์ริมถนนที่ร้อนตับแลบ ส่วนตามปั้มน้ำมันก็ไม่เห็นมีจุดบริการนอนพักสักงีบเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล
หากปั้มน้ำมันต้องการเอาใจคนขับรถหรือเรียกลูกค้า อาจใช้พื้นที่สักแห่งสร้างอาคารชนิดโปร่งแสงหลังเล็กๆพร้อมติดแอร์ แล้วหาเก้าอี้แบบเอนนอนไว้บริการ โดยคิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมงเช่น30-40 บาทต่อชั่วโมงพร้อมผ้าเย็นและน้ำดึ่ม ทำแบบนี้ก็น่าจะมีผู้ใช้บริการ อย่างน้อยๆผมคนหนึ่งละที่อยากจะงีบสักนิด หลังขับรถกันนานๆโดยเฉพาะการขับรถในช่วงบ่ายๆที่มักง่วงเป็นประจำ
ประเทศลาวอาจไม่กำหนดความเร็วกันชัดเจนนัก แต่ส่วนใหญ่เห็นขับกันไม่เร็ว ทั้งนี้เป็นเพราะถนนไม่ค่อยดี เรื่องขับรถเร็วจึงไม่ค่อยเห็นกัน แต่ถ้าหากใครไปเที่ยวลาวแล้วเห็นขับกันเร็วๆบนถนนหลวง ทายได้เลยว่าเป็นรถจากเมืองไทย พวกนี้ติดนิสัยที่เคยขับในบ้านเรา พอเข้าลาวก็ตะบึงตะบันราดโดยไม่ดูบ้านดูเมืองว่าคนลาวเขามีพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนกันอย่างไร และไม่คิดว่าชาวบ้านที่อาศัยตามริมทางจะมีความระมัดระวัง หรือขับรถถูกกฏจราจรกันแค่ไหน
ที่เขียนก็เพราะเห็นมากับตา
เคยไปเที่ยวลาวโดยรถบัสขนาดใหญ่และรถตู้ มีแต่ขับเร็วๆทั้งนั้น บางครั้งก็จวนเจียนจนเกือบจะเกิดอุบัติเหตุ
มีอยู่ครั้งหนึ่งเห็นร่องรอยรถตกเขาในเส้นทางไปหลวงพระบาง พอวันถัดมาเจ้าของรถซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวไทยที่มากับกองคาราวาน ก็จัดแจงหารถไปลากปรากฏว่าเหลือแต่เศษเหล็ก เพราะชาวบ้านหรือชาวเขาแถบนั้นจัดการแยกชิ้นส่วนกันเรียบร้อย เรียกว่าถอดชิ้นส่วนไปหมดเหลือแต่โครงรถที่ไม่สามารถลากไปไหนได้ ส่วนเครื่องยนต์รวมทั้งชิ้นส่วนต่างๆเช่นไฟหน้า ไฟท้าย เบาะรถ หายเข้าป่าเกลี้ยง
อย่าลืมว่าคนลาวและเวียดนามเขาถนัดนักเรื่องการเล่นแร่แปรธาตุกันมานานแล้ว ขนาดเครื่องบินของอเมริกาตกในลาวสมัยสงครามเวียดนาม พี่แกก็จัดการถอดออกมาเป็นชิ้นๆ โดยเฉพาะตัวถังเครื่องบินที่เป็นแผ่นอลุมมีเนียม เขาบอกว่าหากนำไปตีเข้ารูปทำเป็นกะละมังใบใหญ่ๆแล้วละก้อถือว่าสุดยอดความคงทน ส่วนลูกระเบิดที่ตกเรี่ยราดตามในป่า พี่ลาวก็แกะเอาดินปืนออกแล้วตัดลูกระเบิดทำเป็นที่วางกระถางต้นไม้
ใครไม่เชื่อลองไปเที่ยวเมืองเชียงขวางทางภาคเหนือของลาวก็จะเห็นเอง
หรืออยากซื้อปลอกกระสุนปืนใหญ่ ปืนครก รวมทั้งลูกระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบิน B52 ไว้เป็นของสะสม น่าจะพอหาซื้อได้แถวเชียงขวางหรือบริเวณหมู่บ้านทุ่งไหหิน แต่จะเอามาเมืองไทยได้หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ
เรื่องการจราจรในเวียดนามนั้น ใครไปเที่ยวแล้วอาจหงุดหงิด เพราะขับช้าเหมือนเต่าหรือประเภทรถหวานเย็น แต่พวกเค้าก็ขับแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร เพราะตำรวจที่นั่นเอาจริงเอาจัง เช่นตั้งกล้องจับความเร็วทั้งบนเขาและทางลาด คนขับรถในเวียดนามจึงไม่ค่อยมีใครกล้าฝ่าฝืน แม้แต่ในป่าเขาที่เห็นรถวิ่งกันน้อยมากก็อย่าประมาทและอย่าเผลอขับเกินเป็นอันขาด เพราะอีกไม่ไกลจากจุดนั้นอาจเห็นรถหลายๆคันจอดรอรับใบสั่ง เรียกว่าโดนกันระนาว
ไปเที่ยวลาวและเวียดนามจึงไม่ควรกะเวลาเหมือนเมืองไทย เนื่องจากสภาพถนนต่างกัน กฏจราจรก็ต่างกัน เช่นระยะทาง 200 กม.หากเป็นบ้านเราคงกะเวลาได้ว่าใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ลาวและเวียดนามอาจใช้เวลาราวครึ่งค่อนวัน
เช้านี้ที่ดานัง
เช้านี้เราตื่นกันตามปกติตามที่นัดหมายคือ 6.00 น. ทานอาหาร 7.00 น.และออกเดินทางราว 8.00 น. ตามเวลาที่คณะทัวร์ทั่วๆไปนัดหมายกัน
โปรแกรมวันนี้เราออกจากเมืองดานังเพื่อไปเที่ยวเมืองฮอยอัน หรือเมืองเก่าฮอยอันที่อยู่ห่างจากดานังราว40 กม.
พอออกจากโรงแรมแล้วเข้าถนนสายหลัก จากนั้นก็เจอกับกองทัพมอเตอร์ไซด์อย่างชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนว่ามากมายขนาดนี้ จนแปลกใจว่าพวกเค้านัดประท้วงอะไรกันจึงเต็มถนนไปหมด ขนาดพวกเสื้อแดงที่ขับมอเตอร์ไซด์ออกมาชุมนุมบนท้องถนนไม่กี่ปีมานี้หรือปีที่เผาเมือง ดูแล้วก็ยังไม่เท่ากับที่เห็นอยู่ในขณะนี้
ใครมาเที่ยวเวียดนามคงรู้ดีว่าการจราจรบนท้องถนนในเวียดนามนั้นเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจกันขนาดไหน โดยเฉพาะบนถนนสายหลักของเมืองดานังที่คนส่วนใหญ่ใช้มอเตอร์ไซด์เป็นพาหนะหรือเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนจักรยานนั้นมีน้อยกว่าเมืองอื่นๆหรือเมืองเว้ที่เคยไปเที่ยว อาจเป็นเพราะดานังเป็นเมืองใหญ่และเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ มีอ่าวดานังเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าทางทะเล จึงมีความคึกคักกว่าเมืองอื่นๆ
เมืองดานังหรืออ่าวดานังคิดว่าน่าจะเป็นชัยภูมิที่ดี สมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปีพ.ศ 2390 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่3) ก็ส่งเรือรบเข้ามายึดอ่าวดานัง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเมืองนี้ว่าเมือง “ตูราน (Tourane)" ตามภาษาฝรั่งเศส
นี่คือจุดเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้ จากนั้นไม่นานฝรั่งเศสก็เข้ายึดลาวและกัมพูชาตามลำดับ ทำให้ทั้งลาวและกัมพูชาที่เคยเป็นเมืองขึ้นของไทยต้องตกไปอยู่ในมือของฝรั่งเศส และยังบังคับให้ไทยยอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นมาเอง ทำให้ไทยกับกับกัมพูชามีปัญหากระทบกระทั่งเรื่องเขตแดนมาหลายครั้ง และมีคดีความขึ้นสู่ศาลโลกถึงสองครั้ง ส่วนประเทศลาวก็เคยรบราในเรื่องเส้นแบ่งดินแดนกับไทยมาแล้วที่บ้านร่มเกล้า จ.พิษณุโลก เมื่อปี 2530
เมื่อราว 40 กว่าปีก่อน หรือในยุคต้นๆของสงครามเวียดนาม หน่วยนาวิกโยธินของสหรัฐอเมริกาก็ยกพลขึ้นบกที่อ่าวดานัง(เช่นเดียวกับสมัยฝรั่งเศส)หลังจากรัฐบาลเวียดนามใต้ในสมัยนั้นได้ขอร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกกองทัพเวียดนามเหนือรุกราน สหรัฐอเมริกาได้ใช้พื้นที่บริเวณหาดดานังเป็นที่เก็บอาวุธยุุทโธปกรณ์และเป็นฐานบัญชาการประจำเมืองดานัง ใครนั่งรถผ่านเส้นทางจากดานังสู่ฮอยอันหรือถนนเส้นเลียบชายหาดเกาได๋ หรือหาดจีน(Cao Dai Beach) ก็จะเห็นสิ่งปลูกสร้างเป็นซีเมนต์รูปโค้งที่ดูแข็งแรง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศ

ในเส้นทางระหว่างดานังสู่ฮอยอันหรือถนนเลียบหาดเกาได๋ที่มีระยะทางราว 40 กม. จากการเดินทางเมื่อปี 50 หรือมาเที่ยวเวียดนามกลางครั้งแรก ในครั้งนั้นสังเกตเห็นกองทรายขนาดมหึมาทอดยาวตลอดแนวฝั่งและมีความลึกราว 2 กม. บางช่วงเห็นต้นมะพร้าวเป็นทิวแถว แต่วันนี้ (ปี51) ทุกอย่างได้เปลี่ยนไป บริเวณชายหาดกลายเป็นที่จัดสรรเพื่อสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวและคอนโดหรูอยู่หลายแห่ง
นี่คือการเปลี่ยนแปลงในช่วงเพียงปีเศษๆ แม้แต่ในเมืองดานังก็เห็นตึกโรงแรมขนาดใหญ่และห้าง BigC ตั้งตะหง่าน จนเป็นที่กล่าวขานของคนเวียดนามว่าสร้างกันเร็วมากและกลายเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาหรือสัญญลักษณ์ของความทันสมัยของเมืองดานัง โดยเฉพาะตึก BigC เวลานี้ได้กลายเป็นตึกที่สูงที่สุดของเมืองดานังไปเรียบร้อยแล้ว
อ่าวดานังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารและเป็นท่าเรือสำคัญแห่งหนึ่งของเวียดนาม หากจะเป็นรองก็น่าจะเป็นรองท่าเรือเมืองไซง่อน(หรือโฮจิมินห์ซิตี้) กับท่าเรือไฮฟองที่อยู่ห่างจากเมืองฮานอยไปราว 100 กม.
ฮอยอัน
ฮอยอัน หรือ โห่ยอาน (Hoi An) เป็นเมืองขนาดเล็กริมฝั่งทะเลจีนใต้ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกว๋างนาม ในสมัยของอาณาจักรจามปาหรือในยุคขอม บริเวณนี้เคยเป็นเมืองท่าเรือของปากแม่น้ำทูโบน
ซึ่งมีชื่อว่า ไฮโฟ
คำว่า จาม หรือจามปา คนไทยคงเคยได้ยินได้ฟังมาว่าในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการเกณฑ์พวกจามซึ่งเป็นกลุ่มชาวมูสลิมจากเวียดนามเข้ามาในกรุงสยาม กลุ่มชาติพันธ์จามมีความชำนาญในการเดินเรือและทอผ้าไหม สมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ให้พวกจามทำหน้าที่เดินเรือทางทะเล ปัจจุบันชาวชุมชนบ้านครัวในกรุงเทพก็คือเชื้อสายพวกจามในอดีต และยังรักษาวัฒนธรรมดั่งเดิมคือการทอผ้าไหม ตลาดหรือลูกค้าผ้าไหมของชุมชนบ้านครัวก็คือร้าน จิมส์ทอมสัน
ฮอยอันเมื่อหลายร้อยปีก่อนหรือยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเคยเป็นเมืองท่าสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยนั้นมีประเทศต่างๆเข้ามาค้าขายกับเวียดนาม ได้แก่อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ทำให้สิ่งปลุกสร้างทางสถาปัตยกรรมของฮอยอันมีหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะสะพานมิตรภาพของสองประเทศระหว่างพ่อค้าชาวจีนและญี่ปุ่นก็ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
สะพานที่มีหลังคาแบบโบราณเป็นไฮไลท์สำคัญของการท่องเที่ยวเมืองเก่าแห่งนี้ที่ทุกคนต้องมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ขณะเดียวกันก็ยังใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของเมืองฮอยอันอีกด้วย
ในปีพ.ศ. 2542 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเขตเมืองเก่าของฮอยอันให้เป็นมรดกโลก ด้วยเหตุผลว่าเป็นตัวอย่างของเมืองท่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15-19 ที่มีการผสมผสานศิลปะและสถาปัตยกรรมทั้งของท้องถิ่นและของต่างชาติไว้ได้อย่างมีเอกลักษณ์ ร้านค้าอาคารต่างๆภายในเมืองได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี
ท่าเรือฮอยอันถูกลดสำคัญลงเรื่อยๆเนื่องจากปากแม่น้ำทูโบน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นประตููทางการค้าที่ออกสู่ทะเลจีนใต้เกิดการตื้นเขิน อันเนื่องมาจากดินทรายที่ทับถมในบริเวณปากแม่น้ำ ทำให้เรือที่เข้ามายังเมืองฮอยอันเดินทางเข้า-ออกไม่สะดวกโดยเฉพาะในยามน้ำลง เรือบรรทุกสินค้าจึงต้องหันไปใช้อ่าวดานังแทน
ปัจจุบันท่าเรือฮอยอันคงใช้เป็นท่าเรือประมงชายฝั่งสำหรับการประมงพื้นบ้าน ไม่ได้มีบทบาทสำคัญทางการค้าเช่นอดีต ส่วนการขนส่งสินค้าด้วยเรือขนาดใหญ่ได้ย้ายไปที่อ่าวดานังมานานนับเป็นร้อยๆปีแล้ว
เมืองฮอยอันในส่วนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือเขตเมืองเก่า ปัจจุบันยังมีตึกอาคารเก่าแก่ที่เคยเป็นร้านของพ่อค้าต่างชาติอยู่มากมาย ทำให้ย่านเมืองเก่าของฮอยอันมีหลากหลายวัฒนธรรม ทั้งยุโรป จีน ญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันได้ปลี่ยนเป็นร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านตัดเสื้อผ้า ร้านตัดรองเท้า ฯลฯ บางร้านก็เป็นร้านเก่าแก่ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน
ทุกวันนี้ใครมาเที่ยวฮอยอันสามารถพบเห็นวิถีชีวิตแบบดั่งเดิมหรือแบบชนบทของเวียดนามได้ทุกหนทุกแห่ง เช่นคนหาบของขายซึ่งเป็นพืชผักผลไม้หรือขนมพื้นบ้าน โดยใช้ไม้คานพร้อมสวมงอบแบบเวียดนาม ส่วนในยามค่ำคืนก็อาจเห็นแม่ค้านั่งขายของตามริมทางโดยใช้ตะเกียงน้ำมันขวดแก้วตามที่เห็นในร้านขายของเก่า ดูเป็นบรรยากาศโรแมนติกแบบย้อนอดีตสมัยปู่ย่าตาทวดที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
ฮอยอันถือว่าเป็นเมืองเก่าเมืองโบราณที่ยังมีชีวิตและไม่ได้เปลี่ยนไปตามกระแสโลกมากนัก
ซึ่งเมืองเก่าที่คงสภาพได้แบบนี้นับแต่จะหายากขึ้นทุกวัน เนื่องจากความเจริญเข้าไปครอบงำทำให้คนท้องถิ่นต้องปรับตัวไปกับสิ่งใหม่ๆที่รุกคืบเข้ามาทุกทิศทุกทาง
แต่เนื่องจากประเทศเวียดนามพึ่งผ่านพ้นสงครามเวียดนามไปไม่นานนัก ประเทศจึงอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศยังลุ่มๆดอนๆ โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินดองห์ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ความเจริญหรือความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกจึงยังไม่มีอิทธิพลต่อฮอยอันมากนัก ทำให้คนในยุคปัจจุบันมีโอกาสเห็นความเป็นอดีตที่ยังดูค่อยเป็นค่อยไป
ต่างกับในหลายประเทศที่พยายามจะจำลองเมืองเก่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทำได้แต่พียงรูปแบบภายนอกเช่นสร้างเลียนแบบขึ้นมาใหม่ แต่เมืองเก่าฮอยอันยังมีชีวิตและจิตวิญญาณ ชาวเวียดนามบางครอบครัวในเมืองนี้ยังสืบทอดความเป็นอดีตของต้นตระกูล และยังมีรากเหง้าของบรรพบุรุษ สะท้อนให้เห็นว่าชาวเวียดนามมีความผูกพันธ์ของความเป็นญาติพี่น้อง ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือยังอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมื่อปี 2542
โฟโต้ออนทัวร์
21 เมษายน 2556
หมายเหตุ: เวียดนามกลางได้ใมีโอกาสไปเที่ยวอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคมปี55 ใครสนใจฮอยอันสามารถติดตามได้ที่นี่ ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้มีแง่มุมแปลกๆของฮอยอันที่จะนำมาเสนอ ชนิดที่เข้าถึงเมืองเก่าฮอยอันอย่างแท้จริง
|