กัมพูชาตอนที่ 8
ปราสาทนครวัดตอนที่ 2 ( Angkor Wat ) ลำดับกษัตริย์ที่สำคัญของขอม
(บันทึกการเดินทางเดือน กรกฏาคม 2550 )
ตามที่กล่าวมาแต่ตอนแรกแล้วว่า นครวัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ดังนั้นในทริปนี้จึงถือว่ามีความสำคัญที่ใครมาเห็นแล้วก็ อึ่งกิ่มกี่ ว่าทำไมพวกขอมในอดีตจึงสร้างปราสาทได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เกินกว่าที่มนุษย์ตัวเล็กๆ จะสลักก้อนหินให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างวิจิตรสวยงาม นึกในใจว่าหากชาวบ้านอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ที่มีอาชีพสกัดครกหิน ได้มีโอกาสมาเห็นก็คงลมจับ เพราะมันยากกว่านั่งสกัดครกหินหลายเท่านัก
ก้อนหินหนักหลายตัน นำมาจากภูเขาพนมกุเลน ที่อยู่ห่างจากปราสาทนครวัดราว 50 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่ไม่สูงใหญ่นัก แต่ก็เป็นแหล่งหินที่นำมาก่อสร้างปราสาทต่างๆทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่สมัยก่อนพระนคร ( Pre Angkorian Period) หรือสมัยพระเจ้าภววรมัน ( พ.ศ 1093 ) ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรขอม ยุคเมืองพระนคร ( Angkorian Period ) จนถึงขอมยุคสุดท้าย หรือยุคหลังเมืองพระนคร ( Post Angkorian Period )
ตามประวัติกล่าวว่าปราสาทขอมถูกทิ้งร้างมานานถึงห้าร้อยกว่าปี นับจากกสมัยที่เจ้าสามพระยา (กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา) ยกทัพมาตีพระนคร ของเขมรได้สำเร็จ จากนั้นเขมรก็แตกกระเส็นกระสายทิ้งเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่น ส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันอยู่ที่เมืองละแวก อาณาจักรขอมก็กลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งมีนักสำรวจชาวฝรั่งเศสไปพบเข้าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
่ถามว่าคนเขมรลืมเมืองเก่านี้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ลืม แต่ไม่สนใจ เพราะว่ายุคหลังนี้เขมรหันมานับถือศานาพุทธ จึงไม่มีใครสนใจเทวาลัยสถานที่สร้างขึ้นมาเพื่อบูชาเทพฯองค์ต่างๆของศาสนาฮินดู ถือว่าเป็นคนละศาสนากัน
เขมรปัจจุบันกับขอมในอดีตเป็นเผ่าพันธ์เดียวกันหรือไม่
เรื่องนี่ถือว่าเป็นปัญหาโลกแตก และเถียงกันไม่จบ บ้างก็บอกว่าขอมโบราณเป็นเผ่าพันธ์ที่มีอารยธรรมสูง ส่วนเขมรเป็นพวกคนป่า ที่มาอยู่อาศัยอยู่ในอาณาจักรขอมโบราณ และขอมได้สาปสูญไปจนหมดแล้วนับจากสยามได้ยกทัพไปตีพระนคร( Angkor) เมื่อปี พ.ศ. 1974 โดยเจ้าสามพระยา
เรื่องนี้ผมถามไกด์เขมรเค้าก็บอกว่า เขมรปัจจุบันกับขอมในอดีตก็คือเชื้อสายเดียวกัน (ไม่แน่ใจว่าตอบแบบชาตินิยมหรือเปล่า เพราะหากบอกไม่ไช่ก็คงยุ่งเหยิงไม่ไช่น้อย แต่ ม.ร.ว. คึกฤทธ์ ปราโมช และ จอมพล. ป.พิบูลสงคราม เคยแสดงทัศนะ ว่า เขมรไม่ไช่ขอม)
แต่ในใจผมยังไม่ค่อยจะเชื่อไกด์นัก เพราะยุคหลังๆจะไม่มีการสร้างปราสาทใหม่ๆขึ้นมาอีกเลย นับว่าน่าแปลกมาก ต่างกับบ้านเราที่มีการสร้างเมือง สร้างวัด สืบทอดกันมาทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่แต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เมืองเขมรกลับตรงกันข้าม ทุกอย่างหยุดนิ่ง และสิ้นสุดกันในยุคที่ขอมเสื่อมอำนาจลง น่าสงสัยว่าขอม(โบราณ) หายไปไหนกันหมด
เรื่องนี้ไกด์เขมร เรียกได้ว่าเป็นมือวางอันดับ 1 ที่รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างดีได้อธิบายให้ผมฟังดังนี้ครับ
บอกว่าเรื่องนี้แบ่งออกได้เป็นสองเรื่อง
เรื่องแรก เนื่องจากขอมได้เปลี่ยนจากนับถือฮินดูมานับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นจึงไม่มีความเชื่อเรื่องการสร้างเทวาลัยเพื่ออุทิศบูชาแด่เทพฯองต์ต่างๆ เนื่องจากศาสนาพุทธนับถือพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว จึงไม่ต้องสร้างปราสาทบูชาพระพุทธเจ้า อย่างมากก็สร้างวัดเพื่อประกอบพิธีกรรมเท่านั้นเอง
เรื่องที่สอง การสร้างเทวาลัยสถานต่างๆ เป็นการสร้างตามคติโบราณ มีความเชื่อ ความศรัทธา ต่อองค์เทพฯ เป็นความศรัทธาที่แรงกล้า และคิดว่าตนเองจะได้รับผลสำเร็จตามความเชื่อนั้น เช่นจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือได้อยู่ใกล้ชิดกับองค์เทพ แต่เมื่อความเชื่อนี้เริ่มสั่นคลอน และไม่ได้เป็นจริงตามนั้น ความศรัทธาที่เคยมีอยู่ก็ลดลง จึงไม่มีการคิดสร้างปราสาทให้ยิ่งใหญ่เหมือนเช่นอดีต เข้าใจง่ายๆก็คือเมื่อความเชื่อหายไป ก็ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะยกหิน หรือสลักหิน เหมือนเมื่อก่อน
ความเห็นของไกด์ผู้นี้นับว่ามีเหตุผลน่ารับฟังทีเดียว แต่ความจริงจะเป็นเช่นนั้นทั้งหมดหรือเปล่า ผมก็ยังไม่ปักษ์ใจเชื่อนัก ยังสงสัยว่าแล้วฝีมือในเชิงช่างหายไปไหนหมด ทำไมไม่มีใครสืบทอด และจากการสนทนาคราวนั้นก็ยิ่งแปลกใจหนักเข้าไปอีกที่ไกด์ผู้นี้บอกว่า ตำราทางประวัติศาสตร์ที่ใช้ในกัมพูชา ถอดคำแปลมาจากตำราฝรั่งทั้งดุ้น แล้วคนขอมไม่มีการสืบทอดมรดกทางภาษาให้คนรุ่นต่อๆมาเลยหรือ เหมือนกับประเทศเขมรนี้ถูกตัดตอน
และจากการสนทนากับไกด์อาวุโสคนนี้ (อดีตเคยเป็นไกด์ให้กับุคคลสำคัญของไทยมาหลายคนแล้ว) มีความรู้สึกว่า คนเขมรในอดีตไม่ค่อยให้ความสนใจกับปราสาทขอมมากนัก เช่นเดียวกับคนไทยทีไม่ค่อยให้ความสำคัญกับโบราณสถานต่างๆ เขมรมาตื่นตัวกันตอนที่ต่างชาติให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยว และตีพิมพ์หนังสือออกมามากมาย
ข้อสงสัยนี้บางคนก็สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากตำราของฝรั่งเศสที่เขียนประวัติศาสตร์แบบนักล่าอาณานิคม เพราะตอนนั้นเขมรตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส และฝรั่งเศสเองก็เป็นผู้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของขอม และรู้ความเป็นมาของอาณาจักรขอมได้เกือบทั้งหมด จนแทบจะเรียกได้ว่าสามารถอ่านศิลาจารึกได้ทุกตัวอักษร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเขียนประวัติศาสตร์เข้าข้างเขมร และทิ้งปริศนาให้เกิดความสงสัยว่า ขอมกับเขมร เป็นเผ่าพันธ์เดียวกันหรือไม่
ขอมไม่ไช่เขมร หรือ เขมรก็คือขอม จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่าคำไหนถูก คำไหนผิด คงต้องให้เป็นหน้าที่ของนักประวิติศาสตร์ค้นคว้ากันต่อไป
นครวัดถือว่าเป็นปราสาทที่สวยงามที่สุดในบรรดาปราสาทขอมทั้งหมด และเป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของอาณาจักรขอม สร้างในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในช่วงต้นๆของการครองราชย์ หรือราวปี พศ. 1660 แต่พระองค์ได้สิ้นพระชนม์เสียก่อน ต่อมากษํตริย์องค์อื่นๆ
็ได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ รวมใช้เวลาถึง 37 ปี
เดิมปราสาทนี้มีชื่อว่า บรมวิษณุโลก ตามพระนามของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 หลังจากสวรรคตแล้ว ส่วนคำว่า นครวัด น่าจะเป็นคำที่เขมรยุคหลังๆที่นับถือศาสนาพุทธเป็นคนตั้งชื่อขึ้นมาใหม่
อาจเป็นเพราะปราสาทแห่งนี้ตกมาอยู่ในยุคของศาสนาพุทธ และ้ต่อมาก็ถูกนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เป็นที่พำนักสงฆ์เช่นเดียวกับวัด จึงเปลี่ยนชื่อเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพ ความเป็นจริงในขณะนั้น และคงไม่ต้องการให้ีชื่อปราสาทนี้่แสดงถึงความหมายหรือสัญญลักษณ์ของศาสนาฮินดู เช่นเดียวกับปราสาทตาพรหมที่สร้างในสมัยของกษัตริย์ที่นับถือพุทธ (พระเจ้าชัยวรมันที่ 7) แต่หลังจากสิ้นอำนาจ และมีกษัตริย์ที่นับถือพราห์ม-ฮินดู ขึ้นปกครอง ก็สั่งให้ทุบทำลายรูปลักษณ์อันเป็นเครื่องหมายแห่งพุทธศาสนาจนหมด
สำหรับการก่อสร้างปราสาทนครวัดมีบันทึกไว้น่าสนใจว่า
เป็นการจำลองโครงสร้างจักรวาลตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยอดปรางค์ 5 ยอดตรงกลางเปรียบประหนึ่งยอดเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลและเป็นที่สถิตของบรรดาทวยเทพทั้งมวล ฐานปราสาทชั้นล่าง 3 ชั้น หมายถึง ดิน น้ำ และ ลม ซึ่งเป็นที่ตั้งเขาพระสุเมรุ ระเบียงล้อมรอบมีหลังคาซ้อนกัน 7 ชั้นหมายถึง ภูเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุเป็นรูปวงแหวน 7 ชั้น แต่ละชั้นก็ถูกคั่นด้วยมหาสมุทรทั้งเจ็ดคือคูน้ำรอบปราสาทนครวัดนั่นเอง คติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุนี้ ไทยเราก็นำมาสร้างเป็นพระเมรุมาศ และพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ณ ทุ่งพระเมรุ ( ท้องสนามหลวง) และต่อมาก็สร้างเป็นเมรุเผาศพขึ้นตามวัดต่างๆ
มีหลายคนถามว่าปราสาทนครวัดทำไมจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศมรณะ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า นครวัดอาจเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็เป็นได้ จึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ปราสาทนครวัดจึงเปรียบเสมือนเป็นสวรรค์ หรือทิพยวิมานของพระองค์หลังจากเสด็จสวรรคตไปแล้ว โดยมีเหล่าเทวดานางฟ้าคอยร่ายรำและแสดงนาฏลีลาถวาย ซึ่งก็หมายถึงภาพสลักของนางอัปสร หรือนางอัปสรา จำนวน 1635 นาง รายล้อมปราสาท แต่ละนางก็แสดงท่าทางร่ายรำ และเครื่องแต่งกายที่ไม่ซ้ำแบบกันเลย
การก่อสร้างปราสาทประกอบด้วยช่างควบคุมการก่อสร้าง 500 คน ใช้แรงงานคนนับแสน พร้อมทั้งใช้ช้างลากหิน 5000 เชือก แพบรรทุกหินจากเขาพนมกุเลน(แปลว่าเขาลิ้นจี่) ที่อยู่ห่างขึ้นไปทางเหนือกว่า 50 กิโลเมตร ล่องมาตามแม่น้ำเสียมเรียบถึง 7000 แพ ใช้ปริมาณหินประมาณ 6แสนลูกบาศก์เมตร
แผนภูมิปราสาทนครวัด มีจักรวาลเป็นศูนย์กลาง (ถ้าเป็นตามหลักของจีนก็เรียกว่าศาสตร์ฮวงจุ้ย) โดยถือว่าเขาพระสุเมรุ(ปราสาทองค์ใหญ่ของนครวัด) เปรียบเสมือนเป็นแกนของจักรวาล มีทวีปทั้ง 4 ประกอบอยู่ 4 ทิศ (ปราสาทองค์รอง 4 องค์) ตั้งอยู่ท่ามกลางมหานทีสีทันดร (มหาสมุทร) ความหมายของปราสาท 4 องค์ ที่เป็นตัวแทนของทวีปมีชื่อว่า ภูตรกุรุทวีป , อมรโคยานทวีป , ชมภูทวีป และ บูรพวิเทหทวีป เช่นเดียวกับการสร้างเจดีย์ของไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัย กรุงศรีอยธยา มาจนถึงกรุงรัตโกสินทร์ ที่มีเจดีย์องค์ใหญ่องค์กลาง ล้อมรอบด้วยเจดีย์อีก 4 องค์
ปราสาทนครวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ริมระเบียงคตจะมีภาพสลักที่แสดงถึงความเป็นไปในสมัยนั้น เช่นการสู้รบ การเดินทัพ วิถีความเป็นอยู่ของผู้ตน ไม่ต่างกับหลักศิลาจารึกที่แกะสลักภาพแทนการลงอักขระ ซึ่งหากใครพอจะมีความรู้ในเรื่องราวประวัติศาสตร์ขอมก็อาจตีความหมายออกมาได้อย่างถูกต้อง ไม่ต่างกับหมอที่เห็นฟิล์มเอกซ์เรย์แล้วสามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆจากแผ่นฟิล์มนั้นได้ ในขณะที่คนไข้เห็นฟิล์มแล้วก็ยังดูไม่ออกว่ามีอะไรผิดปกติ จนกว่าหมอจะอธิบายให้ฟัง
ในการเที่ยวชมปราสาทต่างๆ สิ่งควรทำอย่างมากก็คือต้องเดินตามไกด์ให้ทัน เพราะไกด์จะอธิบายภาพสลักที่มีความหมายสำคัญๆ สามารถผูกเรื่องราวให้ปะติดปะต่อกันได้ หากใครเดินดูโดยไม่มีไกด์นำทางแล้วก็อาจมืดแปดด้าน เพราะดูไม่รู้เรื่อง เห็นอะไรก็เหมือนๆกันไปหมดหมด ทั้งที่ภาพสลักเหล่านั้นมีความหมาย และเป็นกุญแจไขปริศนาของประวัติศาสตร์
ปราสาทนครวัดมีความกว้างขวางใหญ่โตเกินกว่าที่จะเที่ยวชมได้หมดภายในเวลาอันจำกัด โดยทั่วไปจะมีเวลาเที่ยวชมประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง อุปสรรคที่ทุกคนต้องเจอก็คืออากาศร้อน เหนื่อย เมื่อยล้า บางแห่งก็อาจไม่มีโอกาสได้ชมเพราะหมดเรี่ยวแรงเสียก่อน
ปราสาทชั้นสูงสุด สันนิษฐานว่าเป็นที่เก็บพระศพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาท
เป็นสิ่งที่ท้าทายนักท่องเที่ยวให้ปีนขึ้นไปชม บันไดหินมีความสูงราวตึก 3 ชั้น และตั้งชันประมาณ 70 องศา ทำเอาหลายคนยอมแพ้ ไม่กล้าขึ้น
คำตอบคือเสียว...
คนที่ไม่กลัวความสูง และไม่กลัวความเสียว ก็สามารถพิสูจน์จิตใจกันได้ ส่วนคนที่ไม่ชอบเสียว ก็นั่งลุ้นอยู่ข้างล่าง เอาใจช่วยพวกที่ใจกล้าแต่ขาสั่น ที่ค่อยๆคืบคลานขึ้นไปทีละขั้นๆ แต่ละคนดูท่าทางไม่ต่างกับ ล. ลิง ใต่บันใด หรือ ล.ลิง ใต่หน้าผา บางคนก็อาศัยตัวช่วย เกาะขอบบันใดขึ้นไปทีละขั้น
มีคนสงสัยว่าทำไมจึงต้องสร้างบันใดให้สูงชันและขั้นเล็กจนก้าวลำบาก ก็ได้คำตอบว่าไม่ได้สร้างให้คนขึ้น แต่สร้างให้เทวดาขึ้นไปบนสวรรค์ต่างหาก เพราะข้างบนนั้นถือเป็นชั้นวิมานสวรรค์ เป็นที่เก็บพระศพของกษัตริย์ มนุษยจึงไม่สามารถขึ้นไปได้ ส่วนมนุษย์ยุคปัจจุบันปีนขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ ด้วยอาการแบบ ล.ลิง ไต่บันใด เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่า คน(มนุษย์)ได้พัฒนามาจากลิง
แต่ปี 2551 เป็นต้นไปนี้ได้ยินว่าเขมรได้ปิดบันใดทางขึ้นหมดทุกด้าน ( มี 5 ด้าน) ตามข่าวบอกว่าปิดซ่อมแซม แต่บางข่าวก็บอกว่ามีความชำรุดเสียหายมาก อันเกิดจากนักท่องเที่ยว อาจปิดอย่างถาวร
มีข้อแนะนำอีกอย่างว่าอย่าเอามือไปสัมผัสลูบคลำส่วนหนึ่งส่วนใดของปราสาท โดยเฉพาะลูบคลำลวดลายแกะสลัก โดยเฉพาะภาพสลักนางอัปสราที่ยืนร่ายรำอยู่บริเวณซุ้มประตูปรากฏว่า
ถูกนักท่องเที่ยวลูบคลำจับอก จนหินที่มีรอยสากๆ กลายเป็นหินขัดมัน เงาวับ
เที่ยวเขมรตอนต่อไปจะพาไปเที่ยวโตนเลสาบ ทะเสาบน้ำจืดทั้ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่เป็นแหล่งอาหารน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เว็บมาสเตอร์
โฟโต้ออนทัวร์
7 กรกฏาคม 2551
(หมายเหตุ : บทความที่เขียนเรื่องเขมรนี้ มาจากแหล่งข้อมูลหลายๆแหล่ง เช่นจาก เว็บไซต์วิกิพีเดีย และจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งจากคำบอกเล่าของไกด์เขมรหลายคน และสุดท้ายได้นำทั้งหมดนี้มาประมวลตามทัศนะของผู้เขียนเอง หากใครก็ตามกำลังค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องดังกล่าว ควรหาข้อมูลจากหลายๆแหล่ง... โฟโต้ออนทัวร์ เขียนบทความต่างๆลงในเว็บไซต์เพียงเพื่อใช้ประกอบเป็นข้อมูลสำหรับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ไม่เน้นข้อมูลในเชิงลึก ที่เป็นข้อมูลทางวิชาการ)
ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงอาณาบริเวณของปราสาทนครวัด
|