
ปักกิ่งตอนที่ 12 : ปี๋เซี๊ยะ และ วัดลามะ(วัดทิเบต) กลางเมืองปักกิ่ง
Yong He Gong, Lama Temple
(เดินทาง กุมภาพันธ์ 52)
เช้าวันนี้ไกด์ได้พามาที่หอประตูชัย ในท่ามกลางอากาศที่หนาวจัด และเป็นวันแรกของรอบปีที่มีหิมะตกในเมืองปักกิ่ง คนไทยจึงรู้สึกตื่นเต้นกันใหญ่ ส่วนไกด์เองก็เอาใจช่วยมาทั้งแต่วันแรกที่มาถึง ว่าอยากให้หิมะตกลงมาในช่วงนี้ เพราะอากาศหนาวมาหลายวันแล้ว (จนน้ำในแม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง) แต่หิมะไม่ตกเสียที
เช้ามึดวันนี้คนไทยรู้สึกดีใจที่เห็นหิมะเป็นครั้งแรกในชีวิต ต่างออกมาจับหิมะพร้อมถ่ายรูปในบริเวณลานหน้าโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่อยู่นอกเมืองปักกิ่งราว 40 กม. ซึ่งเป็นการเดินทางกลับจากเที่ยวเทศกาลน้ำแข็งและหิมะที่หลงชิงเสีย (ตอนที่ 10)
ระหว่างทางที่นั่งรถมาจากโรงแรม(มีชื่อเป็นภาษาจีน) ซึ่งโรงแรมแห่งนี้ก็มีน้ำแร่อุ่นๆให้แช่กัน และเป็นจุดขายของที่นี่ แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่อยากจะเล่นด้วย น้อยคนที่จะออกมาแช่น้ำร้อนตอนกลางค่ำกลางคืน คงไม่อยากฝ่าความหนาววิ่งข้ามไปมาระหว่างอาคาร (มันหนาวถึงขนาดต้องวิ่ง ไม่ต่างกับวิ่งหลบฝน)
เราออกจากโรงแรมแห่งนี้ตอนเช้ามืด พร้อมกับทานอาหารกล่องกันบนรถ ระยะทางจากเมืองนี้ถึงปักกิ่งก็เดาๆว่าน่าจะประมาณ 40 กม. พอใกล้จะถึงตัวเมืองปักกิ่งก็เห็นโครงการบ้านจัดสรรใหม่ผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ และเป็นประเภทบ้านสองชั้น บางแห่งก็หลังใหญ่สไตล์ยุโรป ดูแล้วสวยงามด้วยกันทั้งนั้น คนไทยเห็นแล้วก็เดาไปต่างๆนานาว่าคงแพงน่าดู เพราะส่วนใหญ่ในประเทศจีนจะสร้างที่พักแบบดอนโดสูงๆกันมากกว่า บ่านพักสองชั้นและมีบริเวณแบบนี้คงจะเป็นระดับที่มีฐานะแน่นอน
เห็นการพัฒนาที่ดินหรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนแล้ว รู้สึกว่าเค้าจะสร้างระบบเมืองไปพร้อมๆกัน คงไม่ได้สร้างกันแบบโดดๆ แล้วให้เป็นปัญหาให้กับชุมชนใกล้เคียงในภายหลัง
โครงการขนาดใหญ่ที่สังเกตเห็นมีหลายแห่งจะ่ประกอบด้วยตลาดหรือศูนย์การค้า โรงเรียน สถานที่ราชการต่างๆ ถนนหนทาง และระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งหมดนี้สร้างขึ้นพร้อมๆกับโครงการที่อยู่อาศัย
ต่างกับบ้านเราที่จะมองเฉพาะส่วนที่ตนเองทำธุรกิจ ผลกระทบที่เกิดจากสร้างศูนย์การค้า หรือที่พักอาศัยในโครงการขนาดใหญ่ กลายเป็นภาระให้กับรัฐบาลที่ต้องตามแก้ปัญหากันเอาเอง โดยเฉพาะเรื่องการจราจรที่เป็นปัญหามาก
แต่เนื่องจากประเทศจีนที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ การก่อสร้างในโครงการใหญ่ๆ รัฐบาลจึงมีอำนาจเขาไปบริหารจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบแบบม้วนเดียวจบ ไม่ต่างกับการสร้างเมืองขนาดย่อม โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา สถานที่ทางราชการต่างๆ เช่นโรงพัก โรงพยาบาล ฯลฯ เข้าไปพร้อมๆกัน บ้านเราคงทำไม่ได้ เพราะแค่หน่วยราชการก็ต่างคนต่างทำ ไม่ประสานร่วมมือกัน ต้องรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนจึงตั้งงบประมาณตามไปแก้
ประเทศคอมมิวนิสต์แบบจีน ลาว หรือเวียดนาม มักจะมีวิธีดำเนินการเหมือนๆกัน รัฐบาลจึงเป็นใหญ่ ส่วนประชาชนเป็นเรื่องรอง ยิ่งเป็นรัฐบาลจีนในยุคปัจจุบัน ต้องบอกว่ายังมีกลิ่นอายไม่ต่างกับสมัยปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ประชาชนจะอ้าปากร้องเรียนเรื่องโน้นเรื่องนี้ นั้น..
ทำได้แต่มักไม่สำเร็จ เผลอๆอาจถูกรัฐสำเร็จโทษ ก่อนที่เรื่องจะสำเร็จด้วยซ้ำไป
คนจีนไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะอึดอัดใจ จะทำอะไรมากก็ไม่ได้ เพราะรัฐบาลเปรียบเสมือนเจ้าเหนือหัว ร้องเรียนมากไปก็อาจเป็นภัยกับตัว อำนาจที่มองไม่เห็นในประเทศจีนยังมีอีกมาก และเรื่องส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนก็เงียบเข้ากลีบเมฆด้วยกันทั้งนั้น บ้านเราก็ทำนองเดียวกัน คำว่าร้องเรียนไปหลายหน่วยงานแล้วก็ยังไม่มีใครมาแก้ไข ก็จงคิดเสียว่า ไทยกับจีนก็ไม่แตกต่างกันมากนัก เผลอๆไทยเราอาจดีกว่าจีนด้วยซ้ำไป เพราะกฏหมายต่างๆไทยเราถือว่าล้ำหน้าจีนไปมาก มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าจีน
โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและเสรีภาพ
ยกตัวอย่างง่ายๆ สื่อสารมวลชนในจีนจะกล่าวตำหนิรัฐบาลแล้วรับรองว่า อาจมีชายชุดดำมาเยี่ยมเยียนถึงสำนักงาน หรือหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจมาในมาดขึงขัง เสียงดังฟังชัด ไม่ต่าง " นาย กับ ขี้ข้า " เราจึงไม่แปลกใจที่มักได้ยินข่าวว่าจีนปิดกั้นข่าวสารจากต่างประเทศ เช่นข่าวชาวจีนคนหนึ่งมีชื่อว่า นาย หลิว เสี่ยว โป ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่เจ้าตัวยังอยู่ในคุกจีน รัฐบาลจีนมองว่า นายหลิวคนนี้เป็นอาชญากรที่มุ่งโค่นรัฐบาล และเขียนบทความโจมตีรัฐบาล จึงไม่ยอมให้สื่อทุกแขนงนำข่าวนี้ไปเผยแพร่ ขณะเดียวกันจีนก็ยังประท้วงไปยังประเทศสวีเดน ที่มอบรางวัลนี้ให้
รัฐบาลจีนในปัจจุบันมีความคิดที่ว่า ความสงบสุขของคนในประเทศต้องมาก่อน ดังนั้นเรื่องใดที่อาจมีผลกระทบตามมาในภายหลังจีนจะไม่ยอมเด็ดขาด แม้กระมั่ง ลัทธิฝ่าหลินกง จีนก็ต้องขจัดออกไปจากประเทศ (แต่บางส่วนได้แอบมาทำกิจกรรมลับๆในประเทศไทย)
เรานั่งรถฝ่าหิมะที่ตกลงมาแบบปรอยๆตลอดทาง เวลาตอนนี้ราวแปดโมง เป็นช่วงการจราจรขาเข้าเมืองค่อนข้างจะคับคั่ง อากาศก็รู้สึกทึมๆชอบกล เหมือนบ้านเราตอนฝนตกปรอยๆ แต่ที่เห็นนี้เป็นหิมะ บรรยากาศจึงแปลกตาสำหรับพวกเรามาก
หิมะตกกับฝนตก บรรยากาศดูไม่ต่างกันนัก
แต่ถึงแม้จะหนาวแค่ไหน คนจีนก็ยังไปทำงานตามปกติ ตามท้องถนนทั้งทางด่วนและเส้นทางปกติเต็มไปด้วยรถรา ไม่ต่างกับบ้านเราในชั่วโมงเร่งด่วน แต่รถที่นี่จะติดตั้งฮีตเตอร์ หรือเครื่องทำความร้อน รถแต่ละคันจะมีทั้งแอร์เย็นและแอร์อุ่น หนาวก็เปิดฮีตเตอร์ให้มีลมร้อนออกมา ร้อนก็ปรับเป็นแอร์เย็นแบบบ้านเรา
บ้านเรารถไม่มีแอร์ ประเภท 2 ประตู 20 หน้าต่าง เราก็ยังเดินทางกันตามปกติ แต่เมืองจีนโดยเฉพาะเมืองปักกิ่งรถเมล์ทุกคันต้องมีแอร์อุ่นนะครับ หากไม่มีก็คงหนาวแย่ เพราะปักกิ่งอยู่ทางภาคเหนือและอยู่ในเขตหนาวของจีน บางปีมีหิมะตกหนักมากจนขาวโพลนไปหมด สถานท่องเที่ยวในเมืองปักกิ่งต้องปิดทำการชั่วคราว ถึงไม่ปิดก็คงไม่มีใครมาเที่ยว
ไกด์จีนบอกว่านอกจากบางปีอาจเจอหิมะอย่างหนักแล้ว
ช่วงฤดูแล้งอาจเจอพายุฝุ่นที่ฟุ้งกระจายปกคลุมทั้งเมือง แต่ปัจจุบันได้ลดลงไปมากเนื่องจากรัฐบาลมีโครงการปลูกป่าปลูกหญ้าในบริเวณเส้นทางของพายุฝุ่น ทำให้ลดความรุนแรงลงไปมาก
พอรถวิ่งเข้าตัวเมืองปักกิ่ง พวกเราก็แปลกใจและตื่นเต้นที่เห็นน้ำในลำคลองกลายเป็นน้ำแข็ง ถามไกด์กันใหญ่ว่าสีขาวๆนั้นมันคืออะไร
ความจริงก็เริ่มเป็นฝ้าขาวหรือเริ่มมีน้ำแข็งลอยอยู่บนผิวน้ำมาหลายวันแล้ว แต่เมื่อมาเจอหิมะจึงกลายเป็นสีขาวกันทั้งแม่น้ำลำคลอง ตามตึกอาคารหรือรถที่จอดข้ามคืนในที่แจ้งก็เริ่มมีหิมะปกคลุมจนขาวโพลนไปหมด
รถพามาที่หอประตูชัย ซึ่งเป็นหอคอยทรงจีนตั้งอยู่บนตึกสูงราว 6 -7 ชั้น ไกด์บอกว่าที่นี่เปรียบเสมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของกรุงปักกิ่ง สมัยก่อนเมื่อถึงคราวจะออกรบ บรรดาแม่ทัพก็ต้องมาถือฤกษ์เอาชัยกันที่ประตูชัยหรือหอชัยแห่งนี้ เพราะถือว่าที่นี่มีพลังแห่งอำนาจ เป็นฮวงจุ้ยที่ดีที่สุดของปักกิ่ง และจะใช้หอสูงแห่งนี้มองทิศทางที่จะออกรบ เปรียบเสมือนเป็นป้อมชัยประจำเมือง
ปัจจุบันทางการจีนได้อนุรักษ์หอชัย และเป็นที่เก็บรักษา ปี๋เซี๊ยะ สัตว์ในตำนานของจีนที่มีอายุหลายร้อยปี ซึ่งถือเป็นเครื่องโชคลางของขลังอย่างหนึ่ง ไม่ต่างกับมังกร สิงห์โตคาบลูกแก้ว หรือตัวกิเลน ซึ่งมักจะเห็นตามหน้าตึกอาคารค่างๆในประเทศจีน
ไกด์บอกว่า ปี๋เซี๊ยะหากจะซื้อก็ต้องมาที่นี่ เพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีพลังมากกว่าซื้อจากที่อื่นๆ ซึ่งพลังของปี๋เซี๊ยะอาจลดลงไปหากตั้งอยู๋ในที่ไม่เหมะสม เช่นซื้อตามริมทาง หรือปี๋เซี๊ยะที่ทำจากวัสดุอื่นเช่นทำจากเรซิ่น ก็ถือว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์ และไม่มีพลัง เป็นของตั้งโชว์มากกว่าจะนำไปบูชา
แต่ปี๋เซี๊ยะเป็นวัตถุมงคลประจำตัว จะทำหน้าที่คอยดูแลรักษาทรัพย์ของเจ้าของที่ซื้อหรือบูชามาเท่านั้น
 
ปี๋เซี๊ยะ หรือเครื่องรางที่เป็นรูปสัตว์คล้ายสุนัขที่ทำจากหยกนี้ คล้ายกับพวกผ้ายันต์ หรือตระกุด ของไทยในสมัยก่อน
แต่เครื่องลางของไทยในสมัยก่อนๆมีเรื่องราวพิศดารกว่าประเทศไหนๆในโลกนี้
แม่เคยเล่าให้ฟังว่า คนโบราณเมื่อจะออกรบก็จะฉีกเอา " ชายผ้าถุงของแม่ " ติดตัวไปด้วย จะช่วยให้อยู่รอดปลอดภัย หรือเคยมีคนเล่าให้ฟังว่า ผ้าถุงของแม่ที่สวมใส่ในวันคลอดลูกนั้นให้เก็บไว้ ถือเป็นเครื่องลางที่จะต้องให้ลูกๆไว้ติดตัว อาจฉีกเป็นเศษผ้าแล้วผูกเอวไว้ เพื่อป้องกันภยันตรายต่างๆและเพื่อคุ้มครอง
เรื่องนี้อาจเป็นอุบายของคนในสมัยก่อนที่ให้รู้จักนับถือแม่ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางคนก็นับถือแม่ว่าเป็นพระ หรือพระอรหันต์ประจำบ้านทีลูกๆทุกคนต้องให้ความเคารพและบูชากราบไหว้
ความหมายของปี๋เซี๊ยะที่นิยมกันในปัจจุบันก็เพื่อการค้าขาย หรือเพื่อช่วยเก็บรักษาทรัพย์สมบัติไม่ให้ตกหล่น ส่วนการดูแลรักษาปี๋เซี๊ยะนี้ก็ยังต้องมีขั้นตอนและกรรมวิธีหลายอย่าง ฟังๆจากไกด์ก็คล้ายๆกับการเลี้ยงลูกกรอกในบ้านเรา ต้องให้ข้าวให้น้ำ ต้องลูกคลำ ต้องทักทาย และต้องหันให้ตรงทิศ รู้สึกว่ามีกฏมีเกณฑ์มากมายที่จะต้องปฏิบัติ แต่เป็นความเชื่อของคนที่นับถือ
ตำนานความเชื่อเรื่องปี๋เซียะนี้มีมานานตั้งแต่ยุคต้นๆของราชวงศ์ชิง
มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งได้ครองราชย์มาเป็นเวลานานถึง 60 ปี ประชาชนทั่วไปจึงเชื่อว่าปี๋เซี๊ยะ ที่พระองค์ได้รับมาจากนักพรตในป่าและเก็บรักษามาเป็นเวลานานนี้ มีส่วนช่วยให้พระองค์ครองราชย์ได้ยืนนาน และทำให้ประเทศมีแต่ความรุ่งเรือง
ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการแกะสลักหยกเพื่อทำปี๋เซี๊ยะ ซึ่งได้รับความนิยมเรื่อยมา
ปัจจุบันคนจีนไม่น้อยที่นับถือปี๋เซี๊ยะและมีไว้บูชาในบ้าน นำติดตัว หรือตั้งไว้ในบริษัทห้างร้าน ทั้งนี้เพื่อความเป็นเป็นศิริมงคล จะได้ทำมาค้าคล่อง บางคนค้าขึ้นก็บอกว่าเป็นเพราะปี๋เซ๊ยะที่ตั้งอยู่ในบริษัท จึงรู้สึกหวงแหนมาก ต้องให้ข้าว อาบน้ำ ทักทายกันเป็นประจำ ทั้งๆที่ความสำเร็จนั้นอาจเป็นโชคหรือเป็นความสามารถของตนเอง
ปรากฏว่าบางคนประสบความสำเร็จ บางคนก็ไม่ วิธีแก้ก็คือว่าต้องไปซื้อหรือไปบูชาปี๋เซี๊ยะตัวใหม่ ตัวเก่าที่อยู่กับเราถือว่าไม่ถูกโฉลก จึงไม่ได้ช่วยเรา
ใครคิดอุบายเรื่องนี้นับว่าเก่งทีเดียว เพราะถือว่าเป็นการทำการตลาดที่แยบยล ซื้อไปแล้วไม่ได้ผล ก็ให้ต้องมาซื้อตัวใหม่แทน เรียกว่าขายกันได้ตลอดทั้งปีทั้งชาติ เมืองไทยน่าจะเอาอย่างบ้าง
เช่นใครซื้อหรือเช่าพระพุทธรูปไปแล้วค้าขายไม่ร่ำรวย หรือชีวิตมีแต่ความร้อนรุ่มวุ่นวาย ก็ต้องมาซื้อพระองค์ใหม่ไปแทน ส่วนพระองค์เก่าก็เอามาบริจาคให้วัด เพื่อจะได้ขายให้คนอื่นต่อไป ไอเดียนี้จะนำไปใช้ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ เรื่องวัดกับการตลาดในสมัยปัจจุบัน มันกลมกลืนจนแยกกันไม่ออก (หากไม่สังเกตให้ดีๆ)
หรือกระป๋องสีเหลืองที่เรียกว่า ชุดสังฆทาน
มาวัดแล้วไหว้พระกันแบบมือเปล่าๆอาจรู้สึกว่าได้บุญไม่เต็มที่
หลายวัดจึงเอาเรื่องสังฆทานนี้มาหากิน เรียกว่าเป็น พุทธพาณิชย์ ประเภทหนึ่ง เรียกว่า มาไว ไปไว ได้เงินเร็ว ได้บุญเยอะ ว่างั้นเถอะ
บางวัดเมื่อเข้าไปแล้วก็จะเห็นกระป๋องสีเหลืองหลายขนาดตั้งเรียงรายอยู่บนชั้น จะซื้อไปถวายแบบไหนราคาเท่าไหร่ก็ตามศรัทธา ราคาอาจเริ่มที่ 199 299 399 599 ไปเรื่อยๆ หรืออาจถึง 999 ซึ่งถือว่าเป็นเลขมงคล
เมื่อจ่ายเงินแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะยกลงมาต่อคิวเพื่อนำมาถวายพระ ถึงคิวเราก็ยกถวาย สวดตามที่พระท่านบอก รับพรมน้ำมนต์ จากนั้นก็จบพิธี ด้วยความสบายใจ กลับบ้านได้
ส่วนกระป๋อง(ศักดิ์สิทธิ์)ใบนั้น ทิ้งไว้สักพัก(รอให้ผู้บริจากกลับไปแล้ว) ทางเจ้าหน้าที่ก็จะยกไปตั้งไว้ที่เดิม เพื่อให้ลูกค้า เอ้ย..เพื่อให้ผู้มีใจกุศลรายอื่นๆมาซื้อถวายพระเป็นรายต่อๆไป
แบบนี้ก็ไม่เลว ถือว่าเป็นการนำการตลาด ผสมผสานกับความเชื่อ วิน วิน กันทุกฝ่ายทั้งทางวัดและฆราวาส วัดได้เงิน ฆราวาสได้บุญ กระป๋องใบเดียวสามารถทำเงินได้ไม่น้อย นี่ยังไม่นับดอกไม้ธูปเทียนที่นำมาวนเวียนขายกันทั้งวัน
เราออกออกจากหอประตูชัยก็มาที่วัดลามะกันต่อ
วัดลามะ (Lama Temple )หรือ ยงเหอกง (Yonghe Gong ) อายุ 400 ปี
ไกด็บอกว่าเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนในปักกิ่งนิยมมากราบไหว้ และ้เป็นวัดของชาวทิเบต สมัยก่อนมีพระจากทิเบตมาจำพรรษา แต่ปัจจุบันบทบาทของพระได้ลดน้อยลง เพราะที่นี่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมืองปักกิ่ง พระที่เห็นภายในวัดจึงมีไว้เพื่อการดูแลรักษาสมบัติเก่าหรือเพื่อการอนุรักษ์มากกว่า
แต่ละวันจะมีชาวทิเบต หรือชาวจีนเชื้อสายทิเบตมากราบไหว้กันไม่น้อย และคนทิเบตเหล่านี้มีแรงศรัทธาชนิดที่เราเห็นแล้วก็อดทึ่งไม่ได้
วันนั้นอุณภูมิราว -1 องศา ในวัดมีหิมะโปรยปรายจนเจ้าหน้าที่ต้องทำการปัดกวาดอยู่ตลอดเวลาเพราะทางเดินอาจลื่น ขณะยืนถ่ายภาพได้เห็นชาวทิเบตราว 3- 4 คน กำลังสักการะเหมือนกับที่เห็นในภาพยนต์สารคดี คือพวกเค้าจะยืนพนมมืออยู่บริเวณหน้าวิหาร จากนั้นก็คุกเข้าบนพื้นหินแล้วยกมือพร้อมทอดตัวไปข้างหน้าในลักษณะนอนคว่ำพร้อมกับเอาหน้าผากแตะพื้น พร้อมกับหงายมือ

ทำอยู่แบบนี้ราว 3 ครั้ง
และนี่คือการไหว้พระของคนทิเบตที่แตกต่างจากชาวพุทธในประเทศอื่นๆ
โดยไม่รังเกียจว่าพื้นบริเวณนั้นจะเย็นยะเยือกแค่ไหน หรือพื้นจะสกปรกหรือไม่ มาถึงก็คุกเข่า ก้มตัว นอนราบโดยไม่พูดพร่ำทำเพลง
ใครไปเที่ยวประเทศจีน หรือแม้แต่ในเกาะฮ่องกง ก็อาจพบเห็นการไหว้สักการะแบบนี้ตามวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และจะกระทำกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่
อาการกราบไหว้ของชาวทิเบตนั้นแสดงถึงการปล่อยวางจิตใจที่ยังยึดมั่นถือมั่นในตัวตน เป็นการชำระจิตใจให้สะอาด(ส่วนร่างกายจะเลอะเทอะก็ช่างหัวมัน) และ
ไม่แคร์สายตาของคนอื่น ไม่อาย ไม่กลัวความสกปรก ไม่กลัวความหนาวเย็นของพื้น หรือไม่กลัวว่าพื้นบริเวณนั้นจะร้อนปานใด
วิธีการที่เห็นนี้ก็ไม่ต่างกับการบิณฑบาตรของพระสงฆ์ในทุกๆเช้า ที่ต้องละวางความยึดมั่นในตัวตน ด้วยการเดินเท้าเปล่า เป็นระยะทางหลายกิโล
ใครอยากทดสอบจิตใจแบบชาวทิเบตก็ได้นะครับ ง่ายๆเลย ให้ไปที่วัดถูเขาทอง ทำแบบที่เห็นชาวทิเบตในภาพชุดนี้ คือยืนไหว้ คุกเข่า นอนราบไปข้างหน้า เอาหน้าผากแตะพื้น แล้วหงายฝ่ามือ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆตามขั้นบันใด จากขั้นแรกไปจนถึงเจดีย์ด้านบนสุด ไม่ได้พูดเล่นๆนะครับ คนทิเบตที่ศรัทธาจริงเขาจะมาบูชาวัดศักดิ์สิทธิ์ที่เมืองหลวงกันปีละครั้ง และจะไหว้แบบคลุกฝุ่นคลุกดินกันตั้งแต่เชิงดอยไปถึงมหาเจดีย์ มีระยะทางราว 3 กม. แค่ภูเขาทองมีบันใดแค่ร้อยขั้นถือว่าจิ๊บๆ
ใครทำได้รับประกันว่าได้บุญมากกว่าบูชากระป๋องศักดิ์สิทธิ์สีเหลืองหลายเท่าตัว
วัดลามะมีของสำคัญๆหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ต่างกับพิพิทธภัณฑ์ที่เก็บรักษาสิ่งมีค่าที่มีอายุหลายร้อยปี หลายอย่างไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชม เพียงแต่ไกด์จะชี้ไปที่โน่นที่นี่ ว่ามีของเก่าเก็บรักษา ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่มีโอกาสได้เห็น
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่พระพุทธรูปที่ทำจากไม้จันทร์ขนาดใหญ่ และเป็นไฮไลท์หรือเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของวัดนี้
พระพุทธรูปไม้มีชื่อว่า พระศรีอาริยเมตไตย เป็นพระพุทธรูปทำจากไม้จันทร์หอม ประดิษฐานอยู่ใน วิหารหมื่นสุข และเป็นพระพุทธรูปไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามที่กินเนสบุ๊คได้บันทึกไว้ ในแผ่นทองเหลืองที่ติดไว้หน้าวิหาร
พระพุทธรูปแบบทิเบต หรือพุทธแบบมหายานมีความสูง 26 เมตร โดยส่วนฐานไม้จะอยู่ใต้พื้นดิน 8 เมตร ส่วนที่เป็นองค์พระจะอยู่เหนือพื้นดิน 18 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 100 ตัน นับว่าเป็นพระที่ใหญ่โตมาก แต่เนื่องจากห้ามถ่ายภาพจึงขอเอาภาพจากเว็บไซต์อื่นมาให้ชมกัน
 
การสร้างพระไม้ที่วัดลามะ คล้ายกับการสร้างพระประธานในบ้านเรา คือจะสร้างตัวองค์พระก่อน แล้วจึงสร้างวิหารครอบในภายหลัง เมื่อเข้าไปในวิหารนี้แล้วรู้สึกว่าสถานที่ข้างในคับแคบมากเมื่อเทียบพระองค์ใหญ่ เวลาจะดูพระพักตร์ก็ต้องแหงนจนคอตั้ง
เรื่องนี้อาจเป็นอุบายของคนในสมัยก่อน เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาข้างในจะได้มีความรู้สึกว่าองค์พระมีความสูงใหญ่โตจนต้องแหงนมอง แบะอาจมีผลต่อความรู้สึกว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
พระพุทธรูปนี้ทำจากไม้จันทร์หอม (ชนิดเดียวกับที่แอบตัดจากป่าในบ้านเรา) เขาบอกว่าเป็นไม้จันทร์ท่อนเดียว แต่รู้สึกว่าจะเป็นไปได้ยากเพราะไม้ท่อนนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางในส่วนฐานถึง 10 เมตร เข้าใจว่าน่าจะแกะสลักมาเป็นท่อนๆ และนำมาต่อกันมากกว่า เช่นเดียวกับการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปหินแกะสลักในสมัยก่อน หรือแม้กระทั่งการหล่อพระพุทธรูปสัมฤทธ์องค์ใหญ่ที่ประทับยืนอยู่ลานกว้างในพุทธมนฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งช่างจากประเทศจีนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ยังใช้วิธีการสร้างแบบดั่งเดิม คือจะหล่อสัมฤทธิ์เป็นท่อน (อาจ 5-6 ท่อน) จากนั้นก็นำขึ้นเรือข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองจีน แล้วนำมาต่อเชื่อมกันในเมืองไทย
ไม้จันทน์ขนาดเส้นผ่าศุนย์กลาง 10 เมตรหรือมากกว่า คงเป็นไปได้ยากที่เป็นไม้ท่อนเดียวกัน แต่หากทำจากไม้สนในเขตหนาวแล้วก็มีความเป็นไปได้ เพราะคนสมัยก่อนถึงขนาดเจาะกลางลำต้นให้รถเก๋งคันใหญ่ๆวิ่งลอดผ่านไปได้
ไม้จันทร์(แต่ละท่อน) กว่าจะมาถึงที่นี่ก็ต้องเดินทางไกล ไกด์บอกว่าสมัยนั้นใช้วิธีเคลื่อนย้ายโดยใช้วิธีชักลากมาบนน้ำแข็ง จากแม่น้ำที่กลายเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว
วัดลามะ หรือวัดทิเบต มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของจีนก็เนื่องจาก สร้างเมื่อราว พ.ศ. 2237 หรือเมื่อ 317 ปี (ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา) และใช้เป็นตำหนักที่ประทับของ องค์ชายหย่งเจิ้ง (องค์ชายสี่) สมัยยังทรงพระเยาว์
ต่อมาเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ และย้ายไปประทับยังพระราชวังปักกิ่ง(วังกู้กง) จึงโปรดให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่พักผ่อนอิริยาบทที่อยู่ภายนอกวัง พร้อมกับตั้งชื่อว่า ยงเหอกง
ยงเหอกง ได้ใช้เป็นที่พำนักของพระลามะจากทิเบต ที่เข้ามาติดต่อราชการกับราชวงศ์จีน และได้กลายเป็นวัดลามะใน นิกายหมวกเหลือง ของทิเบต
เราออกจากวัดลามะก็เป็นเวลาใกล้เที่ยง จากนี้ก็จะไปทานข้าว และซ็อปปิ้งที่ตลาดรัสเซียก่อนเดินทางกลับเมืองไทย
พบกันใหม่ในตอนสุดท้ายหรือตอนที่ 13 ครับ พร้อมกับพาไปจีบสาวจีนที่ตลาดรัสเซีย สวยและน่ารักกันแค่ไหน ก็ต้องติดตามชม
มากับหนุ่มไทยนิสัย กุ๊ก กิ๊ก ก็แบบนี้แหละครับ คนอื่นๆที่มาสายตาจับจ้องแต่ของซื้อของฝาก แต่หนุ่มไทยบ้านนอกคนนี้กลับ มองหาแต่สาวๆ
นิสัยแบบนี้ มันแก้ไม่หายสักที สงสัยว่าจะเป็นเรื่องของพันธุกรรมแล้วละครับ
โฟโต้ออนทัวร์
23 กรกฏาคม 2554
|