คุนหมิงตอนที่ 2 Kunming part 2
ตำหนักทองจินเตี้ยน บ้านพักของอู๋ซานกุ้ย ขุนศึกผู้ขายชาติ
(เดินทาง มิถุนายน 2552/2009)
เที่ยวคุนหมิงตอนที่ 2 นี้ยังอยู่ในเมือง ส่วนตอนที่ 3 จะพาออกนอกเมืองแล้วละครับ จากตอนที่ 1 ได้พาเที่ยว เขาซีซาน ไปดูศาลเจ้าเก่าแก่ของคุนหมิง ที่คนจีนถือว่าหากใครมาคุนหมิงแล้วจะต้องขึ้นเขาซีซานให้ได้ มิฉะนั้นจะถือว่ายังมาไม่ถึง
เขาซีซานดูก็คล้ายๆกับหนังจีนในฉากที่พระเอกจะต้องขึ้นเขาลัดเลาะไปตามหน้าผา เพื่อหาอาจารย์และขอฝึกวิทยายุทธจนแก่กล้า
หน้าผาลักษณะเขาซีซานหรือหน้าผาที่เจาะเป็นทางเดินแบบนี้มีมากมายหลายแห่งในประเทศจีน เห็นแล้วก็น่าทึ่งในความความพยายามของมนุษย์เมื่อหลายร้อยปีก่อน บางแห่งเจาะหน้าผาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย บางแห่งก็เจาะหน้าผาเพื่อสร้างวัดสร้างศาลเจ้าเหมือนกับศาลเจ้าที่เขาซีซานแห่งนี้
หลังจากลงจากเขาก็เป็นเวลาเย็น และได้เวลาอาหารพอดี ถ้าจำไม่ผิดได้ยินไกด์บอกว่าจะพาไปทานอาหารยูนนาน หรืออาหารจีนทางตอนใต้ทีมีรสจัดจ้านกว่าที่อื่นที่มีแต่รสจืดๆหรือมีแต่หมูเห็ดเป็ดไก่ แต่พอมาเห็นแล้วก็ไม่ต่างอาหารจีนทั่วไป จะแปลกก็ตรงมีแกงเผ็ดๆในกระบอกไม้ไผ่ จิ้มด้วยหมั่นโถก็อร่อยดี ที่คิดว่าน่าลองทำในเมืองไทยก็คือผัดมะเขือยาว ที่ผัดด้วยน้ำปรุงรสแบบจีนที่เราไม่รู้จัก เค้าไม่ใส่เต้าเจี้ยวและใบโหระพา รสชาติใช้ได้เลยครับ
ใครเบื่อผัดมะเขือแบบเดิมๆจะลองทำแบบจีนก็ได้ คือต้องฝานเปลือกออกเสียก่อน พอนำไปผัดตามกรรมวิธีแบบบ้านเราปรากฏว่าน่าทานกว่าเดิมเยอะเลย เพราะมะเขือไม่ดำ สีสันก็ดูดี

ภัตตาคารที่มานั่งทานมื้อเย็นนี้อยู่ภายในอาคารที่ดูคล้ายทรงไทย มองดีๆก็คล้ายพระที่นั่งจักรี ที่เอาหลังคาจั่วแบบไทยไปครอบตึกทรงยุโรป แต่อาคารที่เห็นนี้ดูลักษณะแล้วน่าจะเลียนแบบมาจากศิลปะของชาวไทลื้อที่สิบสองปันนาหรือเมืองเชียงรุ้ง ที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน

ชาวไทลื้อในสิบสองปันนานับถือศาสนาพุทธมีวัดพุทธแบบล้านนาไทยหลายแห่ง
เคยไปเที่ยวสิบสองปันนาเมื่อเดือนมีนาคมปี 51 ปรากฏว่าในเมืองหล้า(หรือเมืองล้า)เขตสิบสองปันนา เห็นนำศิลปะการสร้างวัดมาสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ ต่างกับเมืองไทยที่จะไม่ทำแบบนี้ เพราะถือว่าวัดเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรสร้างบ้านหรืออาคารใดๆให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นวัด แต่ที่สิบสองปันนาเค้าไม่ถือสา ศูนย์การค้ายังดูคล้ายวัด บางแห่งก็สร้างเจดีย์องค์เล็กๆตามระเบียงอาคารแต่ละหลัง
ออกจากร้านอาหารก็เข้าโรงแรม Kunming Jin Jiang Hotel เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว ตั้งอยู่กลางเมือง โรงแรมนี้ดูใหญ่โตทีเดียว คาดว่าทัวร์ไทยหลายบริษัทคงใช้บริการที่นี่เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งซ้อปปิ้ง
มื้อเช้าเราทานอาหารบนชั้นดาดฟ้าของโรงแรม สามารถมองเห็นเมืองคุณเมืองได้ 360 องศา แต่กระจกค่อนข้างมัวจึงเห็นภาพได้ไม่ดีนัก เมื่อมองลงไปตามหลังคาตึกที่อยู่ต่ำกว่าเห็นความแปลกประหลาดของเมืองนี้ คือตามดาดฟ้าเห็นตั้งแผง โซล่าเซลล์ (Sola Cell) เต็มไปหมด เป็นการทำความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ เช่นเดียวกับที่เคยเห็นบ้านบางหลังในเมืองไทย น่าแปลกตรงที่ทำไมจึงมากมายเช่นนี้ เหมือนกับว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกครัวเรือน
เมืองไทยเป็นเมืองร้อนระบบนี้จึงไม่นิยม แต่เท่าทีทราบหากติดตั้งก็ลงทุนราว 3-4 หมื่นบาท ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ที่คุนหมิงนี้ทำกันมานานหลายสิบปีแล้ว สังเกตเห็นแผลงโซ่ล่าเซลล์รวมทั้งแท้งน้ำบางชุดขึ้นสนิมจนเห็นได้ชัด
คุนหมิงหากดูจากแผนที่แล้วอยู่ทางตอนใต้ของจีน แต่กลับเป็นเขตหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีที่ 15.5 องศาเซลเซียส ช่วงหน้าหนาว(มค.กพ.มีค.) อุณหภูมิประมาณ 2.3 องศา ส่วนหน้าร้อน(เดือน พค.มิย.กค) จะอยู่ที่ประมาณ 24.4 องศา เห็นแล้วก็อิจฉาที่ว่า ร้อนสุดในบ้านเค้าก็คืออุณภูมิระดับห้องแอร์บ้านเรา การติดตั้งระบบทำความร้อนจากแสงอาทิตย์จึงน่าจะประหยัดไฟได้มากกว่า หรือลงทุนครั้งเดียวก็ไม่ต้องจ่ายค่ารายเดืิอน
ไกด์บอกว่า "คูนหมิงได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีอากาศเย็นสบายที่สุดของจีน" หลายคนมาอยู่แล้วติดใจจนไม่อยากย้ายไปอยู่เมืองอื่นๆ แม้แต่นักศึกษาจีนจากเมืองอื่นๆเมื่อจบจากมหาวิทยาลัยในคุนหมิงแล้ว ก็จะพยายามหางานทำที่นี่
เมืองคุนหมิงที่มาสัมผัสครั้งแรกดูจะไม่ค่อยประทับนัก เนื่องจากเป็นเมืองที่กำลังพัฒนาระบบสาธารณูปโภคกันขนานใหญ่ มีการขุดย้ายเสาไฟฟ้า ทำถนน และทุบทางด่วนเพื่อสร้างใหม่
มองไปทางไหนก็มีแต่ฝุ่น ถนนก็มีคราบดินโคลน ไม่สะอาดเรี้ยมเร้เหมือนกับเมืองอื่นๆที่ผ่านการบูรณะไปหมดแล้ว ยิ่งเห็นตึกรามบ้านช่องแล้วดูหดหู่ มันเก่ามันโกโรโกโสชนิดที่ยิ่งกว่าแฟลตการเคหะในบ้านเราเสียอีก
จีนพัฒนาไปมากแต่ความเป็นจริงก็เหมือนกับที่เห็นเมื่อเดือนมิถุนายนปี 52 ว่า ขนาดเมืองใหญ่ๆที่มีชื่อเสียง ก็ยังมีสภาพเดิมๆมากมาย แต่ทุกอย่างก็คงค่อยๆปรับปรุงให้ดีขึ้น
บางคนอาจบอกว่าปี52 ที่เห็นนี้ถือว่าดีขึ้นมากแล้ว หากเป็นเมื่อ 10-20 ปีก่อนคงหนักกว่านี้ หรือประเภทไปเที่ยวที่ไหนก็มีแต่ห้องน้ำรวมไม่มีประตู และเหม็นชนิดแทบเป็นลม
ผมโชคดีที่ไม่มีโอกาสเห็นภาพอย่างที่ว่า หากใครมาเที่ยวในช่วงนั้นก็คงจะเข็ดประเทศจีนไปอีกนาน
แต่เรื่องห้องน้ำห้องส้วมของจีนตอนนี้เปลี่ยนไปมากแล้ว และเปลี่ยนเร็วมากในช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคเมื่อปี2008 เรียกว่าชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ภาพลักษณ์เก่าๆเริ่มหายไปจากความทรงจำ คนจีนก็พัฒนาขึ้นมีวัฒนธรรมดีขึ้น สุบบุหรี่ในที่สาธารณะน้อยลง ไม่มีการขากถุยตามถนนเหมือนเมื่อก่อน
สำหรับคุนหมิงตอนที่ 2 ได้ไปเที่ยว ตำหนักจินเตี้ยน (Jindian Golden Temple) บางแห่งก็เรียกตำหนักทองจินเตี้ยน แต่ความจริงแล้วเป็นบ้านพักของขุนศึกหรือแม่ทัพจีนที่มีชื่อว่า “ อู๋ซานกุ้ย “ (Wu Sangui)
อุ๋ยซานกุ้ยมีเรื่องราวที่ดูจะแปลก ตอนไปเที่ยวก็ไม่ได้ตามไกด์ไปอย่างใกล้ชิด เพราะมัวแต่เดินถ่ายภาพตามลำพัง จึงขอนำเรื่องราวของแม่ทัพ อุ๋ซานกุ้ย จากวิกีเพียมาลงทั้งหมด
สำหรับคุนหมิงตอนที่ 3 คงได้เวลาออกนอกเมืองแล้วละครับ ความจริงแล้วเสน่ห์ของกุ้ยหลินจะอยู่ตามเมืองเล็กๆในชนบททั้งนั้น เช่นอุทยานป่าหิน ภูเขาเปลี่ยนสี ถ้ำจิ่วเซียง และวัดหยวนทง
....................................................................................................................................................................................................
อู๋ซานกุ้ย (Wu Sangui)
(จากวิกีพีเดีย)
อู๋ซานกุ้ย (Wu Sangui)
แม่ทัพในปลายราชวงศ์หมิง ผู้เปิดประตูเมืองให้แมนจูบุกเข้าปักกิ่งเป็นเหตุให้ราชวงศ์หมิงอันเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่เป็นชาวฮั่นที่ปกครองจีนมานานกว่า 4,000 ปี ต้องล่มสลายลง
ประวัติอู๋ซานกุ้ย
เกิดที่มณฑลเจียงซู ในปี ค.ศ. 1612 เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของอู๋เซียง ขุนนางใหญ่ในราชวงศ์หมิง อู๋ซานกุ้ยได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่รักษาด่านซันไห่กวน อันเป็นด่านหนึ่งของกำแพงเมืองจีนซึ่งเป็นด่านสำคัญที่ป้องกันการรุกรานจากศัตรูทางทิศเหนือของปักกิ่ง
โค่นราชวงศ์หมิง
ภายหลังที่หลี่จื้อเฉิงก่อการปฏิวัติ ฮ่องเต้ฉงเจิน ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงได้ผูกพระศอสวรรคตไปแล้ว หลี่จื้อเฉิงเกรงว่า กองทัพของอู๋ซานกุ้ย ที่อยู่ที่ชายแดนอาจยกทัพเรือนแสนมาประชิดปักกิ่งก็เป็นได้ จึงได้จับตัวครอบครัวของอู๋ซานกุ้ยไว้เป็นตัวประกัน แต่ได้มีผู้เตือนให้ปฏิบัติต่อครอบครัวของอู๋ซานกุ้ยให้ดี หลี่จื้อเฉิงจึงได้เกลี้ยกล่อมให้อู๋เซียง เขียนจดหมายไปถึงบุตรชายของตนเองให้ยอมสวามิภักดิ์ อู๋ซานกุ้ยจึงเดินทางมายังปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมด้วยกับหลี่จื้อเฉิง แต่เมื่อมาถึงเมืองหลานโจวแล้วอู๋ซานกุ้ยพบว่า เฉินหยวนหยวน อนุภรรยาคนสุดท้ายของตนถูกจับเป็นตัวประกันด้วย จึงโกรธแค้นและเปลี่ยนใจไปเข้าร่วมกับฝ่ายแมนจู นัดแนะเปิดด่านซันไห่กวนให้แมนจูบุกเข้าไปยังกรุงปักกิ่ง ในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1644 และบุกเข้าพระราชวังต้องห้ามได้ ทัพของหลี่จื้อเฉิงต้องล่าถอยและได้ต่อสู้กับทัพของอู๋ซานกุ้ย ในที่สุดหลี่จื้อเฉิงก็แพ้ และถูกสังหารในที่สุด
รับใช้ราชวงศ์ชิง
ความดีความชอบของอู๋ซานกุ้ย ทำให้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผิงซีอ๋อง ปกครองมณฑลยูนนาน ชายแดนทางตอนใต้ ในรัชสมัยฮ่องเต้ซุ่นจื้อ และก่อนหน้านั้นหวงไท่จี๋ได้ยกธิดาองค์ที่ 14 ให้สมรสกับบุตรชายของอู๋ซานกุ้ยด้วยเพื่อเป็นการตอบแทน ต่อมาในรัชสมัยฮ่องเต้คังซี พระองค์ต้องการขจัดอำนาจของเจ้าศักดินาต่าง ๆ ที่ปกครองหัวเมืองเพราะเกรงอิทธิพลของพวกนี้จะกระทบต่อพระราชอำนาจในการปกครองของพระองค์ จึงออกนโยบายเพื่อริดรอนการสืบทอดอำนาจของเจ้าศักดินาเหล่านี้ อู๋ซานกุ้ยจึงพยายามรวบรวมกำลังก่อการกบฏ โดยยื่นข้อเสนอให้ฮ่องเต้คังซีนำชาวแมนจูทั้งหมด อพยพกลับไปตั้งอาณาจักรของตนที่แมนจูเรีย และเรียกเอาเงินถึง 9 ล้านตำลึง แล้วจะไม่เอาผิด ในปี ค.ศ. 1673 อู๋ซานกุ้ยได้เคลื่อนทัพจากมณฑลยูนาน เปลี่ยนมาใส่ชุดออกรบของราชวงศ์หมิง อ้างว่าต้องการที่จะแก้แค้นแทนราชวงศ์หมิงที่ล่มสลายไป ทว่าประชาชนยังจำได้ดีว่าอู๋ซันกุ้ยเป็นคนเปิดด่านซันไห่กวน เชิญทหารชิงเข้ามา การกล่าวอ้างเช่นนี้จึงไม่มีใครยอมเชื่อ และไม่มีใครให้ความร่วมมือในตอนแรก
แต่การเคลื่อนทัพเป็นไปอย่างราบรื่น ทัพกบฏเอาชนะไปตลอด บุกตีไปจนถึงหูหนัน จากนั้นส่งคนไปติดต่อให้ซั่งจือซิ่นกับเกิ่งจิงจง 2 อดีตขุนนางราชวงศ์หมิงที่ทรยศต่อแผ่นดินและได้รับบรรดาศักดิ์เช่นเดียวกับอู๋ซานกุ้ยเข้าร่วมกองทัพกบฏกับอู๋ซานกุ้ยด้วย
การก่อกบฏของทั้งสาม ได้สามารถยึดครองพื้นที่ทางใต้ทั้งหมดของจีนเอาไว้ได้ ทว่าฮ่องเต้คังซีเองก็ยังไม่แพ้ ยังทำการคัดเลือกแม่ทัพนายกอง ระดมกำลังทหารเข้าต่อกร และยกเลิกการปลดบรรดาศักดิ์ของซั่งจือซิ่น และเกิ้งจิงจงไว้ก่อน จนกระทั่งผลการศึกผลัดเปลี่ยนเป็นฝ่ายอู๋ซานกุ้ยเริ่มเพลี่ยงพล้ำ ในที่สุดทั้งสองก็ยอมแพ้ต่อราชสำนักชิง
แม้ช่วงแรกอู๋ซันกุ้ยจะทำศึกประสบชัยมาโดยตลอด ทว่าทหารชิงกลับมีมากและเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่กำลังของอู๋ซานกุ้ยค่อย ๆ อ่อนโทรมลง อู๋ซันกุ้ยเริ่มรู้ว่าไม่สามารถต้านทานได้อีก และในที่สุดก็ป่วยหนักเสียชีวิตไปในปี ค.ศ. 1681 กองทัพชิงได้แบ่งทัพออกเป็น 3 สายบุกเข้าตีเมืองคุนหมิง อู๋ซื่อฝาน หลานของอู๋ซานกุ้ยต้องฆ่าตัวตาย กองทัพชิงจึงสามารถพิชิตผนวกดินแดนทางภาคใต้กลับคืนมาได้
จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้เรื่องราวของอู๋ซานกุ้ยยังคงถูกเล่าขานมาจนปัจจุบัน ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้อู๋ซานกุ้ยได้รับการประณามว่า เป็น "คนขายชาติ" ต่างจากหลี่จื้อเฉิงที่ถูกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ
โฟโต้ออนทัวร์
28 ตุลาคม 2555
|