มาเลเซียตอนที่ 3 ดูภาพการเกษตรสมัยใหม่บนคาเมรอน
เที่ยวไร่ชา และชมตลาดพืชผักผลไม้
คาเมรอน มาเลเซีย ชื่อนี้คนไทยอาจไม่คุ้นหูนัก แต่หากพูดถึงเก็นติ้ง หรือแหล่งกาสิโนที่อยู่บนเขาเก็นติ้ง ก็อาจร้องอ๋อ เพราะ้ใครๆก็รู้จัก โดยเฉพาะนักพนันที่เอาเงินไปบริจาคให้กับบ่อนรวมๆกันแล้วก็นับเป็นพันๆ หมื่นๆล้าน แต่ปัจจุบันบ่อนพนันเกิดขึ้นหลายแห่งรอบชายแดนไทยทำให้เก็นติ้งไม่เป็นที่นิยมของนักพนันจากไทยเท่าใดนัก
คาเมรอน ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สำหรับผู้ที่ชอบป่าเขา หรือมาพักบนเขาที่มีบรรยากาศแบบตะวันตก โดยเฉพาะบ้านพักหลังใหญ่ๆสไตล์อังกฤษ ที่ยังหลงเหลือให้เห็นตามหุบเขา ใครเห็นแล้วก็บอกว่าเหมือนมาเที่ยวสวิสเซอร์แลนด์
ความสูงบนคาเมรอนประมาณ 1,830 เมตร หรือ 6,000 ฟุต เทียบกับบ้านเราก็ไม่ถือว่าสูงมาก แต่ที่นี่เป็นเขตชุ่มชื้นเหมือนภาคใต้ของเรา ทำให้มีเมฆมาก ความสูงระดับนี้ก็พอเพียงที่จะสัมผัสถึงกลุ่มเมฆ ที่ลอยต่ำและมีอากาศหนาวเย็นคล้ายภาคเหนือบ้านเรา
ที่พักมีหลายรูปแบบ เช่นโรงแรม รีสอร์ต เกสเฮ้าส์ หรือแค้มปิ้ง ลองเข้าไป search Google ก็จะเห็นบริการที่พักแบบต่างๆมากมาย ชาวมาเลเซียเองก็นิยมพาครอบครัวมาพักผ่อน หรือแม้แต่ชาวสิงคโปร์ก็นิยมขับรถมาพักผ่อนที่นี่เช่นกัน วันหยุดสุดสัปดาห์ที่จะเต็มเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะบ้านพักเป็นหลังๆสไตล์เก่าแก่คล้ายชนบทของประเทศทางยุโรป

บนคาเมรอนมีกฏเกณฑ์เรื่องการควบคุมมลภาวะที่เข้มงวดมาก การอยู่อาศัยของผู้คน โรงแรมที่พัก และฟาร์มการเกษตรที่ใหญ่โต จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะฟาร์มเกษตร มีมากมายทั่วทั้งภูเขา เป็นการการเกษตรสมัยใหม่ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งปุ๋ยหรือยาฆ่าแปลง พื้นที่ที่อยู่รอบข้างจึงไม่เดือดร้อนจากการพ่นยาฆ่าแมลงเหมือนบ้านเรา ที่นี่เป็นแหล่งผลิตอาหารทางการเกษตรที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของมาเลเซีย สามารถเลี้ยงคนมาเลเซียค่อนประเทศ และยังสามารถส่งออกไปเลี้ยงคนสิงคโปร์ได้ จนหลายคนบอกว่าพืชผักผลไม้จากคาเมรอนที่เดียว สามารถเลี้ยงคนได้ถึง 2 ประเทศ
พืชผักจากคาเมรอน เป็นตัวอย่างการการเกษตรที่มีการนำเทคโนโลยี่ทางการเกษตรมาใช้ และบริหารจัดการในรูปแบบของธุรกิจเอกชน ดังนั้นเจ้าของฟาร์ม เจ้าของพื้นที่การเกษตรจึงเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือที่เรียกว่านิติบุคคล
ผลผลิตทั้งหมดมีตลาดรองรับที่แน่นอน รัฐบาลไม่ต้องเข้ามายุ่งในเรื่องการประกัน ราคาพืชผล เพราะเจ้าของกิจการสามารถหาตลาดได้ด้วยตัวเอง หรืออาจร่วมมือกับธุรกิจการเกษตรต่างประเทศ เพื่อเป็นตัวเชื่อมนำผลิตภัณฑ์ส่งไปขาย บางบริษัทอาจเป็นสาขา หรือร่วมมือกับธุรกิจที่มีความก้าวหน้าทางการเกษตร กิจการของมาเลเซียจึงได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี่ในระดับนานาชาติ ผลผลิตจากเคเมรอนจึงเป็นสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน สามารถเข้าไปขายยังประเทศที่เข้มงวดเรื่องสารพิษหรือสารตกค้างได้อย่างไม่มีปัญหา
คลิกที่ภาพ
การเกษตรที่คาเมรอนประสพความสำเร็จมาได้ทุกวันนี้ ต้องยกเครดิตให้กับผู้บุกเบิกในอดีต ได้แก่นักสำรวจชาวอังกฤษที่ชื่อ William Cameron โดยรัฐบาล(อังกฤษ)ที่ปกครองมาเลเซีย มอบหมายให้สำรวจพื้นที่บนภูเขา เพื่อทำแผนที่เมื่อปี ค.ศ 1885 หรือ พ.ศ. 2428 ในการสำรวจก็ได้เก็บและบันทึกข้อมูลต่างๆด้วย เช่นอุณหภูมิ ความสูง ความชื้น ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ กระทั่ง ค.ศ 1925 (พ.ศ.2468) Sir George Maxwell ได้มาพัฒนาและตั้งสถานีทดลองบนคาเมรอน ( Hill Station Grew) ได้แก่ตั้งฟาร์มเลี้ยงผีเสื้อ เลี้ยงผึ้ง ปลูกชา ดอกไม้ พืชผักต่างๆ จากนั้นบนเขาคาเมรอนก็มีสำนักของทางราชการ(อังกฤษ) อีกหลายหน่วยงาน เช่นศูนย์พฤกศาสตร์เป็นต้น
พืชชนิดแรกที่เริ่มทดลองปลูก ก็คือ ชา เป็นการนำชาพันธ์ดีจากอินเดียมาปลูกบนคาเมรอนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับไร่ชาในประเทศอินเดีย จนกระทั่งประสพผลสำเร็จ จากนั้นก็นำสตอร์เบอรี่มาทดลองปลูก พร้อมกับตั้งฟาร์มเลี้ยงผึ้ง ต่อมาได้นำพืชผักเมืองหนาวชนิดอื่นๆมาปลูก ก็ได้รับความสำเร็จเช่นกัน จนคาเมรอนกลายเป็นพื้นที่การเษตรที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย และมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ในฐานะที่เป็นศูนย์วิจัยพฤกษศาสตร์ของอังกฤษในต่างแดน
คาเมรอนในช่วงนั้นกลายเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศของข้าราชการและเจ้าขุนมูลนายชาวอังกฤษ ที่ปกครองมาเลเซีย มีการสร้างบ้านพักในสไตล์อังกฤษและสถานที่ราชการไว้หลายหลัง ปัจจุบันยังพอเหลือและบางแห่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ ส่วนอาคารต่างๆที่สร้างขึ้นมาใหม่ ก็ได้ยึดตามสไตล์คลาสสิคแบบเดิมๆ เพื่อจุงใจนักท่องเที่ยวจากยุโรป
ปัจจุบันบ้านพักตากอากาศ โรงแรม รีสอร์ต ของคาเมรอนเป็นที่รู้จักในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาติอังกฤษ มีการประกาศโฆษณาและเปิดเว็บไซต์ขายบริการกันมากมาย หากคนไทยมีโอกาสมาเที่ยวคาเมรอนก็อาจแปลกใจที่เห็นบรรยากาศเป็นแบบตะวันตก อากาศดี สถานที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน สนามกีฬา สนามกอล์ฟ แหล่งบันเทิงต่างๆ แต่ทั้งหมดนี้อยู่ในการควบคุมดูแลในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี เพียงแค่ขับรถวนอยู่บนภูเขาก็มองเห็นถึงการเอาใจใส่ดูแล เช่นถนนที่ราบเรียบและปลอดภัยมาก ตามริมถนนมีร่องระบายน้ำตลอดแนว ตรงหน้าผามีการทำรางน้ำไหลโดยการทำเป็นขั้นบันใดเพื่อลดความเร็ว ของกระแสน้ำ ส่วนหน้าผาที่อาจมีดินถล่มก็จะผ้ายางขนาดใหญ่ขึงปิดไว้ไม่ให้โดนฝนชะ
เห็นแล้วก็อยากให้บ้านเราเป็นแบบนี้บ้าง
ที่ดูดีไปหมดทุกอย่าง หลายอย่างที่สังเกตเห็น รู้สึกว่าทางการมาเลเซียให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก อะไรก็ตามที่เห็นว่าอาจเป็นอันตรายต่อการสัญจร ก็จะหาทางป้องกันทั้งหมด หากจะบอกว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยมีงบประมาณมากก็คงไม่ไช่ น่าจะเป็นเรื่องความสำนึก และการเอาใจใส่มากกว่า
คนไทยที่มีโอกาสนั่งรถไปตามถนนข้ามจังหวัดของมาเลเซีย มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความปลอดภัยมาก นั่งรถก็สบายใจ ขับรถก็ปลอดภัย หันมาดูบ้านเราบ้างผู้เกี่ยวข้องอาจบอกว่าบ้านเรารถเยอะกว่า ก็อาจมีเหตุผลพอฟังได้ แต่จริงๆแล้วน่าจะเป็นจิตสำนึกของผู้คนในหน่วยงานที่กี่ยวข้อง
เรื่องง่ายๆทีเห็นบ่อยตามทางหลวงก็คือว่า ตรงจุดกลับรถ หรือยูเทิร์น มักจะปลูกต้นไม้ดอกไม้ และทำเนินดินเป็นสวนหย่อมซะสูงลิบ จนบดบังทัศนวิสัย ทั้งที่ควรจะให้ดูโล่งๆ เพื่อให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถฝั่งตรงข้ามในระยะำไกล แต่บ้านเราหวังจะให้สวยงาม จุดกลับรถจึงเป็นจุดอันตรายทั้งผู้ขับทางตรงและผู้ที่จะกลับรถ เพราะมองไม่เห็นซึ้งกันและกัน โดยเฉพาะในยามค่ำคืนจะอันตรายมาก ใครไม่เชื่อลองขับไปสายซูเปอร์ไฮเวย์หรือสายเหนือบ้างก็จะเห็นเอง นั่นแหละเป็นหลักฐานที่ฟ้องหน่วยงานทางหลวงว่า
" มีี sense ในเรื่องความปลอดภัยบนทางหลวงกันบ้างหรือไม่ "
ก็เอาเรื่องที่เจอะเจอในต่างแดนมาบอกเล่าสู่กันฟัง จะได้ไม่หลงไหลเป็นปลื้มว่าบ้านเราดีแล้ว
ภาพมาเลเซียในชุดที่ 3 นี้ ถือว่าสิ่งที่เห็นทั้งพืชผักผลไม้ และไร่ชา เป็นผลที่เริ่มต้นมาจากอดีตเมื่อแปดสิบกว่าปีก่อน หากจะบอกว่าการเกษตรที่นั่นรุดหน้าไปไกลกว่าบ้านเราก็คงจะพูดได้ ขณะที่เรากำลังรณรงค์ ให้ชาวสวนเข้มงวดเรื่องสารพิษตกค้าง และกำลังรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้ แนวทางเกษตรอินทรีย์ เพื่อทดแทนปุ๋ยและยาฆ่าแมลงต่างๆ แต่ที่คาเมรอนก้าวข้ามไปไกลกว่าเรามาก
น่าสนใจนะครับว่าเค้าทำได้อย่างไรจึงประสบความสำเร็จ
ผมมีภาพเกษตรสมัยใหม่ที่คาเมรอนมาให้ดูเป็นตัวอย่าง ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เห็นแล้วก็อาจร้อง โอ้โฮ..อื้อฮือ ก็เป็นได้ คลิกที่นี่ครับ
เว็บมาสเตอร์
โฟโต้ออนทัวร์
21 พฤศจิกายน 2550
ภาพทั้งหมดถ่ายด้วยกล้อง Sony P10
( สนับสนุนการเดินทางโดย บ. บอนด์สตรีททัวร์ จก. www.bondstreettour.com )
|