ซาปา (Sapa) ตอนที่ 4 เที่ยวหมู่บ้านต่าฟาน (Tavan Village) ชุมชนของชาวเขาเผ่าม้งดำ
(เดินทางเมื่อ 1 ตค.50)
นั่งซ้อนมอเตอร์ไซด์ชมทิวทัศน์เมืองซาปาในช่วงต้นฤดูหนาว (1 ตค.51) มาหลายชั่วโมง รู้สึกว่าเป็นพาหนะที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวในเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยภูเขา มาเที่ยวซาปาแล้วจะรู้ว่าแตกต่างจากเมืองอื่นๆของเวียดนาม จนเหมือนอยู่คนละประเทศ ภาพของเวียดนามที่มีแต่ผู้คนและมอเตอร์ไซด์ ไม่ว่าจะเป็นเมือง เว้ ดานัง ทางแถบเวียดนามกลาง หรือที่เมืองฮานอย ทางภาคเหนือ เป็นภาพที่ใครมาเห็นก็น่าเวียนหัว จนต่างชาติยกให้เป็นประเทศติดอันดับโลกที่มีความชุลมุนวุ่นวาย ไม่ต่างกับประเทศอินเดีย
แต่ซาปากลับตรงกันข้ามอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกอย่างดูเหมือนหยุดนิ่ง แรกๆก็แปลกใจว่าคนเมืองนี้หายไปไหนกันหมด ทั้งที่มีตึกรามบ้านช่องอยู่เต็มเมือง
นับจากที่เดินทางมาถึงเมืองนี้และมีโอกาสนั่งมอเตอร์ไซด์เที่ยวในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็พอจะได้คำตอบว่า เมืองนี้เป็นถิ่นของชาวเขาโดยเฉพาะ ส่วนคนเวียดนามในเมืองนี้น่าจะเป็นพวกที่มาทำธุรกิจด้านการค้าและท่องเที่ยวมากกว่า ซึ่งก็มีเพียงหยิบมือเดียวที่กระจุกอยู่ในเมือง ประชากรที่นี่ราวร้อยละ 90 น่าจะเป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่เหลือก็เป็นคนเวียดนาม แต่ก็คงที่ไม่ไช่คนที่นี่โดยกำเนิด
ซาปาเป็นเมืองตากอากาศมาตั้งแต่ยุคฝรั่งเศส และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทางภาคเหนือของเวียดนาม น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบเห็นฝรั่งชาวตะวันตกค่อนข้างมาก และเป็นกลุ่มใหญ่สุด
คนพวกนี้มักจะอยู่กันนานๆหลายวัน รองลงมาก็น่าจะเป็นชาวจีนจากมณฑลยูนนานที่ข้ามแดนมาเที่ยวจากเมืองล่าวกาย ชายแดนเวียดนาม ที่อยู่ห่างจากนี้ราว 70 กม. แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนจะมาเที่ยวในช่วงสั้น เช่นมาเช้าเย็นกลับ หรืออย่างมากก็ค้างแค่คืนเดียว
นึกแล้วก็น่าอิจฉานักท่องเที่ยวฝรั่ง ที่มีเวลาค่อนข้างมาก และเที่ยวกันอย่างคุ้มค่า และประหยัดด้วย ไปไหนมาไหนก็ใช้วิธีเดินลูกเดียว เช่นเดินเที่ยวไปตามหมู่บ้านชาวเขา หรือเดินป่า ทั้งกำลังวังชาและน้ำอดน้ำทนต้องยกให้พวกเค้า เรียกว่าทรหดจนคนเอเชียต้องยอมแพ้
ซาปา หากจะเที่ยวแบบชะโงกทัวร์ ดูแล้วก็ไม่น่าจะคุ้มนัก
มันต้องเดิน เดิน และเดิน จึงจะรู้ว่ามันส์ มาเที่ยวซาปาจึงควรเตรียมร่างกายให้พร้อมก็จะดีไม่น้อย แค่เดินเล่นในเมืองก็อาจลิ้นห้อย เพราะถนนเป็นเนิน ขึ้นๆ ลงๆ
มาเที่ยวซาปาอาจแปลกใจที่เด็กชาวเขาบางคนพูดภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส ได้คล่องแคล่ว เข้าใจว่าน่าจะมีอาสาสมัครเปิดคอร์สสอนให้กับนักเรียนขาวเขา ขณะเดียวกันเด็กๆพวกนี้ก็หาประสบการณ์ จากการเป็นไกด์พาเที่ยวหมู่บ้านชาวเขา และทำหน้าที่เป็นคนขายสินค้าภายในหมู่บ้าน
ซาปาในตอนที่ 4 นี้ เป็นการเดินทางในอีกเส้นทางหนึ่ง อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเส้นทางไปเที่ยวน้ำตกซิลเวอร์
หลังกลับจากเที่ยวในเส้นทางน้ำตกซิลเวอร์ ที่ออกไปยังเมืองเดียนเบียนฟู และฮานอย ตอนนี้ก็กลับมาตั้งหลักกันในเมือง
แวะพักกินน้ำกินท่ากันกันก่อน จากนั้นก็เดินทางกันต่อไปเที่ยว หมู่บ้านชาวต่าฟาน(Tavan Village)หรือหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งดำ
มอเตอร์ไซด์พาผ่านกลางเมืองซาปาแล้วอ้อมไปด้านทางปีกซ้ายของหุบเขา ออกไปด้านหลังเมืองซาปา พออ้อมออกมาได้ไม่ไกลก็เห็นเมืองซาปาชัดเจน และสวยงามมาก ตึกอาคารปลูกลดหลั่นไปตามเชิงเขา ไม่ต่างกับเมืองสวยๆงามๆในยุโรป อดไม่ได้จึงต้องบอกมอเตอร์ไซด์ให้จอดถ่ายภาพ
เลยจุดนี้ไปอีกไม่ไกลก็ออกสู่ที่โล่ง เห็นนาข้าวขั้นบันใดไล่ระดับเป็นชั้นๆตามเนินเขา เป็นภาพที่สวยเกินบรรยาย มาเที่ยวช่วงนี้เรียกว่าได้เวลาพอเหมาะพอดี นาข้าวเหลืองอร่ามจนต้องบอกกับตนเองว่า
นี่แหละทุ่งรวงทอง ของแท้แน่นอน ทั้งเหลือง ทั้งสวย ชนิดที่เกิดมาก็ไม่เคยเห็นว่านาข้าวอะไรจะสวยขนาดนี้
เมืองไทยส่งข้าวออกไปขายเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่นาข้าวเมืองไทยกับเวียดนามต่างกันลิบลับ นาข้าวเวียดนามและในลาวดูคล้ายๆกัน เป็นข้าวต้นสั้น ไม่ชะลูดเหมือนบ้านเรา หรือพอออกรวงได้ไม่นานก็ล้มระเนระนาด ทำให้แปลงนาดูไม่ค่อยสวยงามนัก เมื่อรวงข้าวสุก ก็ไม่ได้เป็นสีเหลืองหรือออกน้ำตาลปนเหลืองเหมือนนาข้าวในเวียดนาม
คนไทยที่มาเที่ยวเวียดนามไม่น้อย ต่างแปลกใจว่าทำไมปลูกข้าวเหมือนๆกัน แต่ความเหลืองของรวงข้าวกลับแตกต่างกัน
คำว่า ทุ่งรวงทอง หากต้องการเห็นว่าเป็นสีทองตามชื่อเพลงของชรินทร์ นันทนาคร ก็คงต้องมาดูที่เวียดนาม ใกล้บ้านหน่อยก็ต้องที่เมืองปากเซ ประเทศลาวตอนใต้ นาข้าวที่นั่นก็สวยมากไม่ต่างกับภาพวาด
นาข้าวขั้นบันใดในเวียดนาม ก็มีที่ซาปาเพียงแห่งเดียว ซึ่งเป็นการทำนาบนภูเขาสูง และเป็นความชำนาญของชาวเขาที่รู้จักใช้ภูมิประเทศให้เกิดประโยชน์ เรียกว่าเป็นภูมิปัญญาของคนบนดอยที่รู้จักการทดน้ำมาจากน้ำตก และหาพันธ์ข้าวเบาที่ใช้น้ำน้อยมาปลูกจนเกิดเป็นผืนนาที่กว้างขวางใหญ่โต
การทำนาเป็นอาชีพหลักของชาวเขาเผ่าต่างๆทางแถบนี้ และทำกันอย่างจริงจัง คนในครอบครัวมาช่วยกันหมดทุกคน ทุกขั้นตอนในการทำนา ก็เป็นวิธีการเดิมๆที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน
มาเที่ยวชุมชนของเผ่าม้งดำครั้งนี้ ไม่ต่างกับมาเที่ยวชนบทของไทยในสมัยก่อนๆ ภาพการเผาหญ้าเผาฟาง เห็นเต็มไปหมด ทำให้บรรยากาศขมุกขมัว ดูไม่ค่อยสดใสนัก นี่ก็เป็นวิธีการขจัดวัชพืชแบบดั่งเดิม ไม่ต่างกับชนบทในบ้านเรา
หากคิดมาเที่ยวซาปาให้ได้จังหวะดีๆ เห็นนาข้าวเป็นสีเขียวๆ ก็ต้องมาเที่ยวช่วงฤดูฝน หากต้องการเห็นทุ่งรวงทอง ข้าวออกรวงเป็นสีเหลืองสีทอง ก็ต้องมาในช่วงปลายเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนตุลาคม ก็เป็นบอกกล่าวเวลาแบบคร่าวๆ บางปีที่อากาศเปลี่ยนแปลง ก็อาจทำให้เวลาคลาดเคลื่อนไปบ้าง
นาข้าวขั้นบันใดยังไม่จบนะครับ ตอนต่อไปจะพาลงเดินไปข้างล่าง จนถึงลำธารน้ำกลางหุบเขา ระหว่างทางมีโอกาสเห็นชาวเขากำลังเกี่ยวข้าวอย่างใกล้ชิด
เว็บมาสเตอร์
โฟโต้ออนทัวร์
11 กุมภาพันธ์ 2552
|