ทดสอบ
Olympus OM-D E-M10 Mark II
ตอนที่ 2
หลังจากใช้โหมด Auto ของกล้อง Olympus OM-D มาได้ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ลองลูบๆคลำๆ เพื่อดูว่าในโหมดอื่นมันมีอะไรบ้าง และต้อง Set ค่ากันอย่างไร
ในที่สุดก็บรรลุธรรม รู้ว่าพอใช้โหมดอื่นๆนั้นต้องเข้าไปเลือกคำสั่งตรงไหนบ้าง ก็มาถึงบางอ้อว่า มันอยู่ใกล้มือแค่นี้เอง
ค่าต่างๆที่จำเป็นต้องเรียนรู้ เช่น การตั้งค่า ISO, Shutter Speed, การถ่ายต่อเนื่องด้วย Speed สูงๆ รวมไปถึง การหน่วงเวลานับถอยหลัง ซึ่งจำเป็นในการใช้ขาตั้งกล้อง
เมื่อลองทดสอบไปได้สักพัก ก็มั่นใจว่าไม่ผิดฝาผิดฝั่งแน่ จากนั้นก็ต้องหาสถานที่ถ่ายภาพที่คิดว่าจะครอบคลุมการใช้งานได้มากพอ โดยเฉพาะการใช้ Speed สูงๆ เช่น1/1000 1/2000 หรือ 1/4000
สถานตากอากาศบางปู จ.สมุทรปราการ คือสนามทดสอบที่คิดว่าน่าจะเหมาะสม จะได้ทดสอบความแม่นยำของกล้องรุ่นนี้ว่า สามารถจับภาพนกนางนวลได้ดีแค่ไหน ชัดเป๊ะเหมือนกล้อง DSLR หรือไม่ รวมทั้งจะได้ทดสอบการถ่ายต่อเนื่องแบบรัวเป็นข้าวตอกว่าจะทำได้ดีสมราคาคุยหรือไม่ว่าถ่ายได้ 8 ภาพ/วิ
วันที่เดินทางไปบางปูเป็นวันอาทิตย์ และตรงกับวันตรุษจีน ปรากฏว่ารถติดพอสมควร โดยเฉพาะถนนหน้าสถานตากอากาศบางปูรถติดเอามากๆ จุดที่เคยเลี้ยวยูเทิร์นได้ แต่วันนี้ถูกปิด ตำรวจโบกมือให้ขับเลยไปอีกประมาณ 2 กม. แถมต้องต่อคิวยาว
คิดในใจว่ามาบางปูหลายครั้งก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ โดยเฉพาะตำรวจท้องที่ที่ต้องมาอำนวยความสะดวก แสดงว่าวันนี้คนน่าจะเยอะจริงๆ
พอเลี้ยวผ่านประตู รถก็เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ ลานจอดรถที่ขยายพื้นที่ออกไปจนดูกว้างขวางและเหลือเฝือ แต่วันนี้เต็มทุกตารางนิ้ว
กว่าจะหาที่จอดได้ ก็เป็นเวลาใกล้ค่ำเต็มทน
ภาพบางปูชุดนี้ส่วนใหญ่จะใช้ระบบ M-Manual ที่สามารถเลือก Shutter Speed ได้ และยังควบคุมเรื่องแสงให้มึด-สว่างได้ตามต้องการ ซึ่งโดยปกติแล้วจะชอบสภาพแสงที่เข้มและมีน้ำหนัก ไม่ชอบภาพที่จืดชืดไร้สีสัน
ส่วนระบบ Auto ที่ชื่นชอบสำหรับกล้องรุ่นนี้ ก็ยังใช้สลับกันไป แล้วแต่ความเหมาะสม (ส่วนระบบอื่นๆ ก็สารภาพว่ายังใช้ไม่เป็น)
เลือก Manual ก็ต้องการ Shutter Speed สูง จะได้จับภาพนกให้อยู่หมัด แต่ถ้าหากสภาพแสงน้อยและเป็นบรรยากาศทั่วๆไปก็จะเลือกโหมด Auto ที่คิดว่าจะให้แสงสีที่ดีกว่า
โหมด Auto ของกล้องรุ่นนี้มีระบบกันสั่น(5แกน) ดังนั้นจึงพออุ่นใจได้ว่า ความเร็ว Shutter Speed ที่กล้องประมวลผลให้นั้นจะไม่ทำให้ภาพเสียหาย ภาพจะไม่สั่นไหวจนน่าเกลียด ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง แถมยังสมหวังเกินคาดอีกด้วย
ระบบ Auto ของกล้องตัวนี้จึงไม่ไช่ขี้ไก่ที่จะไปดูถูกดูแคลนว่าเป็นโหมดของพวกมือใหม่ หรือมือสมัครเล่นที่ใช้ระบบอื่นไม่เป็น
และเท่าที่สังเกต ระบบกันสั่นจะทำงานได้ผลเต็มประสิทธิภาพจะมีเฉพาะในโหมด Auto เท่านั้น ส่วนโหมดอื่นกล้องถือว่าผู้ใช้เลือกเอง ระบบกันสั่นจึงไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น หากเราต้องการความเร็วที่ 1/500 (โหมด M หรือ S)กล้องก็จะทำงานที่ 1/500 ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาระบบกันสั่น
แต่ถ้าเป็นระบบ Auto กล้องจัดการหมดทุกอย่าง อุปมาเหมือนกับให้พ่อครัวชั้นเลิศปรุงอาหารให้เรา
และนับจากวันแรกที่ลองถ่ายภาพแบบงูๆปลาๆ(มือใหม่)ปรากฏว่าระบบ Auto ตอบสนองได้ดีกว่าที่เราคิด เรียกว่าดีเกินคาดสำหรับสภาพแสงน้อย ถึงตอนนี้ก็ต้องให้ฉายาว่าเป็นจอมเทพกันเลยทีเดียว
ถามว่าระบบ Auto มีข้อผิดผลาดบ้างหรือไม่ในกรณีแดดจัดหรือมีแสงมาก
คำตอบคือมี... และปัญหาคือสีเพี้ยนที่เกิดจากการคำนวณค่าผิดพลาด
ภาพที่ถ่ายมาแล้วออกสีเพี้ยนๆ น่าจะเป็นกรณีทางสองแพร่ง ที่กล้องอาจเลือกไม่ถูกว่าจะให้น้ำหนักไปทางไหนดี ระหว่างพื้นที่ในส่วนมึดกับสว่าง ผลลัพท์ที่ได้คือสีเพี้ยนจนดูน่าเกลียด
ปัญหาที่กล้องไปไม่ถูก ไปไม่เป็น ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นกล้อง DSLR ที่ใช้เลนส์โปร หรือไม่โปร ก็มักเกิดอาการแบบที่ว่า คือสีเพี้ยนหรือ สีไม่ตรงความจริง ภาพอาจดูตุ่นๆ เหมือนกล้องมีปัญหาเรื่อง Software ที่ต้องส่งซ่อมหรือลงโปรแกรมใหม่
โดยส่วนตัวแล้วเกิดกรณีเช่นนี้มาแล้วหลายครั้งจนดูเป็นเรื่องปกติ แรกๆก็ใจแป้วเหมือนกันว่ากล้องทีปัญหาแน่ แต่พอหันกล้องไปถ่ายภาพทางอื่น ภาพก็ดูปกติ สีก็ปกติ ครั้นหันกล้องไปในทิศเดิม มันก็ออกอาการเพี้ยนเหมือนเดิม
คิดว่าปัญหานี้น่าจะเป็นจุดอับหรือจุดบอด ของการคำนวณค่าสี
ที่เจอบ่อยก็เป็นกรณีที่ส่วนมึดกับส่วนสว่างของภาพมีพื้นที่พอๆกัน และที่เจอแต่ไม่ค่อยบ่อยก็กรณีสีใดสีหนึ่งมีอิทธิพลกับอีกสีหนึ่ง
เชื่อว่าปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอสำหรับนักถ่ายภาพ แต่บางคนอาจไม่ได้สังเกตเท่านั้นเอง
สำหรับกล้อง Olympus ตัวนี้ก็ออกอาการเดียวกัน เช่นถ่ายดอกไม้สีแดงอมส้มในระบบ Auto สีก็เพี้ยนกลายเป็นสีเหลืองอมส้ม ถ่ายกี่ครั้งก็เหมือนกัน (ภาพเสียได้ลบทิ้งไปหมดแล้ว)
สรุปว่าโหมด Auto และโหมดอื่นๆ ผู้ใช้จะต้องศึกษาและทดสอบด้วยตัวเอง และต้องรู้ธรรมชาติของแต่ระบบว่าให้ผลอย่างไรบ้าง จะบอกว่าโหมดนั้นดีกว่าโหมดนี้คงไม่ได้ เช่นภาพที่ต้องใช้ความเร็วสูงๆก็ต้องเลือกโหมด M หรือ S ที่เราสามารถงล๊อคสปีดได้ตามต้องการ
ภาพในชุดที่ 3 (สุดท้าย) หรือชุดต่อไปจะมีภาพตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้ากรณีแบบนี้ควรเลือกโหมดไหน เลือก Auto หรือ Manual แล้วผลเป็นอย่างไร จะได้เข้าใจการทำงานของกล้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการถ่ายภาพ เพื่อให้ได้สีสันตามต้องการ
พบกันใหม่ในตอนที่ 3 นะครับ
โฟโต้ออนทัวร์
20 กุมภาพันธ์ 2559
Specifications : ดาวน์โหลดภาพจากต้นฉบับ
ชมภาพจากYouTube Part 2
VIDEO
ชมภาพจากYouTube Part 1
VIDEO